เปิดระบบ ‘ประกบตัว’ วัคซีนป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
ภาวะติดเกม, ชอบซิ่งหรือประลองความเร็ว, ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา, มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร, ติดสารเสพติด เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด และติดเพื่อน ติดสื่อ ให้ความสำคัญกับวัตถุ ทั้งหมดล้วนเป็นเส้นทางเสี่ยงที่เด็กไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน สะท้อนถึงสาเหตุของพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบันว่า พฤติกรรมเสี่ยงที่แสดงออกของเด็กไทย เกิดจากสาเหตุ 3 โรคที่สำคัญคือ
1. โรคศักดิ์ศรีบกพร่อง จากการที่เด็กหมดศักดิ์ศรีต่อความสามารถของตัวเอง เด็กเรียนอ่อนได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.00 กินเหล้า เสพยา มากกว่าเด็กปกติ 2-3 เท่า จึงหาศักดิ์ศรีจากขวดเหล้า อานมอเตอร์ไซค์ และเกมคอมพิวเตอร์
2. โรคหัวใจตีบตัน จากสภาพปัญหาครอบครัว เช่น เด็กห่างจากพ่อแม่ ขาดความรัก จึงเป็นต้นทางของปัญหา กรณีแม่วัยรุ่น สถานพินิจมากกว่าครึ่งก็มาจากปัญหาครอบครัว
และ 3.โรคสำลักเสรีภาพ ในสภาพที่อบายมุขเกลื่อนเมือง การกระจายตัวของพื้นที่อบายมุข เช่น ร้านเหล้า ทำให้ดึงเด็กในทางที่เสียหาย รวมถึงโลกไซเบอร์ที่มีเนื้อหายั่วยุรุนแรงจำนวนมาก
ส่งผลให้จำนวนเด็กที่หลุดหายจากระบบการศึกษา พุ่งถึง 3 ล้านคน และยังไม่นับรวมเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มหลุดออกจากระบบการศึกษาในแต่ละปี
ดร.อมรวิชช์ ได้นำเสนอถึงแนวทางจัดการแก้ไขปัญหาไว้ว่า สสค.ได้ออกแบบกลไกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษาและเด็กกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา เรียกว่า “ระบบประกบตัว” หรือการจัดการดูแลรายกรณี (Case Management Unit- CMU)
ซึ่งเป็นกลไกจัดการทั้งในเชิงแก้ไขเยียวยา สร้างโอกาสการศึกษาใหม่ให้เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว และทั้งในเชิงป้องกันเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ให้ล้มเหลวและหมดศรัทธากับการเรียน สามารถเรียนไปจนอย่างน้อยจบการศึกษาภาคบังคับหรืออาจเรียนต่อสูงขึ้นตามศักยภาพ ในเชิงวิชาการนั้นไม่ว่าเด็กเหล่านี้จะมีปัจจัยเสี่ยงเพียงใด แต่หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้องแต่เนิ่น ๆ ย่อมสามารถเรียนรู้ไปได้เต็มตามศักยภาพและมีอนาคตที่ดีได้ทุกคน
ระบบ “ประกบตัว” หรือการจัดการดูแลรายกรณีเป็นระบบซึ่งทั่วโลกอาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น ให้การยอมรับว่าสามารถดึงเด็กและเยาวชนซึ่งหลุดออกจากระบบให้กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา และสามารถรักษาเด็กกลุ่มเสี่ยงไว้กับระบบการศึกษาได้
รูปแบบการทำงานของระบบประกบตัวจึงเกิดจากความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น ชุมชน บ้าน โรงเรียน และหน่วยงานหลากวิชาชีพ เชื่อมโยงกัน ทำให้ระบบประกบตัวมีความสามารถที่หลากหลายในการพัฒนาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน สามารถเชื่อมประสานหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็กและเยาวชนได้
การทำงานเชิงพื้นที่โดยอาศัยฐานท้องถิ่น ด้วยความเชื่อที่ว่า คนในท้องถิ่นเองเป็นผู้ที่อยู่กับปัญหาย่อมมีความเข้าใจถึงสภาพปัญหาได้อย่างลึกซึ้งกว่าคนภายนอก และสามารถเชื่อมประสานครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษาให้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษาและเด็กกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษาให้กลับมามีชีวิตที่มั่นคง
ล่าสุด สสค.ได้ร่วมกับสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดการอบรมให้กับทีมพี่เลี้ยงในระดับภาคและระดับจังหวัด ในโครงการนำร่องการพัฒนาหน่วยจัดการดูแลรายกรณี เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กกลุ่มด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษาและเด็กกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา โดยให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของปัญหาเด็กและเยาวชน ตลอดจนแนวทางช่วยเหลือป้องกันและแก้ไขผ่านระบบ “ประกบตัว” หรือการจัดการดูแลรายกรณีให้แก่ทีมพี่เลี้ยงระดับภาคและจังหวัดจาก 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งทีมพี่เลี้ยงระดับภาคและจังหวัด จะมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่นำร่อง 12-15 จังหวัดทั่วประเทศต่อไป
และเชื่อว่า “ระบบประกบตัว” นี้จะเป็นคำตอบที่สำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กด้อยโอกาสและเด็กกลุ่มเสี่ยงกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่เด็กที่มีปัญหาการเรียน การปรับตัวในโรงเรียน ไปจนถึงกลุ่มแม่วัยรุ่น เด็กกระทำความผิด เด็กติดยาเสพติด ซึ่งในสังคมมีเด็กกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้กว่า 5 ล้านคน.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์