เปิดตัว “เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน” เสนอ ระบบบำนาญถ้วนหน้า

ขยายคลุมแรงงานนอก-ในระบบ

เปิดตัว “เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน” เสนอ ระบบบำนาญถ้วนหน้า

 

          เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่โรงแรมเอเชีย เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) ได้จัดให้มีการเปิดตัว เครือข่ายบำนาญภาคประชาชนซึ่งประกอบด้วยแรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรพันธสัญญา  ผู้ขับแท็กซี่  ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กลุ่มคนคุ้ยขยะ เครือข่ายแรงงานชุมชน กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อนหญิง และเครือข่ายนักวิชาการด้านบำนาญชราภาพ นอกจากนั้นมีการเสวนาเรื่อง บำนาญแห่งชาติถ้วนหน้าที่ไม่เหลื่อมล้ำ  

 

          รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันอยู่ เพื่อสร้างหลักประกันทางการเงินยามชราภาพให้กับแรงงานนอกระบบที่มีอยู่กว่า 23 ล้านคน แต่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดที่ต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมคือ  1. ควรครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างเอกชนที่ได้รับสิทธิ์ประกันสังคมด้วย เพราะเมื่อแรงงานดังกล่าวเปลี่ยนไปอยู่นอกระบบอาจทำให้สิทธิ์เดิมที่ได้รับเปลี่ยนแปลงไปด้วย 2. ควรเน้นเรื่องสวัสดิการควบคู่ไปด้วย เช่น การสร้างสวัสดิการบำนาญชราภาพ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นต้น และ 3. ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในระดับคณะกรรมการนโยบายกองทุนและคณะกรรมการสรรหาผู้บริหารกองทุน รวมถึงคณะกรรมการชุดอื่นๆด้วย

 


          กองทุน กอช.ของรัฐบาล ดำเนินการแบบสมัครใจออมขั้นต่ำเดือนละ 50 บาท และรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้ด้วยตามอายุของผู้ออม หากสมาชิกมีปัญหาทางการเงินก็สามารถจ่ายแค่เงินสะสม แต่จะไม่ได้รับเงินสมทบของรัฐ จะได้เงินบำนาญตลอดชีพตั้งแต่อายุ 60 ปี โดยขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของการจ่ายเงินสะสม เงินสมทบจากรัฐบาล และผลตอบแทนจากการลงทุนที่กองทุนฯ นำไปบริหารจัดการรศ.ดร.วรเวศน์ กล่าว


 

 

          ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แรงงานที่อยู่ในระบบที่มีสิทธิในกองทุนชราภาพ ประกันสังคม จะไม่ได้รับสิทธิออมในร่าง พ.ร.บ.กอช. ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำนาญแห่งชาติ ที่ภาคประชาชนนำเสนอจึงเป็นทางออกในเรื่องหลักประกันสวัสดิการยามชราที่แท้จริง แม้ว่าขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.กอช. อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่รัฐบาลสามารถนำเสนอร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำนาญแห่งชาติ คู่ขนานกันไปเพื่อเติมเต็มให้กับร่าง พ.ร.บ.กอช. ทั้งนี้แม้ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ในเรื่องของสัดส่วนการร่วมออมของประชาชนกับรัฐก็ไม่ใช่ปัญหา หากรัฐบาลเห็นชอบในเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำนาญฯ แล้ว ก็สามารถมาหารือในรายละเอียดได้

 

          ด้านนางสุจิน รุ่งสว่าง ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม. กล่าวว่า ถ้าไม่มีกองทุนบำนาญในยามชรา สิ่งเดียวที่รัฐบาลให้คือ เบี้ยยังชีพคนชรา 500 บาท/เดือน ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่สามารถมีชีวิตที่ดีมีคุณภาพได้ ดังนั้นเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน ขอเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ 1. ขอให้เร่งผลักดันให้ ร่าง พ.ร.บ.กอช. เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ให้ทันสมัยการประชุมนี้ 2. พิจารณาระบบบำนาญทั้งระบบที่มีอยู่ให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างมีศักดิ์ศรี และมีระบบที่เอื้อต่อการเข้าถึงที่เป็นธรรม 3. เอื้อต่อคนทำงานทุกกลุ่มทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคม และนอกระบบประกันสังคม ให้สามารถเข้าสู่ระบบกองทุนได้อย่างเสมอภาค และ 4. พิจารณาถึงแนวทางการบูรณาการระบบหลักประกันทางสังคมและรายได้ร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและความสับสนของกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากทุกนโยบาย ทั้งนี้ในเร็วๆ นี้เครือข่ายภาคประชาชนจะเข้าพบ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เพื่อขอสนับสนุนต่อไปด้วย

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

 

Update: 17-08-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

Shares:
QR Code :
QR Code