เปิดมาตรการเมืองต้นแบบดีเด่นสวมหมวกกันน็อก
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพโดย สสส.
ยังเป็นที่น่ากังวลเมื่ออัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยปี 2561 เฉพาะผู้ขับขี่เฉลี่ยทั่วประเทศมีเพียงร้อยละ 52 สะท้อนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ยังไม่ตระหนักถึงความรุนแรงจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ และเสียชีวิตขณะที่ประสบอุบัติเหตุ
ไม่เพียงเท่านั้น จากการเปิดผลสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ เครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันก่อนยังเปิดรายชื่อ 10 จังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกกันน็อกรวมคนขี่และคนซ้อนต่ำสุด แชมป์คือ จ.บึงกาฬ สวมหมวกกันน็อกแค่ 12% ตามด้วยนราธิวาส นครพนม ยะลา ยโสธร ปัตตานี ชัยภูมิ เลย หนองคาย และพัทลุง
ส่วน 10 อันดับสวมหมวกกันน็อกสูงสุด กรุงเทพมหานครมาวินด้วยมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น ตามด้วยภูเก็ต นนทบุรี นครศรีธรรมราช สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ ระยอง พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ข้อมูลการสวมหมวกกันน็อกที่เก็บอย่างต่อเนื่อง ถือว่ามีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนการส่งเสริมการสวมหมวกกันน็อกในอนาคต
นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพคนที่ 2 กล่าวว่า ผลสำรวจสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของพฤติกรรมการสวมหมวกกันน็อกในจังหวัดต่าง ๆ ของไทยใช้อ้างอิงเป็นฐานข้อมูลติดตามประเมินผลเดินหน้ามาตรการต่าง ๆ เพื่อให้คนขับและคนซ้อนสวมหมวกมากยิ่งขึ้น เพราะแต่ละปีมีการตายและบาดเจ็บที่ศีรษะของผู้ใช้จักรยานยนต์ แม้จะมีการรณรงค์แต่ผลสำรวจจนถึงปัจจุบันยังมีแนวโน้มคงที่ไม่ถึงร้อยละ 50 ค่อนข้างต่ำถ้าเทียบกับเพื่อนบ้าน
"ทั่วประเทศเฉลี่ย 50% แต่เป้าอยู่ที่ 90% มีการศึกษาหากคนขับและคนซ้อนสวมหมวกกันน็อกจะลดตายได้ถึง 40% ส่วนจังหวัดหรือเมืองใดอยากขยับอัตราการสวมหมวกกันน็อกให้เพิ่มขึ้นจะต้องมีการทำงานของเครือข่าย 5 เครือข่ายอย่างจริงจัง ได้แก่ เครือข่ายตำรวจและอาสาจราจร เครือข่ายครูและสถานศึกษา เชื่อมโยงผู้ปกครองโดยเฉพาะครู ถ้าขยับอย่างต่อเนื่องทั้งอาชีวะเทคโนโลยีและมหาวิทยาลัย จะเพิ่มผู้สวมหมวกกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น แล้วยังเครือข่ายบริษัทห้างร้านสถานประกอบการ มีมาตรการองค์กรควบคุมพนักงานสวมหมวกมีการมอบโล่เชิดชูสุดท้ายเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งหลายทำงานกับโรงพยาบาลศูนย์แต่ละแห่ง เน้นบุคลากร ก่อนขยายมาสู่ผู้ใช้บริการทั้งหมดนี้จะช่วยหยุดการสูญเสียตั้งแต่ต้นทาง เพิ่มอัตราสวมหมวกทั่วประเทศ" นพ.วีระพันธ์ เน้นแนวทางสู่เป้าหมายสวมหมวกนิรภัย 100%
ภายในงานนอกจากเปิดผลสำรวจประจำปี 2561 แล้ว ยังมีพิธีมอบรางวัลจังหวัดที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ปี 2561 ด้วย ซึ่งแนวทางทำงานแต่ละจังหวัดทั้งกรุงเทพมหานครเมืองใหญ่และจังหวัดภูมิภาคมีโมเดลที่น่าสนใจ
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวภายหลังขึ้นรับมอบรางวัลว่า กรุงเทพฯ เข้มงวดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับภาคีประกาศกรุงเทพฯ เมืองต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100% ทำงานต่อเนื่องตลอดปี 61 ทำให้คนขับในเขตกรุงเทพฯ สวมหมวกสูงถึง 85% โดยเฉพาะกลุ่มคนซ้อนสวมเพิ่มขึ้นเป็น 55% จาก 39%
"บชน.กำชับทุกพื้นที่บังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่สร้างวินัยจราจรทั้งคนขับและคนซ้อนต้องสวมหมวกกันน็อก มีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์รณรงค์ ขณะนี้กำลังพัฒนากล้องวงจรปิดบันทึกพฤติกรรมการสวมหมวกกันน็อกทดลองที่แยกประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง เป็นจุดแรก อนาคตจะสามารถตรวจจับเลขทะเบียนได้ อย่างไรก็ตาม ยังพบช่องว่างช่วงชั่วโมงเร่งด่วน เพราะเจ้าหน้าที่มีภารกิจอำนวยความสะดวกการจราจรก็พยายามปิดจุดอ่อนนี้ รวมถึงจะมีมาตรการเข้มข้นกับคนซ้อนมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตเมืองมากขึ้น ส่วนวินรอบนอกให้ความร่วมมือดีขึ้น" พล.ต.ต.จิรสันต์ย้ำ ต้องลุยงานต่อแม้ กทม.จะคว้าแชมป์สวมหมวกสูงสุด
ระยองเคยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ทุกวันนี้ติดอันดับจังหวัดมีพัฒนาการของอัตราสวมหมวกกันน็อกเพิ่มขึ้นดีเด่น พ.ต.อ.สรัลพัฒน์ ยศสมบัติ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองมีนโยบายลดสถิติผู้ไม่สวมหมวกกันน็อก ก็ขับเคลื่อนผ่านภาคีเครือข่ายต่าง ๆ บริบทของระยองมีประชากรตามทะเบียนราษฎร 7 แสนคน ประชากรแฝงอีก 7 แสนคน จันทร์-ศุกร์ผู้ใช้รถจักรยานยนต์มาก เสาร์-อาทิตย์เป็นนักท่องเที่ยว ทำงานเน้นหมู่บ้าน เสริมสร้างวินัยจราจร 100%
"ใช้สถานีตำรวจ 16 แห่งเป็นฐานจับมือกับหมู่บ้านและตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านตรวจสอบจำนวนผู้ใช้รถจักรยายนต์ผู้สวมหมวกกันน็อกตั้งเป้าสวมหมวก 90% ขณะนี้มี 3 สน.ผ่าน ส่วนที่ไม่ผ่าน อัตราสวมหมวกเฉลี่ย 60-70% วิธีจะสกัดจากชุมชนเก่าก่อนจะขับเข้าถนนใหญ่ ทำงานควบคู่ศูนย์ถนนจังหวัด รวมทั้งดึงนิคมอุตสาหกรรมและบริษัทเอกชนเป็นแนวร่วม ถ้าตำรวจจับพบคนขับเป็นพนักงานนิคมจะแจ้งข้อมูลกลับไปยังองค์กรจะมีมาตรการถ้าผิดซ้ำซากตัดเงินเดือนไม่ให้โบนัส" พ.ต.อ.สรัลพัฒน์ เผยกลยุทธ์
ภาคใต้มี จ.นครศรีธรรมราช ผลงานโดดเด่น สถิติดีวันดีคืน ณัฐนันท์ ทัศนวิสุทธิ์ หัวหน้างานอุบัติเหตุและการแพทย์ฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า หากติดตามข่าว ที่นครศรีธรรมราชมีกรณีชาวบ้านประท้วงตำรวจตั้งด่านจับไม่สวมหมวก นำมาสู่การถอดบทเรียนทุกเครือข่าย ทั้งตำรวจ สาธารณสุข โรงพยาบาล ฝ่ายปกครอง ต้องมาลงพื้นที่ในรูปแบบศูนย์ถนน ทุกภาคีมีแกนนำของตนเอง ส่วนสาธารณสุข แกนหลักคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพมีพยาบาล และ อสม. ดูแลสุขภาพด้านการป้องกันอุบัติเหตุจราจรของชุมชนใช้ทีมจังหวัด อำเภอ ขับเคลื่อนให้ชุมชนรู้จักป้องกันตัวเอง ก็ปูพื้นฐานให้ความรู้ต่อด้วยกวดขันวินัยจราจร
"เขตเมืองนครศรีธรรมราชมีกล้องวงจรปิดตรวจสอบวินัยจราจร และใช้เป็นฐานข้อมูลติดตามประเมินผลพัฒนามาตรการระดับพื้นที่ ปัจจุบันชั่วโมงเร่งด่วนในถนนสายหลักสวมหมวก 100% แต่เส้นทางก่อนเข้าเขตเมืองยังพบไม่สวมหมวก ก็ต้องส่งเสริมให้ชุมชนตั้งด่านของตนเองหรือด่านเคลื่อนที่ กลุ่มเสี่ยงยังเป็นเด็กและคนซ้อนท้าย ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ทั้งยังใช้มาตรการทางสังคมช่วยยกย่องครอบครัวตัวอย่างสวมหมวกทั้งคนขับและคนซ้อน รวมถึงนำผู้ป่วยติดเตียงเป็นตัวอย่างสื่อความรุนแรงจากอุบัติเหตุ บางชุมชนจัดทำ สติกเกอร์กลุ่มเสี่ยงของชุมชนปัจจุบันมี 23 อำเภอต้นแบบ และตั้งเป้าภายในปี 63 จะสวมหมวกกัน น็อก 100%" ณัฐนันท์ กล่าว และฝากในตอนท้าย คนไทยยังไม่ตระหนักถึงการป้องกันตัวเอง ทั้งสวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย และเมาแล้วขับ จะต้องผนึกพลัง มีแผนขับเคลื่อนสร้างวินัยจราจร ลดสูญเสียและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม
ต้นแบบสวมหมวกเพิ่มขึ้นในเขตชุมชนชนบทมี จ.เพชรบูรณ์ ได้รางวัล นพดล คำนึงเนตร รักษาการสำนักงานป้องกันภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จ.เพชรบูรณ์ มีปัญหารถไม่เสียภาษีต่อ พ.ร.บ. เมื่อเกิดอุบัติเหตุสร้างปัญหาตามมาทำให้ผู้ว่าฯ เอาจริง นำมาสู่การตั้งด่านสุ่มตรวจจับบูรณาการร่วมกับชุมชน อสม. อปพร. ทำให้คนขับหันมาสวมหมวกมากขึ้น ทำงานขยายผลขับเคลื่อนใน 11 อำเภอ ติดตามประเมินผลทุกเดือน การตั้งด่านจะหมุนเวียนไปจุดเสี่ยงอื่น ๆ ที่อำเภอหล่มเก่า อัตราสวมหมวกดีมาก ภาพรวมอุบัติเหตุยังมีมากเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ยอดเสียชีวิตลดลงคือเจ็บแต่ไม่ตาย นอกจากนี้จะช่วยลดอุบัติเหตุจากกลุ่มคนขับบิ๊กไบค์ พบมากช่วงศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ถนนเพชรบูรณ์เป็นเส้นตรงและยาว มีการตั้งด่านควบคู่ ติดตั้งลูกระนาดถนนเพื่อลดความเร็ว แม้ได้รางวัลยังต้องทำงานต่อไปเพราะอัตราไม่สวมหมวกกันน็อกในเขตเมืองเพชรบูรณ์ยังสูงอยู่