เปิดตัว “โครงการเมืองเดินได้เมืองเดินดี”
UddC – สสส. – จุฬาฯ จับมือเปิดตัว “โครงการเมืองเดินได้เมืองเดินดี” กระตุ้นกิจกรรมทางกายทุกช่วงวัย สร้างสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการเดิน “ศ.ดร.ยงยุทธ” ชี้ก้าวแรกเปลี่ยนกรุงเทพฯ สู่เมืองที่เป็นมิตรต่อการเดินและเมืองน่าอยู่สำหรับคนทุกคน
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิด “โครงการเมืองเดินได้ – เมืองเดินดี” ว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาสุขภาพของคนไทย โดยพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เน้นการป้องกันโรคมากกว่าการรักษา อาทิ การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตลอดช่วงวัยโดยการสร้าง Health Mindset การพัฒนาเมืองและพื้นที่เพื่อสุขภาพ ซึ่งตนในฐานะประธานกองทุน สสส. มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ปี 2558 ส่งเสริมให้ทุกคนมีวิถีชีวิตกระฉับกระเฉงด้วยการมีกิจกรรมทางกายเป็นวิถีชีวิต ด้วยการเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายทุกช่วงวัย เน้นการส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมและพื้นที่ที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย อาทิ พื้นที่ทั้งภายนอกและภายในอาคาร การเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนและทางสัญจร การพัฒนาพื้นที่เพื่อการออกกำลังกายและนันทนาการต่างๆ สอดคล้องกับโครงการเมืองเดินได้เมืองเดินดี ที่สนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายเป็นวิถีชีวิตด้วยการเดิน ด้วยฐานข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมเชิงพื้นที่ และผังเมือง ที่สามารถผลักดันในระดับยุทธศาสตร์นโยบายชาติ ทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ในการร่วมกันผลักดัน และส่งเสริมให้โครงการฯ เป็น “ก้าวแรกสู่การเปลี่ยนเมืองกรุงเทพมหานคร” ให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อการเดินและเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนทุกคน
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “เมืองเดินได้ ให้ใครเดินดี?” ว่า สสส. ร่วมมือกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย ดำเนินโครงการ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” เพื่อสนับสนุนนโยบายสุขภาพด้วยการเดิน สามารถทำได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อคนเดิน ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมสุขภาวะให้กับคนเมืองเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกิดการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนทั่งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมด้วย
ผศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ หัวหน้าภาควิชาภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการเมืองเดินได้ – เมืองเดินดี เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกระบวนการและกลไกในการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานครไปสู่เมืองเดินดี (Walkable city) หรือเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การเดิน จักรยาน และระบบขนส่งมวลชนเป็นวิธีการหลักในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นกรุงโตเกียว กรุงลอนดอน เมืองพอร์ตแลนด์ เป็นต้น เมืองเหล่านี้ ล้วนเป็นเมืองที่ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง สภาพแวดล้อมน่าอยู่ เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าผลการศึกษาของโครงการฯ จะเป็น “นวัตกรรมเมือง” (City innovation) ที่สามารถเป็นฐานข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเมือง (Urban Data) และยังมีประโยชน์ในเชิงการต่อยอดการศึกษาการวิจัย ที่เกี่ยวข้องได้อย่างหลากหลาย อาทิ งานด้านการออกแบบพัฒนาเมือง ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนด้านการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในเมือง เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนบริบททางกายภาพและเศรษฐสังคมของเมือง ให้สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
ด้านผศ. ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวว่า “โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี” มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเมืองเดินดีให้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งสิ้น 2 ปี แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนที่ศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการที่ส่งเสริมการเดินเท้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 การกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับใช้เป็นพื้นที่นำร่อง และดำเนินการสำรวจสภาพปัญหาของพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางในการออกแบบ และระยะที่ 3 การเสนอผังการพัฒนาพื้นที่นำร่องให้เหมาะสมกับการเดินที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งปัจจุบัน โครงการฯ อยู่ในระยะที่ 1 ซึ่งศูนย์ฯ ได้พัฒนาดัชนีชี้วัดและแผนที่ศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการที่ส่งเสริมการเดินเท้า และอยู่ในช่วงระหว่างการพัฒนาเว็บไซต์ GoodWalk.org เพื่อเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวสู่สาธารณะ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข