เปิดโลกมหัศจรรย์ ‘การอ่าน’ สู่การพัฒนาเด็กปฐมวัย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
ในยุคที่สื่อดิจิทัลเติบโตรุกคืบพื้นที่การอ่าน เด็ก ๆ เข้าถึงสื่ออย่างมือถือ แท็บเล็ตได้ง่ายรวดเร็ว และสิ่งที่น่าเป็นห่วง อายุของเด็กที่สามารถเข้าถึงสื่อดิจิทัลลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ผลสำรวจของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กปฐมวัย (0-6 ปี) มีพัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2557 เฉลี่ยร้อยละ 38.2 ส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ อาทิ การสื่อสาร การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม ดังนั้นการส่งเสริมการอ่านจนกลายเป็นวิถีและวัฒนธรรมจึงมาจากการวางรากฐานอย่างเหมาะสมตั้งแต่ปฐมวัย
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น และเครือข่ายร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านจากภาครัฐ ได้กำหนดจัด "มหกรรมการอ่านแห่งชาติ: "มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย" ขึ้นในวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องวัฒนธรรมการอ่าน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การมีสุขภาพกายที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญและจับต้องได้ง่ายที่สุด แต่ยังมีสุขภาพด้านอื่นที่เราจะต้องส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพใจ สังคม และที่สำคัญคือ สุขภาพทางปัญญา ซึ่งการอ่านถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาให้สุขภาพทางปัญญาเกิดความสมบูรณ์ การเข้ามาสนับสนุนของ สสส.ในครั้งนี้จะก่อให้เกิดกระบวนการส่งเสริมให้ใช้การอ่านเพื่อการพัฒนาคน โดยมีแผนแม่บทเป็นตัวชี้นำ และยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าหนังสือนิทานจะมีคุณภาพ สร้างสรรค์ และไม่รุนแรง นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ ผู้ปกครอง ที่จะต้องรู้วิธีการอ่าน การเลือกหนังสือ และการหาเวลาว่างที่จะอยู่กับลูก ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็กปฐมวัยที่จะพัฒนาเป็นอนาคตของประเทศชาติในอนาคต
"สำหรับงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์นี้ ภาย ในงานเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ที่สามารถเข้าไปเรียนรู้วิธีการ เทคนิคการอ่านและการเลือกหนังสือให้กับเด็ก ซึ่งการอ่านให้ลูกฟังสามารถทำได้ทุกวันจึงอยากให้พ่อแม่มาเรียนรู้เทคนิคเพื่อนำไปปรับใช้" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวเชิญชวน
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า กิจกรรมภายในงานจะแบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่ 1.โซนเวทีมหัศจรรย์การอ่าน 2.โซนนวัตกรรมชุมชนอ่านยกกำลังสุข โดยเครือข่ายศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุนท้องถิ่น (SMART Reading) พบนวัต กรรม "บ้านอ่านยกกำลังสุข" และโมเดลบ้าน สร้างสุขด้วยการอ่านจาก 15 พื้นที่ต้นแบบนำร่องทุกภูมิภาค 3.โซน Reading in Wonderland: ดินแดนวิเศษแห่งนิทานหลากจินตนาการ 4.โซนตลาดนัด นักอ่าน พบปะนักเขียน นักสร้างภาพประกอบ และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายแห่งประเทศไทย 5.โซนนิทรรศการสานพลังองค์กรร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน นำเสนอผลงานวิชาการสำคัญๆ จากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 6.โซนแนะ นำแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน บ้าน นักเขียน หนังสือเด็ก และ Reading Volunteers
"การจัดงานมหกรรมครั้งนี้ เด็ก ๆ จะมีความสุขจากการเข้าร่วมกิจกรรมเกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ครอบครัวได้เห็นแนวทาง เห็นความสำคัญ คุณค่าของการส่งเสริมการอ่านแก่ลูก สามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาลูก สังคมเกิดการรับรู้และตระหนักรู้สามารถสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ.2560-2564 และเกิดการสานพลังและเสริมศักยภาพเครือข่ายองค์กรร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านในการพัฒนาศักยภาพเด็กและครอบครัวด้วยการอ่านในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับชาติ" นางสุดใจกล่าว
นางสาววรรณพร เพชรประดับ ประธานศูนย์ประสานงานอ่านยกกำลังสุข กล่าวว่า ใน 15 พื้นที่นี้จะแสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของหนังสือที่มีต่อเด็ก เช่น หนังสือนิทานเรื่องหัวผักกาดจะช่วยให้เด็กอยากกินผัก หนังสือนิทานเรื่องมืดตึ๊ดตื๋อจะช่วยให้เด็กเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมการกลัวความมืดได้ เป็นต้น นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ผู้ปกครองหลายคนพบคือ การใช้แท็บเล็ตดึงความสนใจเพื่อให้เด็กอยู่นิ่งหรือยอมกินข้าว แต่ความมหัศจรรย์ของหนังสือสามารถทำให้เด็กเลิกสนใจแท็บเล็ตและหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ประจักษ์ได้ว่าหนังสือมีความมหัศจรรย์อย่างแท้จริง
ความสุขจากการอ่านนอกจากจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่และลูกแล้ว ยังเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะการเรียนรู้อย่างมีความสุขสู่วัยเรียน ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้มีการดำเนินการส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง เพื่อร่วมสร้างทรัพยากรบุคคลที่จะส่งผลต่อการเกิดสังคมสุขภาวะในระยะยาว