เปิดเทอมใหญ่ หัวใจ(พ่อแม่)ว้าวุ่น 2
“เปิดเทอม” ทีไร หากได้ผ่านไปบริเวณหน้าโรงเรียนในช่วงเลิกเรียน มักจะได้เห็นภาพเด็กๆ ทั้งหลาย ต่างแห่กันไปรุมที่หน้าร้านค้าและแผงลอย เพราะที่นั่น!!! มีอาหารที่สุดแสนจะโปรดปรานของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นไก่ย่าง ลูกชิ้นปิ้ง ไอศกรีม โดยเฉพาะ ขนมกรุบกรอบ แต่จะมีใครรู้บ้างว่า อาหารเหล่านั้นเป็นเหตุสำคัญทำให้เด็กไทยมีสุขภาพแย่ลง…
และนั่นอาจเป็นเพราะ เด็กได้รับสารอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่มากจนเกินไป โดยเฉพาะจากขนมกรุบกรอบที่มีรสชาติ และสีสันถูกตาถูกใจ ชวนให้ลอง
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล นักวิชาการจากเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน บอกว่า ปัจจุบันเด็กไทยมีปัญหาเรื่อง “โรคอ้วน” ที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมามากมาย อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิต หัวใจ และมะเร็ง ในอดีตโรคเหล่านี้มักพบในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันเด็กอายุเพียง 3 ขวบก็เป็นเบาหวานแล้ว ซึ่งเบาหวานชนิดนี้เรียกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 สาเหตุของการเป็นก็สืบเนื่องมาจากการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีรสหวานและมัน
และที่น่าตกใจ…เมื่อวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับนักวิชาการจากสถาบันวิจัยทางโภชนาการศึกษาพบว่า เด็กไทยกินอาหารว่างที่ให้พลังงานมากจนเกินไป โดยเฉพาะเด็กเล็กพบว่า พลังงาน 27 เปอร์เซ็นต์ที่ร่างกายได้รับมาจากขนม ส่วนเด็กโตแม้มีการรับประทานขนมไม่มากเท่าเด็กเล็ก แต่ก็รับพลังงานจากน้ำหวานและน้ำอัดลมเข้าร่างกายเป็นจำนวนมากพอที่จะทำให้เกิดโรคอ้วนได้เช่นกัน
ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ อาหารหรือขนมที่เป็นอาหารว่างเหล่านี้ มีปริมาณโซเดียมหรือความเค็มเป็นส่วนผสมอยู่ในปริมาณที่สูงมาก ถึงแม้สาธารณสุขจะออกมารณรงค์ให้บริษัทห้างร้านที่ผลิตขนม ลดปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ในอาหารลง 25% แล้วก็ตาม แต่นั่นคงจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่จะแก้ไขปัญหานี้….
ฉะนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรหันมาใส่ใจเรื่องอาหารของเจ้าตัวเล็กให้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารว่างหรืออาหารที่อยู่รอบๆ บริเวณโรงเรียน เพราะถ้าเด็กได้รับสารอาหารที่ไม่จำเป็นเข้าสู่ร่างกายมากเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการจะส่งผลให้คุณภาพของสารอาหารที่เด็กรับประทานไปทั้ง 3 มื้อลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งขนมที่ดีนั้น ต้องไม่มีน้ำตาลเกิน 12 กรัม/มื้อ ไขมันไม่เกิน 2.5 กรัม/มื้อ และโซเดียมไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/มื้อ นอกจากนี้อาหารที่เด็กทานนั้นไม่ควรมีพลังงานเกิน 150 กิโลแคลอรีต่อมื้อสำหรับเด็กโต ส่วนเด็กเล็กไม่ควรเกิน 100 – 120 กิโลแคลอรีต่อมื้อ และไม่ควรกินเกิน 2 มื้อต่อวัน จึงจะดีที่สุด
แต่จะยิ่งดีไปกว่านั้น หากจะให้ลูกน้อยหันมารับประทาน “ผลไม้” แทนขนมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเพราะผลไม้มีแต่สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น
ในส่วนของอาหารปิ้งย่างนั้นก็ควรระวังให้มากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอาหารที่เป็นเนื้อติดมันมากๆ หากนำไปปิ้ง ย่าง โอกาสที่ไขมันจะหยดลงบนถ่านไฟทำให้เขม่าควันคุขึ้นมาจับบนเนื้อที่ปิ้งย่างนั้นง่ายขึ้น ซึ่งในเขม่าควันดังกล่าวจะเป็นตัวก่อเกิดสารโพล่าหรือสารก่อมะเร็ง โดยเป็นสารชนิดเดียวกับที่อยู่ในน้ำมันใช้ซ้ำนั่นเอง เมื่อเกิดการสะสมในร่างกาย ทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งได้
ดังนั้นข้อควรระวังในการกินอาหารปิ้งย่าง คือ ต้องไม่ปิ้งย่างจนไหม้เกรียม เช่นเดียวกับการกินอาหารทอด ก็ไม่ควรใช้น้ำมันทอดซ้ำหลายๆ ครั้ง โดยให้สังเกตจากสีของน้ำมันที่ทอดแต่ละครั้งว่าหากสีของน้ำมันเริ่มเปลี่ยนก็ไม่ควรนำมาใช้อีก
นอกจากเรื่องของอาหารการกินที่โรงเรียนแล้ว เรื่องของกระเป๋านักเรียนของเจ้าตัวน้อยก็สำคัญเช่นกัน เพราะปัจจุบันภาพที่พบเห็นนั้น คือ เด็กตัวน้อยกับกระเป๋าใบใหญ่ที่อยู่บนหลัง การแบกสัมภาระที่หนักอึ้งมาโรงเรียนทุกวันจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
โดยทาง The American
การที่เด็กแบกกระเป๋าหนังสือหนักเกินไป จะมีผลต่อหัวไหล่ และกระดูกสันหลัง ทำให้เด็กมีบุคลิกที่ไม่ดี หรืออาจกลายเป็นคนเดินหลังโกงได้ในอนาคต
ทางที่ดี!! พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรเลือกใช้กระเป๋านักเรียนที่มีสายสะพายนุ่ม ใส่ฟองน้ำซัพพอร์ต เพื่อไม่ให้น้ำหนักของหนังสือกดทับลงบนบริเวณหัวไหล่เด็กโดยตรง
หากวันใดต้องแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักมาก ลองใช้สายรัดเอวช่วยรัดด้วย จะช่วยลดภาระของไหล่ได้อีกทางหนึ่ง
การจัดกระเป๋าโดยวางหนังสือหรืออุปกรณ์การเรียนที่หนักที่สุดเอาไว้ด้านในของกระเป๋าก็ช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน
หรือควรเก็บหนังสือที่ไม่จำเป็นเอาไว้ที่โต๊ะเรียน หรือชั้นวางของส่วนตัวบ้าง เพื่อจะได้ลดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อหัวไหล่และหลังของเจ้าตัวน้อยลงได้
เรื่องราวความว้าวุ่นใจของผู้เป็นพ่อเป็นแม่ยังไม่หมด เรื่องของสภาวะทางจิตใจหรือความเครียด ความวิตกกังวลของเด็กในเรื่องต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษเช่นกัน โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มเข้าเรียนเป็นครั้งแรก หรือเด็กที่ต้องโยกย้ายโรงเรียน/ปรับเปลี่ยนสถานที่เรียน ต้องพบเจอกับเพื่อนใหม่หรือบรรยากาศใหม่ๆ ก็ตาม เรื่องเหล่านี้อาจจะก่อเกิดความเครียดให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัว ที่ร้ายแรงที่สุดอาจจะก่อเกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้
เพื่อเป็นการป้องกันเรื่องดังกล่าว พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์จำเป็นต้องรู้ถึงสาเหตุของความเครียดเด็กเสียก่อนว่ามีสาเหตุมาจากอะไร แต่โดยทั่วไปแล้วเด็กในวัยเริ่มแรกเข้าโรงเรียนมักมีความรู้สึกว่าถูกพลัดพราก อ้างว้าง โดดเดี่ยว ตกใจ ตื่นกลัว เพราะที่โรงเรียนไม่มีพ่อแม่ พี่เลี้ยง คุณตาคุณยาย หรือของเล่นที่ชอบอีกต่อไปแล้ว…
สำหรับในเด็กบางคนที่ต้องพบเจอกับสถานการณ์ใหม่ ต้องออกมาแสดงหน้าชั้นเรียน ต้องไปเข้าห้องน้ำคนเดียว หรือถูกเพื่อนขโมยรองเท้าไปซ่อน หรือต้องพบเจอกับหมาตัวโตที่อยู่รอบๆ โรงเรียน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เจ้าตัวน้อยอาจจะยังไม่รู้วิธีที่จะแก้ไขปัญหา ทำให้เด็กเกิดความเครียดไม่อยากไปโรงเรียนได้เช่นกัน…
การต้องเข้าสังคมก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สร้างความเครียดให้กับเด็กมิใช่น้อย เพราะโรงเรียนเป็นสังคมที่กว้างกว่าบ้านหลายเท่า มีผู้คนมากหน้าหลายตา เมื่อเจอคนที่ไม่รู้จักอาจทำให้เด็กๆ รู้สึกเขินอายไม่กล้าที่จะทำความรู้จัก ไม่กล้าที่จะเล่นกับเพื่อนใหม่ จนเป็นสาเหตุให้ไม่อยากไปโรงเรียนได้
ที่สำคัญเด็กอาจจะกลัวที่จะถูกละเลยจากคนรอบข้าง เพราะอยู่ที่บ้านเด็กๆ ถูกประคบประหงมราวกับเป็นเทวดาองค์น้อย แต่เมื่ออยู่โรงเรียน ครูอาจจะดูแลนักเรียนไม่ทั่วถึง ทำให้เด็กกังวล แก้ปัญหาไม่ได้ รู้สึกโดดเดี่ยว และทำให้ลูกเครียดในที่สุด
แนวทางการแก้ไขสามารถทำได้ไม่ยากเพียงแค่พูดคุยกับเขาให้มากขึ้น สร้างอารมณ์ขัน เพราะการหัวเราะเป็นทางลดความเครียดที่ดีที่สุด การไม่บังคับ กดดัน การตั้งเป้าหมายให้ลูกต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ควรปล่อยให้ลูกเลือกทำในสิ่งที่เขาชอบ ที่สำคัญไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นๆ
การยอมรับ เข้าใจ เป็นอีกหนึ่งทางแก้ไขเช่นกัน แม้ว่าลูกของคุณจะรู้สึกเครียด หวาดวิตก กังวลในเรื่องใดๆ ก็ตาม เพียงคุณพ่อคุณแม่ควรจะทำความเข้าใจ และตระหนักว่าความรู้สึกเหล่านี้เป็นพัฒนาการขั้นตอนหนึ่งของลูก ไม่ควรดุด่าว่ากล่าว ตำหนิเขา แต่ควรร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่า สุดท้ายต้องช่วยลูกตั้งรับ เพราะคุณรู้ดีว่าเด็กๆ จะต้องเรียนต้องพบเจออะไรบ้างที่โรงเรียน หากพ่อแม่มีการเตรียมความพร้อมให้ลูกตั้งแต่อยู่ที่บ้าน เช่น สอนลูกนับตัวเลข เขียนตัวหนังสือ ตัดแปะกระดาษ ฟังนิทาน หรือพาลูกไปพบกับเพื่อนใหม่บ้าง เพียงเท่านี้เมื่อเจ้าตัวน้อยต้องไปพบเจอกับเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำอีกที่โรงเรียนก็จะไม่รู้สึกกลัว วิตกกังวล และเครียดเลย แต่ในทางตรงกันข้ามลูกอาจจะชอบ อยากไปอีกในวันรุ่งขึ้นก็ได้ เพราะเหตุการณ์ต่างๆ เขาได้พบเจอและคุ้นเคยมาแล้ว
เมื่อเจ้าตัวน้อยยอมไปโรงเรียนได้ ก็ไม่น่าจะมีเรื่องใดที่น่าเป็นห่วงอีกแล้ว แต่นั่นอาจยังไม่พอ เมื่อศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์และศูนย์ข้อมูลคนหาย ออกมาเปิดเผยถึงสถิติเด็กหายที่ผ่านมา ถึง 700 – 800 คน ซึ่งในรอบปี พ.ศ. 2551 มีเด็กถูกลักพาตัวไปแล้ว 7 ราย โดยมีอายุเฉลี่ยเพียง 8 ปีเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองควรพึงระวังเป็นอย่างยิ่ง
โดยวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ในการลักพาตัวเด็กนั่นคือ การนำไปทารุณกรรมทางเพศ บังคับใช้แรงงาน และที่ร้ายแรงไปกว่านั้นคือการนำอวัยวะไปขาย โดยพื้นที่ที่เกิดการลักพาตัวเด็กนั้น มักเกิดในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ โดยมีรถตู้เป็นพาหนะหรือที่เราเรียกกันว่า “แก๊งค์รถตู้”
ด้วยวิธีการที่แนบเนียนในการเข้ามาตีสนิทกับเด็กกลุ่มเป้าหมาย ชักชวน ให้สิ่งของหรือสิ่งตอบแทน เช่น ขนม ของเล่น หรือเงิน จึงทำให้เด็กหลงเชื่อและลูกลักพาตัวในที่สุด
เหตุการณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ที่ใดก็ได้ยามที่ลูกน้อยของคุณอยู่ห่างจากสายตาคน หากคุณไม่อยากเป็นรายต่อไป ควรที่จะดูแลเอาใจใส่เจ้าตัวน้อยของคุณอย่างใกล้ชิด รวมถึงครูอาจารย์ด้วย โดยเฉพาะหลังเลิกเรียนเป็นเวลาที่เด็กต้องเดินทางกลับบ้าน บางรายที่มีผู้ปกครองมารับก็อาจจะไม่น่าห่วงสักเท่าไร แต่ในรายที่ต้องเดินทางกลับบ้านเอง พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำและสอนลูกว่าอย่าหลงเชื่อคนแปลกหน้า อย่ารับไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือขนมใดๆ ทั้งสิ้นจากคนที่เราไม่รู้จักเป็นอันขาด ทางที่ดีควรจัดสรรเวลาไปรับเจ้าตัวน้อยของคุณที่โรงเรียนเองน่าจะดีที่สุด อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัวได้อีกด้วย…
เรื่องโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content www.thaihealth.or.th
Update:19-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
– เด็กไทยป่วยเบาหวาน200 คนต่อวัน
– โรคความดันโลหิตสูง คืออะไร ?
– ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
– เครียด…ฆาตกรเงียบในหมู่เยาวชน