เปิดพื้นที่วัยใส เข้าใจเรื่องเพศ ใน talkaboutsex.thaihealth.or.th
ร่วมทดสอบความรู้ในเรื่องเพศ
สสส.จับมือศธ. เปิดพื้นที่วัยใส เข้าใจเรื่องเพศ ผ่านเว็บ Talk about sex ดึงเยาวชน-ผู้ปกครองสร้างทักษะชีวิตเรื่องเพศอย่างถูกต้อง ตะลึงเด็กไทยติดอันดับแม่วัยใสตั้งครรภ์ติดอันดับ 1 ในเอเชีย เผยผลสำรวจเอแบคโพล ชี้เด็กไทยยังขาดความเข้าใจในเรื่องเพศ พบ 65% ไม่รู้วิธีคุมกำเนิด 64% ไม่รู้วิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศ ยก 2 มาตรการแก้ปัญหา “ติดอาวุธทางปัญญา-เข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน”
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซด์ “Talk about sex : เปิดพื้นที่วัยใส เข้าใจเรื่องเพศ” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเพศให้กับเยาวชนในเรื่องเพศอย่างเหมาะสมและถูกต้อง
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล กล่าวว่า จากผลสำรวจเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพื่อเพศของเด็กและเยาวชนไทย: กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนไทยอายุ 9-18 ปี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา ระหว่างวันที่ 27 มกราคม- 3 กุมภาพันธ์ 2553 จำนวน 2,060 ตัวอย่าง พบว่า บุคคลที่เด็กและเยาวชนปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศในรอบ 30 วันที่ผ่านมา อันดับ 1 คือ เพื่อนสนิท สูงถึง 51% อันดับ 2 คือ พ่อแม่ 14% อันดับ 3 แฟน/คู่รัก 10 % ตามลำดับ
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เพื่อนที่ให้คำปรึกษายังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศที่ถูกต้อง โดยพบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ โดย 65% ไม่ทราบวิธีคุมกำเนิด มีเพียง 35% เท่านั้นที่ทราบวิธีคุมกำเนินอย่างถูกต้อง ซึ่งตัวอย่างอายุ 9-12 ปี ทราบวิธีคุมกำเนิดเพียง 10% อายุ 13-15 ปี ทราบเพิ่มขึ้นเป็น 34% และอายุ 16-18 ปี รับทราบ 60% ที่สำคัญคือ เยาวชนมากกว่าครึ่งหนึ่งคือ 64% ไม่ทราบวิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเพศหญิงที่ทราบวิธีป้องกันมากกว่าเพศชายแต่ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งคือ 39% ส่วนเพศชายทราบเพียง 33% เท่านั้น” นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวว่า สำหรับบุคคลที่เยาวชนคาดหวังว่าควรจะมีบทบาทในการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ อันดับ 1 คือ พ่อแม่/ผู้ปกครอง 60% ตามด้วยครู 45% และเพื่อนสนิท 25% อย่างไรก็ตามบุคคลที่เยาวชนตั้งใจจะไปปรึกษาด้วยพบว่า พ่อแม่/ผู้ปกครองยังเป็นบุคคลที่เยาวชนตั้งใจจะไปปรึกษาด้วยมากที่สุดถึง 59% รองลงมาคือปรึกษาเพื่อนสนิท 26% แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 19% และครูอาจารย์ 15% ตามลำดับ โดยมีเพียงส่วนน้อยไม่ถึง 5% ที่ไม่กล้าปรึกษาใคร อย่างไรก็ตามพบว่า เมื่อจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ยิ่งอายุมากขึ้นจะตั้งใจไปปรึกษาเพื่อนสนิท และแฟนเพื่มขึ้น ส่วนการปรึกษาพ่อแม่และครูจะลดลง ทั้งนี้คุณลักษณะของผู้ที่ให้ความรู้และให้คำปรึกษาในเรื่องเพศแก่เด็กและเยาวชน คือ ควรให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง รับฟังได้ทุกเรื่องราว ไม่ตำหนิที่อยากรู้เรื่องเพศหรือมีเพศสัมพันธ์ ควรรักษาความลับ ส่วนคุณลักษณะของสื่อที่ให้ความรู้ความเข้าใจควรมีข้อมูลเรื่องเพศทุกเรื่องที่เด็กและเยาวชนอยากรู้ มีช่องทางแสดงความเห็นหรือตั้งคำถาม ใช้ภาษาที่เยาวชนคุ้นเคย และเป็นสื่อที่ทันสมัย
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวว่า จากผลการสำรวจความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศของเยาวชนที่พบว่า เด็กวัย 9-12 ปี รู้เรื่องการคุมกำเนิดน้อยมาก สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่เตรียมตัวให้เขา เพราะเด็กวัยรุ่นตอนต้น ถ้าอยากรู้ในเรื่องนี้โดยไม่มีเกราะป้องกันอาจจะนำไปสู่การอยากลอง จึงควรให้ความรู้ในเรื่องเพศแก่เด็กตั้งแต่ก่อนเข้าวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการให้คำตอบความอยากรู้ของเด็กที่ว่า มนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร พร้อมกับสอดแทรกความรู้ที่ว่า เพศสัมพันธ์มีข้อดีข้อเสียอย่างไร รวมถึงทักษะการปฏิเสธเมื่อถูกชวนให้มีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นการติดอาวุธทางสติปัญญาเพื่อให้เด็กรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหากเลยจุดของความอยากรู้ แต่เป็นอยากลองโดยไม่มีความรู้ติดตัว ก็จะเกิดปัญหา
“วัย 9-12 ปี รู้เรื่องเพศค่อนข้างน้อย ผลที่เกิดขึ้นคือ รายงานจากยูนิเซฟ พบว่า สถิติแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีของไทย มีจำนวนสูงถึง 150,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดอันดับ1ในเอเชีย และจากผลการสำรวจในครั้งนี้ก็พบว่า เด็กรู้เรื่องการคุมกำเนิด การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่ำมาก ยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องเพศ เช่น การนับระยะปลอดภัยหน้า 7 หลัง 7 เพื่อป้องกันการท้อง แต่ยังไม่รู้ว่าหน้า 7 นับจากวันไหน หรือคิดว่าการหลั่งนอกทำให้ไม่ท้อง ซึ่งในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่มีสถิติการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่นต่ำที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนในสังคมมีทัศนคติเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ระบบโรงเรียนมีหลักสูตรเพศศึกษารอบด้านทั้งความรู้ในแต่ละกลุ่มวัยทำให้เด็กมีความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดี และมีช่องทางเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิดและป้องกันโรคที่หลากหลาย ทั้งในห้องพยาบาล และมีศูนย์สุขภาพวัยรุ่น ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ การติดอาวุธทางปัญญาด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกในเรื่องเพศว่าเป็นเรื่องปกติของชีวิต และการเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิดและป้องโรคทางเพศสัมพันธ์”น.ส.ณัฐยา กล่าว
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการสสส. กล่าวว่า สังคมไทยควรมีการสร้างทักษะชีวิตเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน สสส.โดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ร่วมกับแผนงานไอซีที และเครือข่ายครอบครัว จึงได้จัดทำเว็บไซด์ Talk about sex : เปิดพื้นที่วัยใส เข้าใจเรื่องเพศ (http://talkaboutsex.thaihealth.or.th) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชนในเรื่องเพศอย่างถูกต้อง โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจประกอบด้วย ความเข้าใจเรื่องเพศอย่างถูกต้องในภาษาวัยรุ่นที่เข้าใจง่าย ชุดทดสอบความเข้าใจในเรื่องเพศ กระดานถาม-ตอบ คลิปวีดีโอ เข้าใจสุขภาวะทางเพศ แหล่งข้อมูลและความรู้ นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กและเยาวชนยังคาดหวังต่อบทบาทของผู้ปกครองในการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ เว็บไซด์ดังกล่าวจึงมุ่งสร้างความเข้าใจในเรื่องเพศให้กับผู้ปกครอง เพื่อใช้ในการอธิบายให้กับบุตรหลาน โดยมีการสร้างการรับรู้ไปยังเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา 12 เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 122 โรงเรียน ซึ่งกระจายอยู่ในภาคเหนือ กลาง อีสาน และภาคใต้
นายศัจธร วัฒนะมงคล ผู้อำนวยการสำนักกิจการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ เห็นความสำคัญในการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กและเยาวชน เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษา โดยกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาและพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา พ.ศ.2551-2555 เป็นยุทธศาสตร์เฉพาะสำหรับประเด็นปัญหาเร่งด่วน ข้อ 1.3 ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาด้านการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำรวจพบว่า เด็กในวัยมัธยมศึกษามีเพศสัมพันธ์และมีอัตราคลอดสูงขึ้น โดยมุ่งพัฒนาการสอนเพศศึกษาให้เกิดรูปแบบและเทคนิคการให้คำปรึกษาที่มีความหลากหลาย และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างค่านิยมที่ถูกต้องในเรื่องการเรียนรู้เพศศึกษา ส่งเสริมความอบอุ่นในครอบครัวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาให้แก่เด็กและเยาวชน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในเรื่องเพศและการตั้งท้องก่อนวัยอันควร
นายศัจธร กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวคงต้องได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากภาคีเครือข่าย ทั้งการวิจัยและพัฒนา ทั้งการพัฒนาหลักสูตร การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรภาคเอกชนหลายแห่ง ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ ให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านทางเว็บไซด์ Talk about sex จึงได้ประชาสัมพันธ์การให้ความร่วมมือในเว็บไซด์ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ http://www.moe.go.th/ และเปิดการเชื่อมต่อไปยังหน้าเว็ปไซด์ของสำนักกิจการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ http://www.moe.go.th/snp/th/ เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังได้กระจายสื่อประชาสัมพันธ์เว็บไซด์ดังกล่าวไปยังห้องสมุดประชาชน ในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 900 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศที่ถูกต้อง ให้แก่เด็ก เยาวชน ครู อาจารย์ และผู้ที่สนใจต่อไป
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update 11-02-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์