เปิดตัวเครื่องมือใหม่ “HeHa” สร้างสุของค์กรสุขภาวะ รับมือ AEC
สสส. จับมือ ภาคี Happy Workplace แสดงนวัตกรรมสร้างองค์กรสุขภาวะ รับมือ AEC และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง 7 ด้านในอนาคต พร้อมเปิดตัวเครื่องมือใหม่ “HeHa” สร้างสุขทุกสถานการณ์ เผยมีองค์กรทุกประเภทเข้าร่วมแล้วกว่า 4,000 องค์กร
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และภาคีความร่วมมือด้านการสร้างองค์กรแห่งความสุขทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมจัดสัมมนาวิชาการเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ “Happy Workplace Forum 3.1 ความสุขทุกสถานการณ์” มีผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมกว่า 1,000 คน
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า งานนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผลองค์กรสุขภาวะ(Happy Workplace) ซึ่งดำเนินการมากว่า 5 ปีแล้ว ปัจจุบัน มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 4,000 องค์กรเข้าร่วม นำ 5 เครื่องมือสร้างสุขไปใช้ ได้แก่ 1.Happy Model ต้นแบบจำลององค์กรสุขภาวะ 2.Happy Workplace Index เครื่องมือวัดสุขภาวะระดับองค์กร 3.Happinometer เครื่องมือวัดสุขภาวะระดับบุคคล 4.Happy Workplace ROI เครื่องมือวัดผลตอบแทนทางธุรกิจ และ 5.Happy 8 Menu กล่องแห่งความสุข 8 ประการ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
นอกจากนี้ สสส. ร่วมกับ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา วิจัย “ภาพอนาคตของสถานที่ทำงานในประเทศไทย ปี 2575” เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันสู่การปฏิบัติจริงในการเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานในอนาคต เช่น การขาดแคลนแรงงาน ขาดแคลนพลังงาน ปัญหามลพิษ ความหลากหลายด้านวัฒนธรรมในองค์กร เป็นต้น
“สสส.ร่วมกับนักวิชาการจัดนิทรรศการและแสดงตัวอย่างแนวทางการดำเนินสู่องค์กรแห่งความสุขทั้งจากภาครัฐและเอกชน นวัตกรรมแห่งความสุขจะทำให้องค์กรทุกประเภทอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญสถานการณ์ใดในอนาคตก็ตาม” ทพ.กฤษดา กล่าว
ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องภาพอนาคตของสถานที่ทำงานในประเทศไทย ปี 2575 พบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 7 ด้าน ได้แก่ 1.คุณสมบัติและลักษณะของคนทำงาน จะขาดแคลนแรงงานฝีมือเนื่องจากประชากรนิยมอยู่เป็นโสดหรือไม่มีบุตรมากขึ้น 2.ลักษณะงาน จะเกิดงานใหม่จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น การผลิตชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ ศัลยแพทย์เพิ่มหน่วยความจำ 3.ผลตอบแทน จะมาจากผลงานเป็นหลัก สวัสดิการแรงงานสูงอายุและหลังเกษียณจะเป็นแรงกดดันที่สำคัญ 4.โครงสร้างองค์กร จะปรับระบบบริหารและกฎระเบียบรองรับแรงงานที่หลากหลาย
ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า 5.ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคลากรจะกลายเป็นประเด็นสำคัญ 6.สภาพแวดล้อมทางกายภาพ สำนักงานแบบตายตัวจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร 7.วัฒนธรรมองค์กร จะเกิดการยอมรับความแตกต่าง เกิดค่านิยมการทำงานไปพร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวันและทำงานตลอดเวลาผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงบริบทและสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการดังกล่าว จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ โดยองค์กรต่างๆ ควรทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และวางแผนรองรับทั้งโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาองค์กรให้เข้มแข็งไม่ว่าสถานการณ์ใด คือการส่งเสริมให้บุคลากรทำงานอย่างมีความสุข
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข