เปิดรายงานระดับโลก หนุนใช้ภาษีบุหรี่-เหล้า-น้ำตาล เพื่อสุขภาพประชาชน
ที่มา : มติชน
ภาพโดย สสส.
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า มาตรการทางภาษีถูกชี้ว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุดมาตรการหนึ่งในการลดการบริโภค "สินค้าทำลายสุขภาพ" ด้วยกลไกพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อราคาแพงขึ้น คนบริโภคย่อมลดลง ซึ่งไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยเท่านั้น รัฐยังได้เงินภาษีมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะเพิ่มขึ้น และหากรัฐบาลนำเม็ดเงินภาษีบาปนี้ไปใช้ตรงเพื่อสุขภาพด้วย ก็ยิ่งเป็นประโยชน์สามต่อ หรือ win-win-win เลยทีเดียว
แนวคิดนี้ถูกตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในระดับโลก เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีรายงานระดับโลกชิ้นใหม่เรื่อง "Health Taxes to Save Lives: Employing Effective Excise Taxes on Tobacco, Alcohol, and Sugary Beverages" หรือ "ภาษีสุขภาพเพื่อปกป้องชีวิต : การใช้ภาษีสรรพสามิตบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มผสมน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพ" จัดทำโดยคณะทำงานพิเศษว่าด้วยนโยบายการคลังเพื่อสุขภาพ มูลนิธิบลูมเบิร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยผู้นำระดับโลกหลายคน เช่น ดร.ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดร.มากาเร็ต ชาน อดีตผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ประธานาธิบดีอุรุกวัย อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ รัฐมนตรีจากนอร์เวย์ สกอตแลนด์ ไนจีเรีย และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกหลายคน
รายงาน 25 หน้า ระบุถึงผลการวิเคราะห์วิจัยการขึ้นภาษีสินค้าทำลายสุขภาพทั้ง 3 ประเภท คือ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอออล์ และเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ที่พิสูจน์ว่าภาษีที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และเครื่องดื่มผสมน้ำตาลลดลง เป็นที่น่าสนใจว่าประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ภาษีที่เพิ่มขึ้นทุก 10% ทำให้ความต้องการสูบบุหรี่ลดลง 5% ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงถึง 6% และลดการบริโภคน้ำอัดลมถึง 12% ผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจ สังคม และกับคนหนุ่มสาว เพราะราคาที่สูงขึ้นทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มองหาตัวเลือกอื่นเพื่อบริโภค
รายงานฉบับนี้ยกตัวอย่างหลายประเทศที่ใช้มาตรการทางภาษี เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตลงจนเป็นที่น่าพอใจ และสามารถนำงบประมาณจากรายได้ภาษีดังกล่าวมาใช้สนับสนุนการพัฒนาสังคมและสร้างเสริมสุขภาพได้ ตัวอย่างเช่นในปี 2549-2554 ประเทศบราซิลเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบ ทำให้ราคาบุหรี่ต่อซองสูงขึ้นประมาณ 34% และจำนวนการซื้อบุหรี่ในกลุ่มผู้ใหญ่ลดลงถึง 19% ในปี 2559
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศโคลอมเบียมีการขึ้นภาษียาสูบ (โดยขึ้นภาษีเฉพาะตามปริมาณยาสูบถึง 200% และยังกำหนดให้จัดเก็บเพิ่มขึ้นอีก 4% ต่อปี ตามภาวะเงินเฟ้อ) ผลคือ การสูบบุหรี่ลดลงถึง 23% ทันทีในปี 2560 ขณะที่รายได้จากภาษีบุหรี่ก็เพิ่มขึ้นถึง 54% โดยปีเดียวกันยังมีการปรับมาตรการภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการจัดเก็บภาษีในอัตรา 25% ซึ่งรวมภาษีตามมูลค่าของสินค้าและภาษีเฉพาะที่จัดเก็บตามดีกรีแอลกอฮอล์ ทำให้รายได้การจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจาก 195 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 301 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 17% ในปี 2560 ย้อนขึ้นไปที่อเมริกาเหนือ ประเทศเม็กซิโกมีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ให้ผลลัพธ์น่าสนใจ ซึ่งพบว่าในปี 2557 มีการจัดเก็บภาษี 0.064 เหรียญสหรัฐต่อลิตร ทำให้ผู้บริโภคน้ำอัดลมและเครื่องดื่มผสมน้ำตาลลดลงได้ 16% นอกจากนี้ยังพบว่ารัฐสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้นซึ่งคิดเป็น 25% ของค่าใช้จ่ายที่เกิดจากโรคอ้วน
ข้อสรุปสำคัญของนายไมเคิล บลูมเบิร์ก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณ ประโยชน์ และทูตองค์การอนามัยโลกด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่กล่าวเกี่ยวกับรายงานชิ้นนี้ว่า "ประเทศต่างๆ สามารถปกป้องชีวิตคนนับล้านได้ถ้าลงมือทำ ที่ผ่านมาแม้จะมีหลักฐานที่ชัดเจนและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับอันตรายของสินค้าทั้ง 3 ประเภท แต่อุตสาหกรรมที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับนโยบายสุขภาพ ก็ยังคงบิดเบือนความจริงสู่สาธารณชน และนั่นยิ่งทำให้เห็นความสำคัญมากขึ้นว่า ประชาคมนานาชาติควรสนับสนุนให้ทุกประเทศประยุกต์ปรับใช้มาตรการทางภาษีที่มีประสิทธิภาพ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีอยู่ เพื่อปกป้องชีวิตประชาชน"
ย้อนกลับมาที่บ้านเรา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการขึ้นภาษีสรรพสามิตครบทั้งบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มผสมน้ำตาลด้วยเหตุผลทางสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกฎหมายใช้ภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุราส่วนหนึ่งเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สื่อสาธารณะ การกีฬาและสวัสดิการผู้สูงอายุด้วย
ในประเทศไทย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เป็นองค์กรหนึ่งที่มีรายได้มาจากภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked tax) ที่จัดเก็บเพิ่มจากเหล้าบุหรี่ (โดยไม่ได้ไปแบ่งจากภาษีสรรพสามิตที่เก็บอยู่ตามปกติ) เพื่อมาใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนไทย เกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กองทุน สสส. ทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนสนับสนุนภาคส่วนตางๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคสังคม ภาคเอกชนและภาคท้องถิ่นในการสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดมาตรการควบคุมและลดผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การควบคุมยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการและการขาดกิจกรรมทางกาย ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีผลต่อการป้องกันโรคไม่ติดต่อซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพและการตายของคนทั่วโลก
ล่าสุดในปี 2560 ผลติดตามการดำเนินงานด้านการควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในประเทศไทยโดยคณะทำงานสหประชาชาติ ยกให้ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 3 ของโลกร่วมกับฟินแลนด์และนอร์เวย์ ขณะที่ WHO ยกย่องรูปแบบการทำงานของ สสส. เป็นนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก ประเทศต่างๆ อย่างเช่น เวียดนาม ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย ต่างยึดเอา สสส. ไทยเป็นต้นแบบรูปธรรมของผลจากการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าปี 2560 มีประชากรสูบบุหรี่ทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน คิดเป็น 19.1% ลดลงจากปี 2534 ที่มีจำนวน 12.2 ล้านคน หรือ 32%
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายสำหรับประเทศไทย เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามิติทางสังคมและวัฒนธรรมมีเหล้าแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของทุกงานบุญประเพณี งานเทศกาลหรืองานสังคม การทำงานด้านนี้จึงต้องใช้ความร่วมมือในการรณรงค์ด้านสังคมวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการใช้กฎหมาย จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายชี้ว่า ร้อยละของการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายของชายไทยลดลงจาก 16.6% ในปี 2546 เหลือเพียง 6.1% ในปี 2556
ขณะที่มาตรการจัดการกับเครื่องดื่มผสมน้ำตาล สสส. ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2546 เช่น การรณรงค์เด็กไทยไม่กินหวานที่นำไปสู่การยกเลิกการใส่น้ำตาลในนมผงสูตรต่อเนื่อง และโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมทั่วประเทศ ส่วนการขับเคลื่อนมาตรการภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล (Tax for SSB) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 โดย สสส.และภาคีวิชาการได้รวบรวมข้อมูลงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เสนอต่อผู้กำหนดนโยบายเพื่อการชี้แนะและผลักดันนโยบายทางด้านภาษี ส่งผลให้ พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2560 ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ระบุให้มีการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลตามปริมาณน้ำตาล และจะปรับขึ้นเป็นขั้นบันไดทุกๆ 2 ปี และเป้าต่อไปคือ "เกลือและโซเดียม" ที่ภาคสุขภาพกำลังช่วยกันเดินหน้ารวบรวมงานวิจัยเพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดนโยบายด้านภาษีโซเดียม พร้อมทั้งได้รณรงค์ให้คนไทยบริโภคเค็มแต่พอดีควบคู่กันไปด้วย
เมื่อรายงานโลกชิ้นนี้ได้ถูกนำไปร่วมจัดประชุมคู่ขนานในสมัชชาองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในสิบเอ็ดประเทศที่ได้รับเชิญเข้าไปร่วมนำเสนองาน โดยมุ่งหวังจะขยายมาตรการด้านนี้ให้ได้รับการใช้กว้างขวางยิ่งขึ้นในโลก
แน่นอนว่า แม้มาตรการทางภาษีเพื่อสุขภาพ จะเป็นหัวหอกสำคัญในการปรับพฤติกรรมการบริโภคที่ลดความเสี่ยงและเอื้อต่อสุขภาพ แต่ยังมีอีกหลายมาตรการที่ต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ และต้องสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม สร้างกระแสสังคมที่ตระหนักต่อปัญหาและเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป