เปิดตัวโครงการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษา สร้างความเข้าใจด้านการคุ้มครองเด็ก
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
เปิดตัวโครงการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงาน ด้านการคุ้มครองเด็กของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย สสส.ร่วมเสริมศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็ก เชื่อพัฒนาความรู้ต้องคู่ดูแลจิตใจ งานจึงจะมีประสิทธิภาพ
กองบริหารการสาธารณสุข ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก (FACE Foundation – Fight Against Child Exploitation) จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและกลไกพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็กของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจในการเข้าร่วมโครงการ ให้กับบุคลากรศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายทางสังคมต่างๆ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การปฏิบัติงานด้านการให้ความช่วยเหลือเด็กที่ถูกทำร้ายและละเลยทอดทิ้ง ในระยะเวลา 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ 2550 โดยมุ่งเน้นการกำหนดบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กในทุกระดับ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้รับการดูแลตามมาตรฐานขั้นต่ำที่เหมาะสมกับวัย โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของศูนย์พึ่งได้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีโอกาสพบเจอกลุ่มเด็กที่เข้ารับความช่วยเหลือจากการถูกทำร้ายและละเลยทอดทิ้ง ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะเกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติงานคุ้มครองเด็ก
บุคลากรผู้รับผิดชอบงานศูนย์พึ่งได้ ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
1) โรงพยาบาลศูนย์
2) โรงพยาบาลทั่วไป
3) โรงพยาบาลชุมชน
4) หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายทางสังคม
โดยมีองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิในการให้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งมีความเข้าใจ ในการดำเนินงานด้านการคุ้มครองเด็กและสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานทางด้านอารมณ์ จิตใจในการปฏิบัติงาน ปัญหาความเครียดความกังวล และ ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การทำงานด้านการคุ้มครองเด็กมีความซับซ้อน และส่งผลกระทบทั้งทางกายและจิต ต่อผู้ปฏิบัติงานสสส. เห็นว่าการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็กควรเน้น
1) การเฝ้าระวัง
2) ป้องกัน
3) การช่วยเหลือ
4) การฟื้นฟูเยียวยาเด็ก
“สสส. ให้ความสำคัญกับบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ว่าควรได้รับการดูแลสนับสนุนทางด้านอารมณ์จิตใจ รวมถึงการจัดการความเครียด ความกังวล และปัญหาสุขภาพจิต ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัว จึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ทั้งความรู้ ทักษะ และรูปแบบการทำงานกับเครือข่าย เพื่อสร้างกระบวนการพัฒนา เสริมสร้างความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่ทัศนคติ ความรู้รวมถึงทักษะในการทำงานเชิงลึกกับเด็กและเยาวชนร่วมด้วย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว