เปิดยุทธศาสตร์แรงงานนอกระบบ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตใน 5 ปี

ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ฐานกำลังสำคัญสร้างเศรษฐกิจประเทศ เพิ่มสิทธิประโยชน์ ขยายความคุ้มครองและส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและเห็นประโยชน์ในการประกันตนของแรงงานนอกระบบให้มากขึ้น

นายสุนันท์ โพธิ์ทองนายสุนันท์ โพธิ์ทอง รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555-2559 จัดโดย สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน (สศร.) กระทรวงแรงงาน โดยความร่วมมือทางวิชาการจาก มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากที่ต่างๆ คือ ผู้วิจัย หน่วยงานราชการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน สมาคมมูลนิธิ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 130 คน

ในการสัมมนายังมีการนำเสนอ (ร่าง)แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555-2559 การอภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนฯ และเปิดโอกาสให้มีการซักถาม แสดงทัศนะ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขและสรุปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาจัดส่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

เปิดยุทธศาสตร์แรงงานนอกระบบ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตใน 5 ปี

โดยที่ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี2553 พบว่า ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบประมาณ 24.1 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีบทบาทการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นกลุ่มที่นโยบายทุกระดับให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) เป็นต้นมา ตลอดจนนโยบายรัฐบาลปัจจุบันก็ให้ความสำคัญเร่งด่วนกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานนอกระบบที่จะให้มีรายได้เป็นวันละ 300 บาท

ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ ยกรับราคาสินค้าเกษตรพร้อมกับให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนเช่นกัน อีกทั้งนโยบายด้านแรงงานนั้นก็จะส่งเสริมให้แรงงานที่อยู่นอกระบบสามารถเลือกและมีงานทำได้ในสภาพที่เหมาะสม เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้มากขึ้น เพื่อผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง และปรับปรุงแนวทางการขยายความคุ้มครองและส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและเห็นประโยชน์ในการประกันตนของแรงงานนอกระบบ โดยขณะนี้มีการประสานเครือข่ายข้อมูลแรงงานนอกระบบจากส่วนราชการกระทรวง ทบวง กรม อื่นๆ เข้ามายังฐานข้อมูลกระทรวงแรงงานถึงประมาณ 2.36 ล้านคน

เปิดยุทธศาสตร์แรงงานนอกระบบ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตใน 5 ปี

สำหรับ“แรงงานนอกระบบ” นั้น สำนักสถิติแห่งชาติให้นิยามว่า ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ซึ่งหมายถึงผู้ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.รบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงทำให้กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มแรงงานที่มีสัดส่วน 2 ใน 3 ของกำลังแรงงานของประเทศ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลาย มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปรหรือพลวัตร (dynamic) สูง ทั้งในเรื่องจำนวน อาชีพรูปแบบลักษณะงาน สถานภาพการทำงาน สภาพปัญหาที่มีความแตกต่างกัน จึงส่งผลให้ภารกิจที่ต้องดำเนินการเพื่อกลุ่มแรงงานนอกระบบกระจัดกระจายอยู่เกือบทุกหน่วยงาน

สังคมจึงคาดหวังว่ากระทรวงแรงงานจะเป็นหลักในเรื่องนี้ ซึ่งในปีงบประมาณ 2553 กระทรวงแรงงานจึงนำร่องจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2554 และได้แปลงยุทธศาสตร์สู่แผนปฏิบัติงานส่งเสริม พัฒนาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2554 ได้มีการประมวลแผนงานโครงการและงบประมาณของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วปรากฏว่าในภาพรวมมีเป้าหมายดำเนินงานทั้งสิ้น 1.18 ล้านคน ซึ่งยังไม่รวมกับเป้าหมายการประกันสังคม มาตรา 40 ซึ่งได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาจนปีงบประมาณ 2554 ที่สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงานที่เป็นหน่วยอำนวยการ ร่วมกับทีดีอาร์ไอ และ สสส.ร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555-2559 ขึ้นมา โดยใช้กลไกของคณะกรรมการอำนวยการแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบพ.ศ.2555-2559 และคณะทำงานหลัก (core team) สนับสนุนภารกิจ

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

Shares:
QR Code :
QR Code