เปิดตัวเครือข่ายรณรงค์หยุดการพนัน

หลังพบปชช. 70% ยันพนันบอลโลก

 

เปิดตัวเครือข่ายรณรงค์หยุดการพนัน 

โพลล์รับบอลโลก 2010  เกือบ 70%  ยันพนันแล้วเชียร์มันส์ขึ้น เตรียมควักเงินเดือน-ค่าขนมไปเรียน มาแทงเสี่ยงดวง จับตา 50% เตรียมแทงผ่านโต๊ะบอลมากสุด  ตามด้วยคนเดินโพย และร้านที่ถ่ายทอดสด 22% ไม่หวั่นเงินหมด กู้แทงต่อได้ เกือบ 20% ตั้งตาดูทุกคู่ชัวร์  เกือบ 40% ยันคนเล่นกันเกร่อ เปิดตัวเครือข่ายรณรงค์หยุดการพนัน เตรียมยื่นหนังสือ 4 หน่วยงานคุมเข้ม ชี้ต้องรณรงค์ระยะยาว ปรับปรุงกฎหมายต้านพนันใหม่

 

ที่ลานกิจกรรมหน้าห้างเซ็นทรัล  ลาดพร้าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์หยุดการพนัน จัดกิจกรรมและแถลงข่าว เชียร์บอลไม่พนันโดย นางกีรติกา แพงลาด ผู้แทนศูนย์ประสานงานเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา (ศปค.) กล่าวว่า ศปค. ร่วมกับ สสส. และ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจพฤติกรรมและทัศนคติต่อการเล่นพนันฟุตบอลโลกปี 2553  ในประชาชนอายุ 12-60 ปี เขตกรุงเทพฯ ชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา จำนวน 2,541 ราย เมื่อวันที่ 4 -14 พ.ค.2553  พบในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 10.1% ติดตามการถ่ายทอดฟุตบอลเป็นประจำ 40.6% ติดตามบางครั้ง ส่วนสื่อที่ตั้งใจจะติดตามในการแข่งฟุตบอลโลกปีนี้คือ โทรทัศน์ 97.9% อินเทอร์เน็ต 14.8%  วิทยุ 9.1% โทรศัพท์มือถือ 4.3%

 

กลุ่มตัวอย่าง 66.1% จะติดตามดูเฉพาะทีมที่เชียร์ อีก 18.1% บอกจะดูทุกคู่ ส่วน 15.8% จะดูเฉพาะนัดสำคัญๆ โดยส่วนใหญ่ดูที่บ้านของตัวเอง รองลงมาคือบ้านเพื่อนตามด้วยร้านอาหาร ซึ่ง 49.1% ตั้งใจจะดูกับเพื่อน 41.7% จะดูกับครอบครัว 37.7% ดูคนเดียว สำหรับค่าใช้จ่ายที่คิดว่าจะเพิ่มในช่วงดูบอลโลก 5 อันดับแรก 1.ค่าไฟฟ้า 2. ซื้อขนมขบเคี้ยว 3.ซื้อหนังสือพิมพ์/ นิตยสารเพื่อติดตามข่าวสาร 4.ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5.ซื้อไปรษณียบัตรทายผล เมื่อถามถึงพฤติกรรมการเล่นพนันในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง 41% ยอมรับว่าเล่น ซึ่งเล่นหวยใต้ดินมากที่สุด 23.1% ไพ่ 10.4% ทายผลฟุตบอล 10.3% ไฮโล 2.8% น้ำเต้าปูปลา 2.6%นางกีรติกา กล่าว

 

นางกีรติกา แพงลาด  กล่าวว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 16.6% เคยเล่นพนันทายผลฟุตบอล ในจำนวนนี้เกินครึ่งคือ 53.8 ยังเล่นอยู่ ปัจจัยที่ทำให้เล่นพนันคือ  เชียร์สนุกขึ้น 68.6%  เล่นตามเพื่อน/ ครอบครัว/ คนรัก 37.1%  อยากได้เงิน 23.8% วิธีการที่จะเล่นพนันบอลปีนี้คือ 50.9% จะแทงที่โต๊ะบอล 32.7% แทงผ่านคนเดินโพย 14.5% เล่นกับผู้ที่มาชมตามสถานบันเทิงที่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอล 13.1% โต๊ะบอลผ่านทางโทรศัพท์ 9.1% อินเตอร์เน็ต กลุ่มคนที่คาดว่าจะเป็น

 

ส่วนแหล่งเงินที่จะนำมาเล่นพนัน  76.7% บอกว่าเงินเดือนที่ได้จากทำงาน 21.6%  เงินออม 13.4% ค่าขนมที่ผู้ปกครองให้ ที่น่าห่วงคือกลุ่มตัวอย่าง 22% ระบุถึงแม้เงินที่เตรียมไว้เล่นจะหมด แต่การแข่งขันยังมีอยู่ ก็จะหามาเพิ่มไม่เว้นแม้การกู้ยืม ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่าง 37.6% เคยเห็นคนเล่นพนันด้วยตนเอง โดย 28.5% มีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดเล่นพนันบอล กลุ่มตัวอย่างบอกว่าเคยเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เช่น โกหก/ล่อลวงคนใกล้ชิดเพื่อนำเงินไปเล่นพนันฟุตบอล 21.2%  ต้องขายรถ/ขายบ้านเพื่อนำเงินไปใช้หนี้หรือเล่นพนันฟุตบอล 4.3% ลักทรัพย์/ชิงทรัพย์ 4.1% หย่าร้าง/ครอบครัวแตกแยก 3.2% ทุจริต/โกงเงินของหน่วยงาน 2.9%  นางกีรติกา  กล่าว

 

นายธนากร  คมกฤส  ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดการพนัน กล่าวว่า กลุ่มที่น่าห่วงคือเด็กและเยาวชน ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อฟุตบอลโลกครั้งก่อน พบเด็กมัธยมเข้าสู่การพนันถึง 25% เชื่อว่าปีนี้แนวโน้มจะเพิ่มขึ้น จากช่องทางอินเทอร์เน็ต แค่ค้นคำว่า พนันบอลในเว็บไซต์จะพบถึง 326,000 รายการ โดยเครือข่ายฯ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของ เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายงดเหล้า เครือข่ายขบวนการตาสับปะรดทั้ง 8 จังหวัด  อุดรธานี  อุบลราชธานี  มหาสารคาม  อุทัยธานี  น่าน  เชียงราย  ลำปาง  สุพรรณบุรี จะยื่นหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

 

ควรมีการรณรงค์เพื่อให้เกิดการลด ละ เลิก  การพนันอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจาก พ.ร.บ.การพนัน ของไทยใช้มาเป็นเวลานาน ควรจะมีการยกร่าง ปรับปรุงกฎหมาย และมาตรการต่างๆ ซึ่งการมีเครือข่ายหยุดการพนัน จะทำให้เกิดการศึกษาวิจัย หาทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนในสังคม โดยสามารถ ติดตามข้อมูลข่าวสารและสมัครสายลับไซเบอร์เฝ้าระวังปัญหาพนันบอล ที่ www.หยุดพนัน.com” นายธนากร กล่าว 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

Update : 03-06-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code