เปิดบริการรับยาที่ร้านยา ลดแออัดช่วงโควิด-19

ที่มา : แนวหน้า


เปิดบริการรับยาที่ร้านยา ลดแออัดช่วงโควิด-19 thaihealth


แฟ้มภาพ


เปิดบริการรับยาที่ร้านขายยาช่วงโควิด-19 ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดเสี่ยงโควิด-19 


จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีการแพร่กระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน สาเหตุส่วนหนึ่ง มาจากสถานที่เสี่ยงที่มีความแออัดของการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งโรงพยาบาล เป็นอีกหนึ่งสถานที่เสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นจุดรองรับการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงและรักษาผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้ป่วยทั่วไปยังต้องเดินทางเข้ารับบริการ พบแพทย์หรือรับยา มีความเสี่ยงได้รับเชื้อ


ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีโครงการบริการสุขภาพวิถีใหม่ (New normal) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นำร่องพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ในส่วนของบริการเจาะเลือดและเก็บสิ่งส่งตรวจนอกหน่วยบริการ และบริการระบบสาธารณสุขทางไกล หรือ Telemedicine รวมถึงโครงการรับยาใกล้บ้านและทางไปรษณีย์ เพื่อลดความเสี่ยง และลดความแออัดในสถานพยาบาล


โดยกรุงเทพมหานครให้บริการ 3 โครงการดังกล่าว ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ รพ.ลาดกระบังฯ รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.สิรินธร และ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน


ทั้งนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้เสนอผลการวิจัย ประเมินผลโครงการนำร่องให้ ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลระยะที่ 2 ซึ่งได้ทำการศึกษากลุ่มผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช และหอบหืด หรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล ซึ่งได้มีการขยายผลนำไปใช้ประโยชน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของผู้ป่วย


โดยปี 2563 ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาล เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ 141 แห่ง ร้านยาเข้าร่วมโครงการ 1,081 แห่ง เป็นจำนวนเกินกว่าเป้าหมายที่ สปสช. กำหนดไว้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จากการเก็บข้อมูลใน 15 โรงพยาบาล จาก 13 เขตสุขภาพ รวมถึงร้านยาที่เป็นเครือข่าย พบว่าโครงการมีประโยชน์ต่อผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ผู้ป่วยใช้เวลารอรับยาที่ร้านยาไม่นาน การเดินทางสะดวก ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและสามารถนัดหมายเวลาไปรับยาได้  เภสัชกรมีเวลาในการ อธิบายการใช้ยาให้กับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เป็นการลดความเสี่ยง ในการติดโรคระบาดได้ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19

Shares:
QR Code :
QR Code