เปิดพื้นที่ Connect Fest ให้ความหลากหลายมาเจอกัน
ที่มา : ข่าวสด (https://www.khaosod.co.th/advertorial/news_2797763)
ภาพประกอบจาก สสส.
"ความหลากหลาย เป็นสิ่งที่พบเห็นได้รอบตัว ทั้งรูปแบบ การใช้ชีวิต เพศ ศาสนา วัฒนธรรม ไปจนถึงความคิด ความเชื่อในเรื่องต่างๆ แต่ความแตกต่างนั้นทำให้สังคมเกิดความสมดุล เปรียบเสมือนระบบนิเวศที่ต้องเกื้อกูล ต่อกัน เพราะหากสังคมมีแต่คนแบบเดียวกัน โลกจะ ไม่เกิดการพัฒนา และมีแต่ความหายนะ การเชื่อมโยงความ หลากหลายให้เข้าหากันจึงเป็นการลงทุนนำไปสู่การพัฒนาที่ดี" นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวในพิธีเปิดงาน "ปฏิบัติการเติมฝัน เพราะความหลากหลายทำให้เรามาเจอกัน"
เมื่อไม่นานมานี้ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ร่วมกับมิวเซียมสยาม สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน "ปฏิบัติการเติมฝัน Connect Fest เพราะความหลากหลายทำให้เรามาเจอกัน โดยเปิดพื้นที่สื่อสารสาธารณะรูปแบบงานเทศกาลที่สร้างสรรค์ ให้คนรุ่นใหม่และคนที่ทำงานด้านสังคมในประเด็นต่างๆ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดและวิธีการทำงานของกันและกัน
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สิ่งที่ สสส. ทำงานไม่ใช่เรื่องของการป้องกันโรคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาวะทั้งหมด เช่น สิ่งแวดล้อม อาหาร วัฒนธรรม โดยทำการ Connect หรือเชื่อมโยงทุกประเด็นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ทั้งนี้ Connect Fest เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อแสดงผลการทำงานของโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดย สสส. ร่วมกับ มอส. รับสมัคร คนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปร่วมแลกเปลี่ยนความ หลากหลายผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ร่วมกันแชร์ ร่วมกัน สื่อสาร และสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่น่าสนใจ ต่อยอดศักยภาพแกนนำเยาวชนไปสู่วุฒิภาวะของการเป็นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Change Agent) สร้างเครือข่ายเยาวชนและภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็ง สร้างพื้นที่ปฏิบัติการการเคลื่อนไหวทางสังคมของเยาวชนโดยเยาวชน เพื่อส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาให้เกิดนักกิจกรรมทางสังคม รุ่นใหม่ ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต
"อุปสรรคของการอยู่ร่วมกันในความหลากหลายไม่ได้อยู่ที่ความแตกต่าง แต่อยู่ที่ใจของเรา การก้าวข้ามอคติ ก้าวข้ามความเชื่อ และก้าวข้ามการตัดสินจากความคิดของตนเองด้านเดียว จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นได้มากมายในสังคม"นางสาวณัฐยา กล่าว
มาที่ นายวัชรพล นาคเกษม หรือ นุ๊ก ตัวแทนเยาวชนจากโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่นที่ 3 กล่าวว่า ก่อนจะเข้าร่วมโครงการฯ ตนถามรุ่นพี่ที่ได้ร่วมโครงการนี้มาก่อนว่าได้อะไรจากการเข้าร่วมบ้าง แล้วมันดีอย่างไร คำตอบที่ได้กลับมาคือ "เราไม่มีทางรู้ได้ ถ้าเราไม่ได้ลองทำจริง" พอได้เข้ามาร่วมเรียนรู้กับเพื่อนๆ จากหลายพื้นที่ เริ่มต้นจากการร่วมทำความเข้าใจตนเองและความหลากหลายในมิติที่แตกต่าง รู้จักความเหลื่อมล้ำที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในสังคมและปรับสมดุลทางความคิด ตามด้วยเรียนรู้เรื่องของการสื่อสารที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง ลงพื้นที่เพื่อสัมผัสความ หลากหลาย นำมาสู่การร่วมกันทำเวทีสื่อสารสาธารณะ โดยใช้ชื่อว่า Connect Fest
ภายในงานมีการแบ่งโซนต่างๆ เช่น โซนนิทรรศการ นำเสนอเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ ผ่านภาพถ่ายและวิดีโอ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย โซนเวิร์กชอป นำเสนอการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือต่างๆ ศิลปะ บอร์ดเกม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและต่อยอดไอเดีย โซนตลาด นำเสนอสินค้า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาหารเมนูจากวัตถุดิบ ท้องถิ่น จากผู้ผลิตในชุมชนตรงสู่ผู้บริโภคในเมือง โซนเวทีและการแสดง ที่มีการเสวนาประเด็นหลากหลาย จากวิทยากร ที่มีความสามารถ การแสดงจากคนไร้บ้าน กลุ่มคนที่ถูกคน ในสังคมมองข้าม แต่เขาเหล่านี้มีศักยภาพมากกว่าที่เราเห็น ซึ่งในทุกพื้นที่ของงานมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เป็นต้น
"เรียกได้ว่า Connect Fest เป็นการหยิบจับความหลากหลายมาร้อยเรียงให้เกิดความสวยงาม และเปิดให้ ทุกคนในสังคมมาร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน" นายวัชรพล กล่าว
ด้าน นางสาวอลีนา เก่งชน หรือ ปลาดาว หนึ่งใน ผู้สนใจเข้าร่วมงาน เผยให้ฟังว่า เราทุกคนเกิดมาพร้อมความแตกต่าง จากการได้เดินชมนิทรรศการและได้ร่วมกิจกรรม ในงานทำให้ตนได้เรียนรู้ในหลายเรื่อง เหมือนได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่จากที่ต่างๆ โดยกิจกรรมที่ชอบคือ กิจกรรม เวิร์กชอป ที่นอกจากจะได้ผลงานดีๆ กลับบ้าน ยังได้ความรู้ จากการลงมือทำด้วย
"ข้อมูลที่น่าสนใจคือ เราต้องเสียทรัพยากรไปมากมายกับผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง ซึ่งแต่ละชิ้นจะกลายเป็นขยะที่ใช้เวลากว่า 500 ปีในการย่อยสลาย ตนได้ร่วมทำผ้าอนามัยแบบซักได้ที่สามารถใช้ซ้ำได้ ซึ่งแท้จริงไม่ได้มีขั้นตอนที่ยาก ที่สำคัญช่วยลดขยะได้อีกด้วย อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้เรื่อยๆ ในสังคมค่ะ" อลีนา ทิ้งท้าย