เปิดมุมมอง 5 พรรค กำหนดนโยบายเด็ก-เยาวชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
เด็กไทยในวันนี้ คือหัวใจสำคัญต่อความอยู่รอดของประเทศในอนาคต เพราะประเทศไทยเป็นสังคม ผู้สูงวัย คนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะแบกรับภาระพึ่งพิงมากกว่าผู้ใหญ่ในปัจจุบันมาก รวมถึงจะต้องมีศักยภาพที่สามารถ แข่งขันกับทั่วโลกได้ด้วย
เพราะฉะนั้นศักยภาพของเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญต้องช่วยกันคิดและสร้างสรรค์ ซึ่งใน เวทีแสดงนโยบายด้านเด็กและเยาวชน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ "มุมมอง New Gen พรรคการเมืองกับเรื่องปิดเทอมสร้างสรรค์" จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดโอกาสให้ 5 ผู้สมัคร ส.ส.คนรุ่นใหม่จาก 5 พรรคการเมือง แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายพัฒนาเด็กและเยาวชน
'ชพน.' : มินิสปอร์ตคอมเพล็กซ์
เยาวภา บุรพลชัย พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) กล่าวว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนมี 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ความเหลื่อมล้ำการศึกษา เด็กจนและเด็กรวยได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม จึงไม่ได้ความรู้พัฒนาศักยภาพและอาชีพในอนาคตไม่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้พิการหรือ เด็กพิเศษยิ่งทำให้ไม่เท่าเทียม และ 2.ช่องว่าง ระหว่างครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ พรรคจึงมีนโยบายสำคัญการพัฒนาเด็กและเยาวชนใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ด้านการศึกษา ต้องมีห้องเรียนดิจิทัลให้เด็กได้เรียน 2-3 ภาษา มีทุนครูเทคโนโลยีให้อำเภอละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ครูออกไปพัฒนาตนเองและกลับมาพัฒนาท้องถิ่น ทำให้เด็กเป็นนักอ่าน นักคิด นักปฏิบัติและนักนำเสนอที่เก่งกาจ และส่งเสริมการเรียนรู้ให้สามารถเรียนรู้และใช้เวลากับครอบครัว
และ 2.ด้านกีฬา ให้มีมินิสปอร์ตคอมเพล็กซ์ ส่งเสริมกีฬาในทุกอำเภอและให้มีมินิฟิตเนสทุกหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่ากีฬาเป็นส่วนสำคัญส่งเสริมสุขภาพกายและใจที่ดี และสร้างความสามัคคี หากทำให้ทุกคนเข้าถึงกีฬาจะช่วยลดต้นทุนการรักษาพยาบาลในอนาคต อีกทั้งกีฬาเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง
'ปชป.' : คืนครูให้นักเรียน
พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรค ปชป.มีนโยบายปฏิรูประบบการศึกษาตั้งแต่ต้นจนปลายทาง โดยช่วงอายุ 0-8 ปี มีเบี้ยเด็กเข้มแข็งถ้วนหน้าเดือนละ 1,000 บาทในการช่วยเหลือพ่อแม่นำมาให้เด็กเข้าถึงโภชนาการที่ดีมีคุณภาพ ช่วงปฐมวัย เพิ่มศูนย์เด็กเล็กคุณภาพทั่วประเทศ ฝึกอบรมผู้ดูแลเด็กในช่วง วัยนี้โดยเฉพาะด้วย ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ปรับหลักสูตร บทบาทห้องเรียนถูกพลิกใหม่เมื่อเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญ เช่น ห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ครูต้องกระตุ้นให้เกิด การคิดวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเกิดสงครามนั้นขึ้น เป็นต้น
ต้องให้เด็กมีทักษะภาษาอังกฤษ เน้นให้กล้าใช้ภาษา กล้าคิด ลดค่านิยมที่ว่าสำเนียงถูก รวมถึงคืนครูให้กับนักเรียน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาลดภาระงานอื่น ๆ ของครู ปรับวิธีการประเมิน โดยตัวชี้วัดของครูจะอิงกับผลสำเร็จของนักเรียน ระดับอุดมศึกษา จบมาแล้วต้องมีงานทำ ขายโครงการเรียนฟรีถึงระดับ ปวส. ยกระดับสถาบันอาชีวศึกษา ดึงภาคเอกชนมาร่วมในการจัดทำหลักสูตรทวิภาคี และมีสัญญาว่าจ้างรองรับงาน และส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต มีคูปองฝึกทักษะเพื่อผู้ใหญ่ที่ต้องการที่จะเปลี่ยนสายอาชีพ
'พปชร.' : ธนาคารเพื่อการศึกษา
ไกรเสริม โตทับเที่ยง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พปชร.มีนโยบาย สำคัญพัฒนาเด็กและเยาวชน เน้นสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงการศึกษา จัดตั้งธนาคารเพื่อการศึกษา จัดพื้นฐานในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา แนวทางไม่ใช่การกู้ยืมเงินแต่เป็นการให้ทุนการศึกษาที่ขึ้นกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของลูก ไม่ใช่เป็นแบบปัจจุบันที่ลูกเรียนยังไม่รู้ผลเป็นอย่างไรแต่พ่อแม่เป็นหนี้จากการไปกู้ยืมมาส่งให้เรียนแล้ว
อย่างไรก็ตาม โดยเงินทุนที่จะเข้ามาในธนาคารจะเปิดโอกาสให้ทุกองค์กรทางเอกชน หรือสังคมที่มีกำไรและมีจิตสาธารณะร่วมพัฒนาการศึกษานำเงินมาฝากเข้าธนาคาร ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนไม่ใช่รอแต่เงินจากรัฐเท่านั้น ทำให้ระบบการศึกษาไทยขยับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เด็กพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ พรรคมีนโยบายมารดาประชารัฐ ให้มีการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กที่คลอดออกมาสมบูรณ์ รวมถึงเปลี่ยนการวัดผลการเรียนจากการกระทำไม่ใช่ท่องจำ และนำระบบที่ดีเข้าไปพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก แบบเรียนให้น้อยแต่รู้ให้ตรงจุดและใช้ประโยชน์ได้
'พท.' : ศูนย์พัฒนาเด็กอัจฉริยะ
ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การศึกษาปฐมวัยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสร้างความใฝ่ฝันและบ่มเพาะให้เป็นคนดี พรรคจึงมีนโยบายที่จะทำศูนย์พัฒนาเด็กอัจฉริยะ 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศทุกชุมชน รวมถึงศูนย์คนชราด้วย ในระบบโรงเรียนจะคืนโรงเรียนสู่ผู้ปกครอง เพราะครูจะใกล้ชิดกับเด็กรองจากพ่อแม่ ย่อมรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีแววในด้านใด ครูจึงต้องคุยกับผู้ปกครองเพื่อให้รู้ว่าลูกเก่งด้านไหน ควรส่งเสริมอย่างไร ทำให้พ่อแม่รู้ศักยภาพของลูก และลดขนาดห้องเรียน ให้ครูเข้าถึงนักเรียนแต่ละคนมากขึ้น เพิ่มปริมาณและคุณภาพครูให้สามารถค้นพบศักยภาพเด็กและคุยกับผู้ปกครอง
นอกจากนี้จะกระจายอำนาจการศึกษา เพราะหากทุก ร.ร.ทุกจังหวัดยึดหลักสูตรแกนกลางเหมือนกันหมด ทั้งที่เด็กแต่ละคนมีศักยภาพการศึกษาไม่เท่ากัน การศึกษาจึงควรให้อำนาจ ร.ร.ในการจัดทำหลักสูตร ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และมีศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ ให้เด็กคิดนอกกรอบได้ ต้องมีสถานที่พิเศษที่ไม่ใช่การเรียนพิเศษ แต่เป็นสถานที่ให้เด็กได้เสริมเขี้ยวเล็บตนเองในการเป็นพลเมืองโลก
'อนค.' : รื้อระบบการศึกษาใหม่
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า การศึกษาไทยตอนนี้เหมือนเกมตึกถล่มที่เป็นบล็อกไม้ แต่ไม่ใช่มีฐานที่แข็งแรงแต่มีฐานที่ง่อนแง่นและพร้อมที่จะเอาบล็อกไปต่อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนเพิ่มภาระให้เด็ก
ฉะนั้นพรรคจะสร้างรากฐานและพื้นฐานการศึกษาใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มจากการใช้งบประมาณ 3 หมื่น ล้านบาทต่อปีเป็นเวลา 3 ปี ในการพัฒนายกระดับสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพบุคลากรและอุปกรณ์ อาทิ พัฒนายกระดับ คุณภาพศูนย์เด็กเล็ก ให้สวัสดิการ พ่อแม่ที่มีลูกอายุ 0-6 ปี เดือนละ 1,200 บาท ทำให้วางแผนชีวิตได้ดีขึ้นไม่ต้องห่วงว่าจะมีเงินเพื่อให้ลูกหรือไม่
วัยเข้าเรียนต้องให้ ร.ร.ยกระดับสิ่งแวดล้อมให้เด็กสามารถใช้พื้นที่ใน ร.ร.เรียนรู้เต็มที่ สำหรับ ร.ร.ขนาดเล็กและขนาดกลาง 1.7 หมื่นแห่ง ทั่วประเทศต้องมีอิสระในการจัดสรรงบประมาณ ด้านอาหารโภชนาการ จัดให้มีนักโภชนาการหรือนักกำหนด อาหารในทุกเขตพื้นที่การศึกษาด้านสุขภาพจิต การแก้ปัญหา เบื้องต้น พัฒนาบุคลากรใน ร.ร.ให้เข้าใจสุขภาพจิตขั้นพื้นฐาน สามารถคัดกรองเด็กและส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงได้
นอกจากนี้ปฏิรูปข้อสอบ ลดจำนวนการสอบระดับชาติลง ลดวิชาแกนกลาง เพิ่มวิชาการ ท้องถิ่น ให้มีความหลากหลาย และปฏิรูประบบผลิตครูตั้งแต่การ คัดเลือก ช่องทางการพัฒนาอบรมครูต้นแบบ