เปิดประตูสู่โลกกว้าง ผ่าน “ค่ายสร้างสุข”

ปลูกจิตอาสา สร้างคนคุณภาพแก่สังคม

 

 เปิดประตูสู่โลกกว้าง ผ่าน “ค่ายสร้างสุข”

          “ดอกไม้…บานให้คุณค่า จงบานช้าๆ แต่ว่ายั่งยืน ที่นี่…และที่อื่นๆ ดอกไม้สดชื่น ยื่นให้มวลชน”

 

          เป็นท่อนหนึ่งของเพลง “ดอกไม้” ที่ดังกระหึ่มหอประชุมนันทยุทยานสโมสร อาคารของฐานทัพเรือกรุงเทพฯ ที่คนหนุ่ม-สาวชาวค่าย กว่า 200 ชีวิตร่วมกันบรรเลงขับร้องในงานกิจกรรม “ค่ายสร้างสุข”

 

          ถือเป็นกิจวัตรสืบเนื่องมาแล้ว 3 ปี ที่ผู้ใหญ่ใจดีอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิโกมลคีมทอง ได้เติมฝันของคนรุ่นใหม่ให้ใส่ใจสังคม ผ่านกิจกรรมการออกค่ายเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะ ที่เกิดขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง

 

          วีรินทร์วดี สุนทรหงส์ ผู้จัดการมูลนิธิโกมลคีมทอง อดีตคนค่าย เล่าว่า กระแสสังคมไม่ได้กลืนกินนักศึกษาไปทั้งหมด ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเล็งเห็นความเป็นไปของสังคมเราจึงเปิดให้การสนับสนุนกิจกรรมชาวค่ายดีๆ ในกลุ่มนักศึกษา

 

          เพราะหากเขาไม่ได้รับการสนับสนุนตรงนี้ก็คงต้องเปิดหมวกหรือเดินสายขอการสนับสนุนจากที่อื่นอยู่ดี ซึ่งครั้งแรกที่เปิดรับเราคาดหวังไว้ที่ 30 ค่าย แต่เราสามารถสนับสนุนได้ถึง 60 ค่าย โดยตั้งเงื่อนไขว่าค่ายจะต้องปลอดเปล้าและบุหรี่

 

          “การออกค่ายเป็นการอยู่ร่วมกันทำให้ได้เรียนรู้นิสัยใจคอของคนร่วมสังคม อีกทั้งได้สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนที่เด็กในเมืองอาจไม่เคยเห็น หลังจากการทำงานร่วมกันมา 3 ปี ทำให้เห็นว่านักศึกษาที่ทำงานค่ายได้เกิดการรวมตั้งในรูปแบบเครือข่ายทั่วประเทศ และมีเป้าหมายทำงานเพื่อสังคมและปลุกกระแสจิตสำนึกสาธารณะให้แพร่หลายมากที่สุด”

 

          เช่นเดียวกับ รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. สะท้อนว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่มีพลังแห่งการแสวงหา ถือเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ แต่การศึกษาในยุคนี้มีกรอบคิดเขาเห็นแก่ตัวจนลืมมองสังคมทั้งที่นับวันสังคมจะมีเส้นแบ่งความจนและความรวยมากขึ้น เรื่อยๆ แต่การอยู่ในสังคมบริโภคนิยมทำให้คนรุ่นใหม่มองความยากจนไม่ค่อยเห็นหรือเป็นเรื่องปกติ

 

          “การศึกษาบางครั้งก็ทำให้เราเห็นแก่ตัวดังนั้น สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการศึกษาคือ การได้เห็นโลกที่เป็นจริง ซึ่งถือเป็นการศึกษาทีสำคัญและยิ่งใหญ่ต่อการใช้ชีวิต ถ้าเราได้เห็นชีวิตอย่างที่เห็นว่าไม่มีส่วนไหนยิ่งใหญ่กว่า ส่วนรวมเราจะได้รู้ว่าชีวิตของเราสำคัญแค่ไหน”

 

          และหนึ่งในผลผลิตของชาวค่าย อย่างลิขิต จริตรัมย์ หรือ “เต้” นักศึกษาชายปีที่ 3 จากรั้วสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากคนที่ไม่เคยรู้จักการทำงานเพื่อสังคม จนกระทั่งได้ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทำให้เขาตั้งคำถามกับการดำรงชีวิต จนกระทั่งมีรุ่นพี่ชักชวนไปทำกิจกรรมใน “ชมรมอนุรักษ์พลังงานหารสอง” ของมหาวิทยาลัย

 

          “เต้” เล่าว่า การได้รู้จักเพื่อนที่ดีทำให้เขาได้รู้จักโลกของการ “ให้” มากกว่า “รับ” หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมออกค่ายสร้างอาคารให้แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารร่วมกับเพื่อนอีกหลายชีวิต ทำให้ได้รับรู้ถึงการปรับตัวเพื่อจะอยู่ร่วมสังคม เพราะหลังจากออกจากค่ายแล้วเขาได้เพื่อนที่ดีกลับมาอีกหลายคน

 

          ผลจากการออกค่ายเมื่อแรกเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้เมื่อเลื่อนขึ้นปีที่ 2 เขาจึงเกิดความกล้าที่จะสมัครเป็นประธานชมรมฯ เพื่อเป็นประธานค่าย …และการออกค่ายครั้งที่ 2 ของชีวิตนั้น เขาได้พาเพื่อนร่วมค่ายกว่า 60 ชีวิต ไปร่วมอุทิศจิตอาสาด้วยการทำฝายชะลอน้ำที่ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง

 

          ทำให้เขาเห็นความเป็นผู้นำที่แฝงเร้นอยู่ภายใต้ตัวเองมากขึ้น รู้จักวิธีการบริหารเงิน บริหารเวลา และบริหารคนที่ต้องใช้ความรู้สึกต่อความรู้สึกในการอยู่ร่วมกับ “คน”

 

          “กระบวนการการออกค่าย ทำให้ผมได้เจอปัญหาและฝึกแก้ปัญหาไปในตัว แตกต่างจากการมุ่งเรียนหนังสือเพื่อให้ได้ปริญญาอย่างเดียว การได้ทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมจึงเป็นการฝึกฝนให้เตรียมตัวเพื่อจะเป็นบัณฑิตอย่างแท้จริง เพราะหากจบออกไปแล้วเราก็พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับสังคมโดยไม่สร้างปัญหาให้กับส่วนรวม” เต้ เล่าอย่างภาคภูมิใจ

 

          กระบวนการที่เป็นประโยชน์และถือเป็นการสร้างคน เพื่อให้ก้าวเข้าสู่สังคมอย่างมีคุณภาพนี้ นพ.กำจร ตติยกวี คณะกรรมการแผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วและนวัตกรรม สสส. ผู้ใหญ่ใจดีได้ตกปากรับคำว่า โครงการนี้ที่มุ่งปลูกจิตอาสาให้กับคนรุ่นใหม่ๆ จะยังมีต่อไป เพื่อสร้างคนให้กลายเป็นคนมีคุณภาพ

 

          การที่คนรุ่นใหม่ได้รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสามัคคี ถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับช่วงที่บ้านเมืองมีปัญหาเรื่องความสามัคคี เพราะคนหนุ่ม-สาวในวันนี้ คือดอกผลที่จะพัฒนาสังคมไทยต่อไป

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

Update 27-01-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code