เปิดบ้านใหม่ ของคน (เคย) ไร้บ้าน
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
เราต่างคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “บ้านคือวิมานของเรา” แต่ภาพดังกล่าว ช่างแสนห่างไกลจากชีวิตของ “คนไร้บ้าน” กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตตามพื้นที่สาธารณะ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องหวาดระแวงกับภัยอันตรายและการถูกขับไล่ จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุข
แต่ปัญหาเหล่านี้น่าจะบรรเทาลงไป เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันทำพิธียกเสาเอก เพื่อเริ่มการก่อสร้าง “ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานี”
นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ให้ข้อมูลว่า ศูนย์ฟื้นฟูฯ คนไร้บ้านจังหวัดปทุมธานี ถือเป็นแห่งที่ 3 หลังจากเคยเปิดที่จังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่นมาแล้ว โดยที่นี่จะเป็นศูนย์รองรับคนไร้บ้าน ที่มาจากย่านจตุจักร ดอนเมือง หลักสี่ รังสิต ปทุมธานี และคนไร้บ้านบางส่วน จากศูนย์บางกอกน้อย สำหรับศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านดังกล่าว ได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุน จำนวน 30,108,420 บาท เพื่อดำเนินการซื้อที่ดินขนาด 2 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา และดำเนินการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาด 100 หน่วย คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 1 ปี จึงจะแล้วเสร็จ
ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เล่าให้ฟังว่า จำนวนคนไร้บ้านในพื้นที่ปทุมธานี พบว่ามีจำนวน 46 คน เป็นเพศชายร้อยละ 87 และเพศหญิงร้อยละ 9 ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน อายุ 40-59 ปี ซึ่งการทำให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงที่พักอาศัย ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เป็นแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานระดับสากล นั่นคือ “Housing First” เป็นแนวทางที่พิสูจน์แล้วว่า สามารถช่วยให้คนไร้บ้านสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
“การสร้างศูนย์พักคนไร้บ้านเป็นเหมือนฮาร์ดแวร์ ส่วนกระบวนการพัฒนาศักยภาพ การหนุนเสริมทักษะด้านอาชีพ ช่วยเหลือให้เขาสามารถลุกขึ้นมาดูแลตัวเองได้ เพื่อเตรียมความพร้อมกลับคืนสู่สังคม ป้องกันการกลับมาไร้บ้านซ้ำ จะเป็นเหมือนซอร์ฟแวร์” ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. อธิบาย
นางภรณี บอกอีกว่า กิจกรรมที่เราทำกับคนไร้บ้าน คือ การเสริมพลังให้เขากลับมามั่นใจในตัวเอง ว่าเขาก็มีศักยภาพเช่นเดียวกับคนอื่น หลังจากนั้นจึงค่อยเติมทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และทักษะการประกอบอาชีพ อย่างเช่นตอนนี้ที่ศูนย์คนไร้บ้านปทุมธานี ก็มีการปลูกผักปลอดสารพิษ ทำขนมหรือทำงานหัตถกรรมเล็กๆ น้อยๆ ออกมาขายให้กับชาวบ้านที่อยู่รอบชุมชน ซึ่งนอกจากจะไม่กลัวคนไร้บ้านแล้ว ชาวบ้านยังเป็นลูกค้าสำคัญที่ช่วยอุดหนุนสินค้า เพื่อให้คนไร้บ้านพึ่งพาตัวเองได้ เชื่อว่าแนวทางนี้จะทำให้เห็นคุณค่าในตัวเอง และกลับคืนสู่สังคมได้ในที่สุด
ขณะที่ นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ หรือ ลุงดำ ประธานสมาคมคนไร้บ้าน เล่าว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดคนไร้บ้านนั้น มีหลายสาเหตุ เช่น การไม่มีงานทำจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ บางคนถูกเลิกจ้าง ทำให้ไม่มีอาชีพ รายได้ไม่พอจะเช่าบ้าน บางคนมีปัญหาครอบครัว บางคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ พิการ มีโรคประจำตัว ครอบครัวรังเกียจหรือไม่พร้อมดูแล หรือเพิ่งออกจากคุก ไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมได้ ซึ่งการมีบ้านพักหรือศูนย์คนไร้บ้านรองรับจะทำให้คนไร้บ้านเหล่านี้มีที่ตั้งหลักชีวิต ถ้าหางานทำได้ หรือมีอาชีพ มีหน่วยงานต่างๆ มาสนับสนุน ก็จะทำให้คนไร้บ้านเหล่านี้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เปลี่ยนจากคนไร้บ้านให้เป็นคนมีบ้าน
“ผมถือว่าที่นี่เป็นศูนย์ตั้งหลักชีวิต แม้ว่าเราจะล้มลุกคลุกคลานมาจากที่ไหนก็แล้วแต่ แต่ที่นี่ทำให้เรามีที่ตั้งหลัก มีที่พัก คนที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยก็ออกไปหางานทำ หรือเก็บของเก่าขาย มีรายได้ก็มาออมเอาไว้เป็นทุนค้าขาย หรือสร้างบ้านเป็นของตัวเอง สร้างอนาคตใหม่ ไม่ต้องเร่ร่อนอีกต่อไป”
สำหรับศูนย์คนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานีแห่งนี้ ลุงดำ บอกว่า ที่นี่มีกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันเหมือนกับศูนย์คนไร้บ้านทั่วไป เช่น ห้ามดื่มสุรา ยาเสพติด ห้ามทะเลาะวิวาท ลักขโมย รักษาความสะอาด ฯลฯ ช่วยกันออกค่าน้ำ ค่าไฟ อยู่กันแบบพี่แบบน้อง พอเช้ามืดก็จะแยกย้ายกันไปทำงาน ส่วนใหญ่จะเก็บหาของเก่าตามถังขยะ เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุน คนที่แข็งแรงหรือมีฝีมือทางช่างก็จะไปรับจ้าง เป็นกรรมกรก่อสร้าง หรือรับจ้างทั่วไป
ขณะเดียวกันภายในศูนย์ฯ แห่งนี้ ยังมีการปลูกผักปลอดสารพิษ ทำโรงเพาะเห็ด โรงเลี้ยงไก่ไข่ และขุดบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งผลผลิตที่ได้จะเอาไว้บริโภคกันเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนที่เหลือจะนำไปขายให้กับชาวบ้านในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้สมาชิกออมเงิน เพื่อนำมาจัดสวัสดิการช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ เช่น คลอดบุตร ค่ารักษาพยาบาล การศึกษา และดูแลผู้สูงอายุ ส่วนคนไร้บ้านที่เร่ร่อนอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ หากใครอยากจะมาพักที่ศูนย์นี้ก็ต้องผ่านการรับรองจากสมาชิกก่อน และต้องยอมรับกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน
เชื่อว่าการเปิดศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านปทุมธานี จะเป็นจุดตั้งต้นชีวิตใหม่ให้กับคนไร้บ้าน ได้มีทักษะอาชีพสามารถพึ่งพาตนเอง และกลับสู่สังคมได้ในอนาคตต่อไป
ปิดท้ายกันที่ ผลงานโดยนักสื่อสารรุ่นเยาว์ที่ร่วมโครงการ Human of Street “1 วันกับโลกของคนไร้บ้าน” โดย สสส.ส่งเสริมให้คนทุกคนมีสิทธิ์และศักดิ์ศรี ในความเป็นมนุษย์ในสังคมอย่างเท่าเทียม เพราะแม้ต้นทุนในชีวิตคนเราอาจจะมีไม่เท่ากัน แต่คุณค่าชีวิตของแต่ละคนนั้นมีเท่ากัน