เปิดตำรา ฟินแลนด์เรียน-สอน ยังไงให้ฟิน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
ทำไม "ฟินแลนด์" ถึงเป็นโรงเรียนที่สนุกที่สุดในโลก? และทำไมฟินแลนด์ ถึงเป็นประเทศที่ เด็กเก่งติดอันดับโลก?
ไม่กี่ปีมานี้ จู่ๆ ชื่อของ "ฟินแลนด์" ก็กลายเป็นประเทศที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เมื่อระบบการศึกษาจากดินแดนเล็กๆ ที่มีอากาศหนาวสุดขั้วและมีประชากรเพียงแค่ห้าล้านกว่าคนนี้ กลับทำให้โลกต้องประหลาดใจกับความสามารถการเรียนรู้ ของนักเรียน ที่พิสูจน์แล้วด้วยผลคะแนน วัดความรู้ความสามารถระดับนานาชาติได้ที่เป็นอันดับต้นๆของโลกติดต่อกันหลายปี
เมื่อการศึกษาคือตัวชี้วัด "ความพัฒนาแล้ว" ของแต่ละประเทศ ทำให้ สปอตไลท์จากแวดวงคนที่สนใจเรื่องการศึกษาจึงฉายส่องไปยังฟินแลนด์ พร้อมๆ กับการตั้งคำถามที่ว่า อะไรคือ "กุญแจความสำเร็จ" ที่ทำให้เด็กๆ ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จกับการเรียนรู้ได้เช่นนี้
แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือ เชื่อหรือไม่ว่า จริงๆ แล้วนักเรียนชั้น ประถมศึกษาฟินแลนด์ใช้เวลาในห้องเรียนเพียง 626 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น! นับว่าน้อยกว่านักเรียนอื่นๆ ในหลายประเทศทั่วโลกทีเดียว รวมถึงประเทศไทย ที่วันๆ ลูกหลานบ้านเราถูกบังคับให้ต้องก้มหน้าก้มตาเรียนปีละกว่า 1,200 ชั่วโมง แต่ความรู้ความสามารถเด็กไทยกลับตกไปอยู่ อันดับเกือบรั้งท้ายโลก
ดังนั้นเพื่อเจาะลึกการสอนแบบฟินแลนด์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชิญคุณครูฟินแลนด์ตัวจริงเสียงจริง นีน่า นอร์ดมาน (Nina Nordman) ผู้มีประสบการณ์สอนกว่า 20 ปี ทั้งในฟินแลนด์และในสิงคโปร์มาเป็นวิทยากรพิเศษ ช่วยบอกเล่า เรื่องราว และเทคนิคการสอนฟินๆ สไตล์ฟินแลนด์ ผ่านกิจกรรมเวิร์คช็อปให้กับผู้ที่สนใจกว่า 60 ชีวิตเมื่อไม่นานมานี้
Teach Like Finland
อนึ่งกิจกรรม "สอนฟิน เรียนสนุก" คือ การต่อยอดผลงานแปลเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์บุ๊คสเคป ในชื่อ Teach Like Finland: สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ โดย ผู้เขียน Timothy D. Walker ครูชาวอเมริกัน ที่ย้ายไปทำงานที่ฟินแลนด์ และประทับใจกับระบบการศึกษาในประเทศนี้
Teach Like Finland: สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ เป็นหนังสือ ที่ยังได้รับคำแนะนำจาก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและผู้สนใจในระบบ การศึกษาว่า "เป็นเล่มหนึ่งที่ครูไทยควรอ่าน เพื่อให้รู้ว่ามีประเทศและโรงเรียนที่อีกซีกโลกหนึ่งเปลี่ยนแปลงตนเองได้ การเปลี่ยนแปลงนี้มิได้หมายถึงนวัตกรรมการศึกษาที่ทันสมัยแปลกใหม่พิสดาร ที่แท้แล้ววิธีเรียนวิธีสอนของฟินแลนด์มิได้มหัศจรรย์มากจนเกินไป พวกเขามีการสอนหนังสือและมีการบ้าน แต่ก็มีนวัตกรรมการสอนที่ไร้รูปแบบด้วย"
ซึ่งหากได้ลองสำรวจดูเนื้อหาที่ หนังสือเล่มนี้ จะพบว่า การเรียนฟินแลนด์คือการให้ความสำคัญในการจัดการปัจจัยแวดล้อมการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ นั่นเอง และข้อเท็จจริงนี้ นีน่ากำลังคอนเฟิร์ม ให้เราฟัง
'Dare to Dream'
"จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" ใครก็ๆ คงรู้จักวลีสุดฮิตที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เอ่ยไว้ และระบบการศึกษาของฟินแลนด์ กำลังสะท้อนให้เห็นว่า ไอน์สไตน์ไม่ได้กล่าววลีนี้แบบลอยๆ
จากประสบการณ์ของนีน่าในฐานะครู เธอบอกว่า ระบบการเรียนฟินแลนด์เป็นการ เรียนแบบที่ให้เด็กๆ "Dare to Dream" หรือให้ความสำคัญกับอิสระทางความคิดและจินตนาการของเด็กเป็นหัวใจหลัก โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย
เด็กฟินแลนด์จะมีอิสระกว่าในโลก การเรียนรู้ มีจินตนาการและมีความฝัน เพราะเชื่อว่าจะเป็นรากฐานสำคัญในการ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก
แน่นอนว่า คนเป็น "ครู" และโรงเรียน ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อ ส่งเสริมให้เด็กๆ พยายามค้นหาความฝัน หรือสิ่งที่ชอบ ซึ่งนำไปสู่การมีพัฒนาการ ที่เหมาะกับช่วงวัย
นีน่ายกตัวอย่างว่า ไม่ว่าเด็กจะฝันอยากเป็นหรืออยากทำอะไรก็ได้ ครูต้องมีหน้าที่ซัพพอร์ตจินตนาการของพวกเขา ให้มากที่สุด
"ไม่ว่าเด็กๆ จะฝันอะไร แม้แต่ฝันว่า อยากเจอยูนิคอร์น ครูก็ต้องช่วยสร้างบรรยากาศ หรือหาทางเนรมิตห้องเรียนให้เกิดขึ้นกับสิ่งที่พวกเขาคิดในจินตนาการพวกเขามากที่สุดให้ได้"
การมีพื้นฐานแนวคิดดังกล่าว จึงทำให้ รูปแบบการเรียนของฟินแลนด์เน้นที่การ "เล่น" เป็นหลัก เพื่อช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก และสมองจินตนาการ ซึ่งส่งเสริมพัฒนาการ ได้มากกว่าการนั่งท่องจำในห้องเรียน
"แต่ในระบบการเรียนในเอเชียมีโครงสร้างที่มีกรอบมากกว่า" นีน่าให้ความเห็น
ในฐานะครูผู้มีประสบการณ์การสอนกว่ายี่สิบปีทั้งในฟินแลนด์และสิงคโปร์ "นีน่า" เปรียบเทียบถึงรูปแบบการเรียนที่แตกต่างระหว่างเอเชียและฟินแลนด์ให้ฟังว่า ที่ฟินแลนด์จะเริ่มสอนเด็กให้อ่านหนังสือที่อายุ 7 ขวบขึ้นไป ขณะที่ไทย รวมถึงหลายประเทศในเอเชียเริ่มการเรียนตั้งแต่ วัย 3-5 ขวบ และบางรายต้อง เรียนอย่างหนักทั้งในห้องเรียนและ เรียนพิเศษ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการบล็อก ความคิดจินตนาการเด็ก
เธอยืนยันว่า ความเชื่อของพ่อแม่เอเชียที่ลูกต้องเรียนรู้ไวๆ ไม่ใช่ความคิด ที่ถูกต้อง เพราะพัฒนาการเด็กในวัยนี้ ไม่เหมาะกับการอ่าน หรือมานั่งจดจำ ตัวหนังสือเลยสักนิด ที่สำคัญมีเด็กเอเชียไม่น้อยที่น่าสงสารเพราะต้องโดนคำสั่งและการบังคับให้เรียนมาตั้งแต่เด็ก
"จากประสบการณ์ของดิฉันเอง คุณแม่ไม่ได้ส่งไปเรียนชั้นอนุบาลด้วยซ้ำ ดิฉันได้เข้าโรงเรียนครั้งแรกตอนอายุ 7 ขวบ ในชั้นเกรด 1 และได้เรียนภาษาอังกฤษตอนเกรด 3 ปัจจุบันดิฉันสามารถพูดได้ 3 ภาษา และประสบความสำเร็จในการงานที่รัก ดิฉันโตมาในระบบนี้" นีน่าเล่า
เธอวิเคราะห์ว่าเด็กเอเชียควรได้รับ เปิดโอกาสให้เด็กได้มีอิสระทางความคิด มากขึ้น เพราะเมื่อเขาสามารถกล้าที่จะฝัน และมีอิสระได้ทำในสิ่งที่ต้องการหรือมีความสนใจ เด็กจะพยายามฝ่าฟันให้ฝันที่เขา ต้องการเป็นจริง การทำให้เด็กมีความฝัน จึงทำให้เด็กมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า
"ปัจจุบันดิฉันอยู่ในสิงคโปร์ แต่ในฐานะของแม่ เป็นเรื่องลำบากใจสำหรับดิฉันมากที่จะส่งลูกตัวเองวัย 4 ขวบไปเรียนสารพัด ทั้งวิชาการ เปียโน ฯลฯ เหมือนพ่อแม่ที่นี่ทำกัน" เธอเล่าติดตลก
การเรียน = ความเสมอภาค
อีกความได้เปรียบที่ฟินแลนด์คือ ในฟินแลนด์ทุกคนมีโอกาสเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา เนื่องจาก ภาครัฐสนับสนุนทุนการเรียนไปถึงระดับปริญญาตรี
แต่สำหรับในเอเชียเธอยอมรับว่าเรื่องนี้ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ แม้แต่ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีโอกาสทางการศึกษา มากขึ้น โดยเด็กชั้นประถมวัยได้เรียนฟรี แต่ทุกคนก็ต้องมีเงินสำหรับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงนอกจากนี้ ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ ทำให้เด็กเอเชียส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนสิ่งที่ตนเองอยากเรียนแท้จริง เช่น การเรียนศิลปะ เพราะพวกเขาต้องเลือกสายวิชาชีพที่สร้างรายได้สูง หรือเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
"ในความเป็นจริง การที่คนเราจะประสบความสำเร็จ อาจไม่ใช่แค่ด้านวิชาการอย่างเดียว แต่เป็นศิลปะก็ได้ แต่เอเชียยังมีค่านิยมแบบนี้อยู่ไม่น้อย" นีน่าเอ่ย
แม้การแก้ปัญหาการศึกษาไทยเป็นเรื่องใหญ่ที่ "ระดับโครงสร้าง" และไม่ได้ปรับเปลี่ยนกันง่ายๆ แต่คงไม่ผิดใช่ไหม ถ้าเราจะมองหาระบบการศึกษาในฝันที่เราอยากได้และอยากมี?