เปิดนิทรรศการสื่อ สะท้อน 6 โจทย์สังคม
นักศึกษาเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม จากมหาวิทยาลัย 11 แห่ง 14 คณะ เปิดพื้นที่เรียนรู้แสดงนิทรรศการสื่อสะท้อน 6 โจทย์สังคม “เยาวชน-ผู้พิการ-เกษตร-ที่ดินทำกิน-ชาติพันธุ์-สิ่งแวดล้อม” ชูต้นแบบ “นวัตกรรมการปรับการเรียนการสอนจากโจทย์จริง” สร้าง “พลเมืองตื่นรู้” รับใช้สังคม
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่สยามสแควร์วัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สภาคณบดีศิลปศาสตร์แห่งประเทศไทย และภาคประชาสังคม จัดเวทีและนิทรรศการนำเสนอผลงานของนักศึกษา ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network for Change : UNC) ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมที่น่าอยู่ ขึ้นระหว่างวันที่ 20 -21 พฤษภาคม 2558 โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธาน และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานพร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ 14 คณะทีเข้าร่วมโครงการ และมอบประกาศนียบัตรแก่อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการทั้ง 14 คณะ
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เพื่อสร้างพื้นที่และวิธีการเรียนรู้ที่นำสังคมมาเป็นตัวตั้ง และนำปัญหาสังคมมาเป็นโจทย์ให้นักศึกษาที่เรียนด้านศิลปะการผลิตสื่อและการสื่อสารได้เรียนรู้ ได้วิเคราะห์ และออกแบบงานสื่อที่ตอบโจทย์สังคม เผยแพร่ผลงานออกสู่สาธารณะ และสร้างความตระหนักความเข้าใจปัญหาในสังคมให้แก่ผู้คนในสังคม ซึ่งมีการนำนิทรรศการดังกล่าวหมุนเวียนจัดแสดงยังสถานที่ต่างๆ ด้วย
“ปีแรกที่มีสถาบันการศึกษาลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU) ร่วมโครงการฯ เพียง 6 แห่ง ในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเพิ่มอีก 6 แห่ง 7 คณะ รวมเป็น 11 แห่ง 14 คณะ เพราะทุกคนเห็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเวทีเผยแพร่ผลงานด้านสื่อของนักศึกษาครั้งนี้ จะเป็นการสร้างกระแสให้สังคมเห็นตัวอย่างของมหาวิทยาลัยที่ร่วมกับภาคประชาสังคมในการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโจทย์จริงของสังคม ทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ ทั้งในด้านทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต และทักษะการผลิตสื่อ การมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น เข้าใจสังคม และมีสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ที่สำคัญได้สร้าง “พลเมืองตื่นรู้” อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในระยะยาว”รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า ก้าวสู่ปีที่ 2 โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อฯ มีความเข้มข้นขึ้น มีคณะต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมคิดร่วมกันขับเคลื่อนได้ชัดขึ้น จะเห็นว่าปีนี้หลายมหาวิทยาลัยเริ่มเอากิจกรรมแบบนี้ไปร้อยหรือไปหนุนการเรียนการสอนในคณะของตัวเอง และมีวิธีการจัดการที่ไม่เหมือนกัน ตรงนี้น่าสนใจที่เราจบกระบวนการแล้วเราน่าจะได้มาดูกันว่าเราจะได้เห็น “นวัตกรรมการปรับการเรียนการสอน”ออกมาที่หลากหลายอย่างไรบ้าง เป้าหมายคือแต่ละคณะปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนได้จริง
“กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ องค์กรต่างๆ ช่วยกันทำงานมีมากมาย ไม่ว่าที่ประชุมคณบดีด้านศิลปะ มสช.ที่เชื่อมภาคประชาสังคมเข้ามามีหลายมูลนิธิ หลายองค์กรและมี สสส.เข้ามาร่วมมูลนิธิสยามกัมมาจลสนับสนุนการทำงานครั้งนี้ จะเห็นว่าพวกเราต้องการที่จะเข้ามาหนุนกิจกรรมในมหาวิทยาลัยให้เกิดสิ่งที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยรับใช้สังคม ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนที่จะเชื่อมวิชาการ นักศึกษา มหาวิทยาลัย คณาจารย์กลับไปสู่สังคมได้ เราก็หวังว่าการทำงานร่วมกันครั้งนี้มันจะไม่ใช่แค่กิจกรรมที่จะมาเวิร์คช้อปเจอกันเท่านั้น แต่จะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคน ขององค์กร และก็นำไปสู่การร่วมมือกันที่จะทำงานในทิศทางที่เกิดประโยชน์กับมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักศึกษา และสังคมโดยรวมได้จริง”นางปิยาภรณ์ กล่าว
นางสาวธันย์ชนก เล็กวิริยะกุล สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การเข้าร่วมโครงการเป็นหลายอย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า คนเขามีปัญหา เพราะมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เขามาเป็น Case Study มาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตเขาให้ฟัง แบบเราได้เห็นอะไรที่เราไม่รู้มาก่อนเลยจริงๆ”
สำหรับผลงานของนักศึกษามีดังนี้ ประเด็นผู้พิการ 1. ชื่อผลงาน“Will share” คณะมัฑณศิลป์ ม.ศิลปากร 2.ชื่อผลงาน“My Right ความฝัน ขาฉัน ไดอารี่” คณะนิเทศศาสตร์ ม.อัสสัมชัญ 3.ชื่อผลงาน “ฉัน(ไม่)พิการ” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง นฤมิตศิลป์ ม.มหาสารคาม ประเด็นเด็กและเยาวชน 1.ชื่อผลงาน“Word can kill” คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ 2.ชื่อผลงาน “Creative shield” คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร 3.ชื่อผลงาน “จับต้นชนปลาย” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ประเด็นเกษตรกรรม 1.ชื่อผลงาน “Super Market” คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ 2.ชื่อผลงาน “ต่างปลูกต่างแปลง”คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ประเด็นที่ดินทำกิน ชื่อผลงาน“ที่ดินของใคร” คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.บูรพา ประเด็นแรงงานและชาติพันธุ์ 1.ชื่อผลงาน“คู่มือการใช้ชีวิตของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย” คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ 2.ชื่อผลงาน “(IM)PORTFOLIO พอร์ทโฟลิโอข้ามชาติ” คณะศิลปะและการออกแบบ ม.รังสิต ประเด็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 1.ชื่อผลงาน“ป่าชายเมือง”คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.ชื่อผลงาน“ท่าเปลี่ยน” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร 3.ชื่อผลงาน “เพราะมีค่ามากกว่า” คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี 4.ชื่อผลงาน“No Coal Save Krabi” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 5.ชื่อผลงาน“ท่าเทียบเรือปากบารา” คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและผลงานเยาวชนได้ที่ โซเชี่ยลมีเดีย Facebook : ThailandAcitveCitiZen Facebook : University Network for Change : UNC Facebook : มูลนิธิสยามกัมมาจล และ www.scbfoundation.com
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข