เปิดศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองย่านสะพานปลา

“วิทยา” เปิดศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ยกระดับเป็นเมืองสุขภาวะ สร้างคุณภาพชีวิตคนกรุง ชี้ คนไทยตายด้วยโรคเรื้อรังเพิ่ม คิดเป็น 65% ของภาระโรค เร่งขยายนโยบายรัฐสร้างพื้นที่สุขภาวะให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ใน 2 ปี หวังสร้างศูนย์ออกแบบเมือง ทัดเทียมเมืองใหญ่ของโลก  


เปิดศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ยกระดับเป็นเมืองสุขภาวะ      


เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ วัดยานนาวา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีเปิดศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และการพัฒนาศูนย์3C (Creative Community Center) พื้นที่ย่านสะพานปลา
        

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการสร้างสุขภาวะให้ประชาชน โดยเฉพาะในเขตเมือง ด้วยการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็น 10 อันดับแรกของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทย เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง ที่คิดเป็นร้อยละ 65 ของความสูญเสียด้านภาระโรคทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากไม่รีบดำเนินมาตรการสร้างสุขภาวะที่ดี
         
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “การสร้างพื้นที่สุขภาวะเชิงรุก เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธาณสุขโดยวางแผนการทำงานในช่วงปี 2555-2560 ไว้แล้ว ขณะนี้มีพื้นที่สร้างสรรค์นำร่องในพื้นที่สำคัญใน กทม. แล้วที่พื้นที่ใต้ทางด่วนเพลินจิต ซึ่งมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทั้งกาย จิตปัญญา สังคม และกำลังดำเนินการปรับพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เป็นพื้นที่สุขภาวะสำหรับประชาชนเพิ่มขึ้นในระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้ การสร้างพื้นที่สุขภาวะ มีงานวิจัยจากต่างประเทศยืนยันว่า เป็นกลไกเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีในทุกมิติ เช่น ทำให้เกิดการลดละเลิกสิ่งเสพติด ของมึนเมา ลดภาวะเครียด และเพิ่มพัฒนาการเด็กและเยาวชน ทำให้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกมีคุณค่าและได้รับการยอมรับ นับเป็นการลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ด้วย” นายวิทยา กล่าว
         
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความร่วมมือของ สสส. สธ. และจุฬาฯ ที่จะทำให้เกิดพื้นที่สุขภาวะ เพื่อส่งเสริมให้คนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เด็กและเยาวชนมีพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเล่นและเรียนรู้ และชุมชนมีสัมพันธภาพที่ดีร่วมกัน โดยจุฬาฯ สนับสนุนด้านวิชาการ ให้คำปรึกษาด้านการออกแบบวางผังเมือง ขณะที่ สสส. และ สธ. สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อการดูแลและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าทางสุขภาวะ
         
“ปัจจุบันปัญหาของเมืองใหญ่คือขาดการตัดสินใจปัญหาการจัดการพื้นที่ร่วมกัน ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป มีศูนย์ในลักษณะนี้ที่เป็นการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาวิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อให้คำปรึกษาและบริการด้านการออกแบบและวางผังสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมืองและชุมชนให้สมดุลทั้งการพัฒนาเมืองและการใช้ชีวิตสาธารณะ โดยมีตัวอย่างที่ดี เช่นคลองชองเกชอน เกาหลีใต้ ที่คนทั้งเมืองมีส่วนร่วมออกแบบการปรับพื้นที่ จนเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่เสื่อมโทรมไปสู่พื้นที่สุขภาวะที่ผู้คนมาพักผ่อนและมีกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน ทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น และเศรษฐกิจของเมืองก็ดีขึ้นด้วย” ทพ.กฤษดา กล่าว
         
ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ด้าน ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวว่า การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองสุขภาวะ จำเป็นต้องทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ทั้งเจ้าของที่ดิน ชุมชนในพื้นที่ หน่วยงานด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการของเมือง นักลงทุน และภาคเอกชน โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จะทำหน้าที่เชื่อมต่อความรู้ทางวิชาการจากสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม ศูนย์วิจัยเมืองสุขภาวะ สถาบันวิถีใหม่ สถาบันวิจัยพลังงาน เป็นต้น เข้ากับหน่วยงานปฏิบัติอันหลากหลาย เพื่อนำไปสู่การวางแผนและการพัฒนาเชิงพื้นที่ร่วมกัน อย่างมีความสอดคล้องกลมกลืน สร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสาธารณะ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จึงเป็นจุดบูรณาการของหน่วยงานพัฒนา ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะสถาปนิกหรือนักผังเมือง แต่ประกอบด้วยคนหลากหลายวิชาชีพมาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างและเสนอทางเลือกการพัฒนาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ภายหลังจากพัฒนาพื้นที่ใน กทม.นำร่องแล้ว จำเป็นต้องขยายแนวคิดนี้ออกไปในเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาในลักษณะเดียวกัน
 


 


 


 


ที่มา : สำนักข่าว สสส.

Shares:
QR Code :
QR Code