เปิดสูตร ‘พักตับ หักดิบ’
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ช่วงเข้าพรรษานี้หลายคนสนใจและตั้งใจจะเลิกดื่มเหล้าอย่างจริงจัง เพราะอยากกลับมามีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง แต่ครั้นพอจะเลิกขึ้นมาไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร จะค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มก็กลัวจะหยุดดื่มไม่ได้ หรือจะเลือก "หักดิบ" ไปเลยหวั่นจะมีอาการถอน ลงแดง ยิ่งมาเจอข่าวหักดิบเลิกเหล้าเข้าพรรษาแล้วมีอาการช็อกดับอีกแทบถอดใจไปเลยก็มี
แต่อย่าเพิ่งหยุดความมุ่งมั่นในการเลิกเหล้า หากอยากทำให้ได้ผล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเคล็ดลับดีๆ มาฝากจากงานเสวนา "ไขความจริง…พักตับ..หักดิบ…ลงแดง" ได้ พ.อ.นพ.พิชัย แสงชาญชัย จิตแพทย์ กองจิตเวชและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แผนงานการพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการบริโภคสุราแบบบูรณาการ (ผรส.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ให้ข้อมูลขั้นตอนการเลิกเหล้าที่สำคัญ
พ.อ.นพ.พิชัยบอกว่า การเลิกเหล้าแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
1.เริ่มจากการสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองที่จะ เลิกเหล้าก่อน เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากขาดแรงจูงใจ ขาดเป้าหมายที่จะทำให้ได้ โอกาสที่จะเลิกเหล้าได้ผลก็เป็นเรื่องยาก โดยจะต้องบอกคนรอบข้างให้ชัดเจนและเข้าใจว่าตัวเองจะเลิกเหล้าแล้ว เพื่อป้องกันเพื่อนฝูงชวนดื่ม และช่วงที่เราเลิกดื่มคนรอบข้างเหล่านี้จะเป็นผู้คอยให้กำลังใจ
2.เตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะเลิกดื่มเหล้า จริงอยู่ที่ว่าการหักดิบเลิกเหล้าสามารถทำได้เลย แต่การ เตรียมตัวก่อนที่จะหักดิบเลิกเหล้าเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน โดยจะต้องรู้ว่าเมื่อหักดิบเลิกเหล้าแล้วจะเกิดปฏิกิริยาอะไรต่อร่างกายบ้าง นั่นคือ การเกิดอาการถอนสุรา ผลจากสมองติดสุรามานาน เมื่อเลิกเหล้าทำให้สมองตื่นตัวจนเกิดอาการถอนนั่นเอง อาการจะเกิดขึ้นในช่วง 3-5 วันแรก อาการจะเป็นสูงสุดในช่วงวันที่ 2 คือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น เหงื่อแตก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เป็นต้น เมื่อรู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายบ้างต้องมาเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น มีข้อแนะนำว่าให้กำหนดวันที่จะหักดิบเลิกเหล้าไว้ล่วงหน้า 7 วัน เพื่อให้มีเวลาในการเตรียมตัว เช่น เตรียมน้ำหวานไว้จิบหรือดื่ม เพราะช่วงเลิกดื่มเหล้าจะมีอาการอ่อนเพลีย เป็นต้น
3.หักดิบ หยุดดื่มเหล้าไปเลย ยืนยันว่าการหักดิบเลิกเหล้าไม่ได้เป็นอันตรายสามารถหยุดดื่มได้เลย แต่ต้องเข้าใจว่าจะมีอาการถอนตามมาแน่นอน เช่น เกิดอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย ต้องสามารถจัดการและคลายความเครียดด้วยวิธีการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย หรือใช้หลักศาสนาช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ลดปัญหานี้ได้ ที่สำคัญคือ คนรอบข้างต้องให้กำลังใจ และนักดื่มเองต้องมีพลังใจที่เข้มแข็งตั้งมั่นในการเลิกให้ได้ด้วย
"หลังจากหยุดดื่มวันที่ 5 ไปแล้ว อาการจะดีขึ้น ไม่มีอาการถอน ขอให้เลิกดื่มสุราไปตลอด ไม่ใช่แค่ช่วง 3 เดือนเข้าพรรษาเท่านั้น การเลิกเหล้าแล้วให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ อย่างน้อยต้องหยุดดื่มเป็นเวลา 1 ปี บางคนบอกว่าหยุดดื่มเหล้าแล้วทำไมสุขภาพร่างกายยังไม่ดีขึ้น ทำดีแล้วเหมือนไม่ได้ดี สุดท้ายหันกลับไปดื่มเหมือนเดิม ขอชี้แจงว่าการดื่มเหล้ามานานทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานไม่ได้ สุขภาพแย่ แม้หยุดดื่มร่างกายยังไม่ดีขึ้นทันตา ต้องใช้ระยะเวลาในการหยุดดื่มอย่างน้อย 1-2 ปีอย่างน้อย ร่างกายจึงปรับตัวกลับมาดีขึ้นอย่างแน่นอน" พ.อ.นพ.พิชัยเผย
นอกจากนี้ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปัญหาสุราเตือนให้ระมัดระวังเรื่องอาการถอนสุรารุนแรง โดยระบุว่า คนส่วนใหญ่มีอาการถอนไม่รุนแรง จะมีอยู่ 5% เท่านั้นที่มีอาการถอนรุนแรง และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งหากหยุดดื่มแล้วมีอาการถอนรุนแรง คือ คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ชัก สมองสับสน มีอาการทางจิตแทรก เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน เพ้อคลั่ง เป็นต้น ถือเป็นอาการฉุกเฉินให้รีบไปพบแพทย์ด่วน
อย่างไรก็ตาม คนที่จะมีอาการถอนสุรารุนแรงในทางการแพทย์ให้สังเกตจากปัจจัยเสี่ยง 5 ข้อ คือ 1.ดื่มหนัก ดื่มต่อเนื่องนานหลายปี เทียบได้กับการดื่มเหล้าเกิน 1 แบนต่อวัน หรือเบียร์ 5 ขวดต่อวัน เป็นเวลา 5 ปีขึ้นไป 2.มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคตับ เบาหวาน หลอดเลือดในสมอง ขาดสารอาหาร 3.เคยหยุดดื่มมาก่อนแล้วมีอาการชัก สับสน การหยุดดื่มครั้งต่อมาโอกาสถอนรุนแรงจะเกิดขึ้นได้มากและมากขึ้นเรื่อยๆ 4.ติดสารเสพติดหลายอย่าง และ 5.ผู้สูงอายุ เพราะเป็นผู้ที่ดื่มมานาน และมีโรคแทรกอยู่มาก หากหยุดดื่มมีความเสี่ยงมากกว่า
ดังนั้น คนที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวหากจะเลิกดื่มจึงควรเข้ารับคำปรึกษาในการเลิกสุราจากแพทย์ก่อน หากคิดว่าร่างกายและจิตใจพร้อมแล้ว เตรียมตัวลุยเลิกเหล้าเพื่อสุขภาพดีกันเลย