เปิดโพลพฤติกรรม “การให้”
ในสังคมไทยเมื่อพูดถึง “การให้” ดูเหมือนว่า คนไทยจะผูกพันกับเรื่องนี้มายาวนาน ไม่ว่าจะในรูปแบบของการบริจาค การทำบุญ แต่น่าสนใจว่าในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมของคนไทยในเรื่องนี้เป็นอย่างไร มีการเปิดผลวิจัยเอแบคโพลล์ ในเรื่องการสำรวจพฤติกรรมการให้ การบริจาคและอาสาสมัคร โดยทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,581 ตัวอย่าง
โดยพบว่าในรอบปีที่ผ่านมา 96% เคยบริจาคเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ โดย 78.4% ให้คนยากจน 75% ให้ขอทาน 73% ผู้ประสบภัย 30.2% ให้มูลนิธิ 27.4% ให้วัดและศาสนสถาน ที่น่าสนใจก็คือว่า พฤติกรรมการบริจาคนั้นมีการให้มากกว่า 1 แห่ง ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เหตุผลที่ให้นั้น 1.เพื่อความสุขและสบายใจ 2.หวังผล บุญกุศลในภายภาคหน้า 3.เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ช่วยเหลือสังคม
ที่น่าสนใจและน่าจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับองค์กรสาธารณกุศลที่ทำงานเพื่อสังคมและต้องการระดมทุน ในการสำรวจครั้งนี้พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เลือกที่จะบริจาคผ่านกล่องรับบริจาคมากที่สุด รองลงมาจะนำไปให้กับผู้ที่เดือดร้อนโดยตรง ให้ผ่านมูลนิธิและชมรม ให้จากตัวแทนที่มีคนมารับบริจาคถึงที่ และที่น้อยที่สุดคือการบริจาคผ่านบัญชีธนาคาร
โดยประเด็นที่คนส่วนใหญ่บริจาคนั้น ส่วนใหญ่จะให้กับวัดและ ศาสนสถานถึง 20.3% ตามมาด้วยคนพิการ 18.7% ผู้ประสบภัย 14.3% เด็กด้อยโอกาส 12.6% ขอทาน 12.2%
ในแง่การรับรู้ เมื่อถามถึงองค์กร หรือสมาคม ที่ให้ความช่วยเหลือสังคม คนส่วนใหญ่จะนึกถึงองค์กรใด คำตอบ คือ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รองลงมามูลนิธิร่วมกตัญญู สถานสงเคราะห์บ้านบางแค สภากาชาดไทย วัดพระบาทน้ำพุ และมูลนิธิสายใจไทย
หากมองผ่านในเรื่องของการบริจาคที่เป็นตัวเงิน ในเรื่องของการบริจาคอวัยวะและร่างกาย รวมถึงบริจาคโลหิต กลุ่มเป้าหมายเพียง 38.6% เท่านั้นที่เคยบริจาค โดย 61.4% ของผู้ตอบคำถามที่ไม่ได้บริจาคนั้นให้เหตุผลว่า เพราะความกลัว
สำหรับเรื่องการอาสาสมัครในการทำงานเพื่อสังคม ไม่น่าเชื่อว่าแม้เรื่องนี้กำลังได้รับการผลักดันจากภาครัฐ แต่ในความเป็นจริงเรื่องนี้ถือว่ายังน้อยมากที่ผู้ตอบแบบสอบถามเคยทำงานอาสาสมัคร โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 17.8% เท่านั้น ขณะที่ 82.1% ไม่เคยทำงานอาสาสมัครในลักษณะนี้เลย
อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงอนาคต ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 65.5% ยังไม่สนใจจะไปทำงานอาสาสมัคร โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเวลาและมีภาระที่ต้องทำมาหากิน หากจะทำให้คนหันมาสนใจการทำงานอาสาสมัครมากขึ้นในอนาคตนั้น ผลสำรวจออกมาว่า ปัจจัยที่จะทำให้คนลุกขึ้นมาทำงานอาสาสมัคร 1.มีการกระตุ้นจิตสำนึกให้มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 2เมื่อเกิดภัยพิบัติ 3.ความต้องการทำบุญ 4.มีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ชักชวนให้ทำดี 5.มีสวัสดิการหรือสิทธิพิเศษ 6.อยากเห็นผู้นำหรือผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคมมาชักชวน
นอกจากนี้ถ้ามองในภาพรวมปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนอยากให้ โดยเฉพาะในแง่ของการบริจาค คือจะต้องได้ประโยชน์ไปสู่ผู้ที่เดือดร้อนที่แท้จริง โดยไม่ถูกแอบอ้างไปโดยคนที่หวังผลประโยชน์
สำหรับทัศนคติของการให้ เรื่องหนึ่งที่น่าจะเป็นข้อคิดในเรื่องการให้และการทำ CSR ขององค์กร เพราะในการสำรวจครั้งนี้พบว่า คนส่วนใหญ่มองว่าการอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือการให้ควรทำด้วยความจริงใจ ไม่ได้หวังผลประโยชน์ตอบแทน เพราะเวลาคนทำเพื่อสาธารณะนั้นจะถูกตั้งคำถามว่า ต้องการมาทำเพื่อผลประโยชน์อะไรหรือไม่ เพราะคนปกติเขาไม่ทำกัน อาจจะกล่าวได้ว่าการทำดีไม่ได้เป็นบวกเสมอไปในสายตาคนจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้จากการสำรวจผลนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายของรัฐบาลและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะมีเพียง 18.3% เท่านั้นที่รับรู้ว่ามีการกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ขณะเดียวกันกับที่รู้จักศูนย์ส่งเสริมการให้และการอาสาสมัครเพื่อสังคม เพียง 25.1% ฉะนั้นถือเป็นการบ้านที่ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ต้องทำงานอย่างจริงจังมากขึ้นในอนาคต
รศ.ศุภรัตน์ รัตนมุขย์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อน การดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม กล่าวว่า ถ้าผลออกมาแบบนี้ผมถือว่าสอบตก แต่ก็ต้องให้โอกาสสอบซ่อม โอกาสทำและฟื้นเรื่องการให้และการอาสาสมัครนั้นยังมี อย่างไรก็ตามแนวโน้มปัจจุบันพบว่าในโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ล่าสุดมีการสำรวจและพบว่าแนวโน้มหนึ่งที่น่าสนใจในขณะนี้ก็คือ การที่คนสูงอายุเข้ามาทำงานอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งเรื่องนี้ถ้าสามารถวิเคราะห์ผลจากการสำรวจครั้งนี้ โดยแยกตามกลุ่มเป้าหมายจะทำให้การทำงานสามารถกำหนดทิศทางได้ชัดขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน