เปิดตัว “คู่มือชุมชนปลอดภัย” ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
ที่มา : ข่าวสด
ภาพประกอบจาก สสส.
แม้บ้านจะได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่อาจไม่ใช่กับทุกครอบครัว เพราะจากข้อมูลของ ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่า สถิติของผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ช่วงเดือน ต.ค. 2562 – เม.ย. 2563 ทั้งสิ้น 141 ราย
แบ่งออกเป็น ความรุนแรงทางร่างกาย 87% ทางเพศ 9% และทางจิตใจ 4% โดยมีปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ ยาเสพติด 35% บันดาลโทสะ 33% หึงหวง 25% สุรา 17% เท่ากับการล่วงละเมิดทางเพศ 17% อาการจิตเภท 9% และจากเกม 2% ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ภาคกลาง อีสาน ใต้ เหนือ และ กทม. ตามลำดับ ขณะที่ สถิติความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2559 – ถึง เม.ย. 2563 พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1,400 ราย/ปี หรือ 118 ราย/เดือน เฉลี่ย 4 ราย/วัน
นางสาวกรรณนิกา เจริญลักษณ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ สค. ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) จัดทำคู่มือ "การสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน" เพื่อมุ่งสร้างพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัวสำหรับเด็กและสตรี
โดย นางสาวกรรณนิกา เจริญลักษณ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ พม. กล่าวว่า การจัดทำคู่มือดังกล่าว ถือเป็นแนวทางในการทำงานในชุมชนสำหรับ พมจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างพื้นที่ปลอดภัย ทำงานระดับพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา สค. ได้ดำเนินการช่วยเหลือในระดับพื้นที่ มีทีม One Home ทำหน้าที่ดูแล ช่วยเหลือ เยียวยา โดยมีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เป็นกลไกขับเคลื่อน ปัจจุบันมี 7,149 แห่ง ทำหน้าที่เฝ้าระวังเด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรง เปิดศูนย์ฝึกอาชีพสตรี 8 แห่งทั่วประเทศ สร้างอาชีพ พร้อมให้ทุนในการฝึกอาชีพ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สำหรับคู่มือการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน ได้รวบรวมบทเรียนต่างๆ ที่สามารถลดความรุนแรงได้ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจบริบทของแต่ละพื้นที่ในการทำงานมากขึ้น นำไปสู่การถอดบทเรียนจากแกนนำในชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับสถานการณ์ความรุนแรงในชุมชน รวมถึง จัดทำคู่มือปฏิบัติงานในระดับชุมชน พัฒนาข้อมูลทั้งจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) สถานีตำรวจ และการรับเรื่องร้องทุกข์ของ พม. เพื่อให้รวมเป็นฐานเดียวกัน" นางภรณี กล่าว
สำหรับตัวอย่างชุมชน ที่ดำเนินการและสามารถแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้สำเร็จ ได้แก่ ชุมชนไทยเกรียง อ.พระประแดง จ.สมุนทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม มีประชากรหลากหลายกว่าหมื่นหลังคาเรือน จำนวน 9 หมู่บ้าน โดยการเดินหน้าและผลักดันของ ป้ากุ้ง – อรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา
ป้ากุ้ง เล่าว่า ตนได้ทำงานร่วมกับชุมชนจึงรู้ต้นเหตุปัญหาความรุนแรง คือแอลกอฮอล์ จึงเริ่มทำโครงการลด ละ เลิก เหล้า : ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ในปี 2547 จากกลุ่มคนเล็กๆ รอบโรงงานประสานงานกับประธานชุมชน ส่งอาสาสมัครลงพื้นที่ โดยกลุ่มอาสาสมัคร คือ ผู้ชายที่เคยติดเหล้า และผู้หญิงที่เคยถูกใช้ความรุนแรง รวมถึงจัดโครงการแยกกลุ่มพูดคุยกับพ่อบ้าน และแม่บ้าน สร้างความเข้าใจในเชิงบวก จนเกิดบุคคลต้นแบบเลิกเหล้าเป็นแกนนำหลัก เกิดการขับเคลื่อนการคุ้มครองทางสังคม พัฒนา ขยายผล ยกระดับเป็นบรรทัดฐานทางสังคมใหม่
ทั้งนี้ การพัฒนาของชุมชนไทยเกรียง ถือเป็นต้นแบบการยกระดับจาก "คุ้มครองแรงงาน" สู่ "งานคุ้มครองทางสังคม" ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกรูปแบบทั้งผลกระทบ จากการดื่มเหล้า ความรุนแรงในครอบครัว เพศ ควบคู่กับการพัฒนาสวัสดิการทางสังคมของกลุ่มแรงงาน ถือเป็นการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตรูปแบบหนึ่ง นำไปสู่การคุ้มครองทางสังคม