เปิดตัวหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางสายตา

หนังสือแบบเรียนเดซี่สำหรับคนตาบอด

 

เปิดตัวหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางสายตาโครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาฯ ร่วมกับองค์กรผู้พิการทางสายตา และวิทยาลัยราชสุดา เปิดตัวหลักสูตรนวดไทยไฮเทค สื่อเดซี่คนตาบอดเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ นวดแผนไทย ชี้! ผู้พิการทางสายตายังขาดโอกาสในการอ่านหนังสืออยู่ 

 

(18 ม.ค.) โครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวด โดยมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรผู้พิการทางสายตา และวิทยาลัยราชสุดา เปิดตัวแบบเรียนเดซี่ หลักสูตรนวดแผนไทยไฮเทคเพื่อผู้พิการทางสายตา ณ ห้องประชุมเบญจกุล สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

 

            นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยมีข้อกำจัดในการเรียนรู้ค่อนข้างมาก และมีโอกาสในการประกอบอาชีพได้น้อยกว่าผู้พิการด้านอื่น แต่ในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ โดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎระเบียบตาม พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 เพื่อรักษาสิทธิให้ผู้พิการทางสายตาสามารถมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องเป็นภาระให้แก่ผู้อื่น เพราะผู้พิการทางสายตาก็มีความสามารถเท่าเทียมกับคนปกติ

 

            “ในประเทศญี่ปุ่น อาชีพหมอนวด หรือการนวดจับเส้นนั้น เป็นอาชีพที่เขาสงวนไว้ให้กับผู้พิการทางสายตา ทำให้การพัฒนาด้านการเรียนรู้และเครื่องมือมีศักยภาพมากขึ้น ในประเทศไทยเองตอนนี้ก็พยายามผลักดันเครื่องมือต่างๆ ของผู้พิการทางสายตาให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ซึ่งหนังสือแบบเรียนเดซี่ (daisy) หรือ (digital accessible information system) จะเป็นอีกเครื่องมือการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ เพราะผู้พิการทางสายตาคือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่จะเป็นพลังในการช่วยเหลือสังคมได้เหมือนกัน” นพ.วิชัย กล่าว

 

            ด้าน ผศ.ดร.พิมพา ขจรธรรม คณบดีวิทยาลัยราชสุดา กล่าวว่า ผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยมีทั้งสิ้นประมาณเกือบ 4,000,000 คน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ. 2550 ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าประสบปัญหาในการอ่านหนังสือ เพราะหนังสือทั่วไปจัดทำขึ้นสำหรับคนปกติ ดังนั้นผู้พิการทางสายตาจึงไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารอื่นๆ นอกเหนือจากหนังสืออักษรเบรลล์ที่เป็นหนังสือระบบสัมผัส ซึ่งอาจจะมีข้อมูลข่าวสารที่ยังไม่เป็นข้อมูลใหม่ หากมีสิ่งที่สามารถช่วยให้คนพิการทางสายตาได้รับข่าวสารเหมือนกันคนปกติ จะช่วยให้เขาพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองเพิ่มขึ้น

 

            “เป็นโอกาสดีที่วิทยาลัยราชสุดาทำงานเกี่ยวกับคนพิการอยู่แล้ว จึงได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ทำให้เราได้พัฒนาระบบการเรียนรู้ให้กับผู้พิการทางสายตาเพื่อพัฒนาศักยภาพให้เทียมเท่าคนปกติ ซึ่งหนังสือแบบเรียนเดซี่ จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถนำแบบเรียนไปฝึกทบทวนความรู้ของตนเองได้ โดยนำโปรแกรมไปลงเข้ากับคอมพิวเตอร์ที่บ้านของตนเอง ซึ่งกระบวนการทำหนังสือออกมาต้องใช้เวลานานจึงคิดว่าการนวดแผนไทยเป็นสิ่งที่ผู้พิการทางสายตาทำได้ทุกคน และระบบประสาทสัมผัสของผู้พิการทางสายตาค่อนข้างดีกว่าคนปกติ จึงควรให้ความสนับสนุนผู้พิการทางสายตาด้านนี้ให้มากๆ เพื่อจะได้พัฒนาระบบคู่มือการเรียนรู้ต่อไป และอาจต่อยอดระบบคู่มือการเรียนรู้ไปยังผู้พิการทางด้านอื่นๆ ได้อีก” ผศ.ดร.พิมพา กล่าว

 

            ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์  ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดทำหลักสูตรนวดแผนไทยไฮเทคสื่อเดซี่สำหรับผู้พิการทางสายตา ถือเป็นก้าวย่างหนึ่งที่สำคัญหลังจากมีการเรียกร้องให้แก้กฎระเบียบข้อบังคับให้ผู้พิการทางสายตาสามารถประกอบโรคศิลปะนวดแผนไทยได้ เมื่อปี 2550 ซึ่งหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์ไทยที่เปิดสอนให้กับผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางสายตาเองจำต้องมีการอบรมการฝึกฝนจากสถาบันที่ได้รับรองจึงสามารถมีสิทธิสอบเพื่อรับใบประกาศประกอบวิชาชีพได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้พิการทางสายตารุ่นแรกที่เรียนหลักสูตรผู้ช่วยนวดแผนไทยประมาณ 40 คน ก็หวังว่าการสอบเพื่อรับใบประกาศประกอบวิชาชีพโรคศิลปะนี้ จะมีผู้สอบผ่านเกิน 30 คน  

ประมวลภาพ 

เปิดตัวหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางสายตา

เปิดตัวหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางสายตา

เปิดตัวหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางสายตา

เปิดตัวหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางสายตา

เปิดตัวหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางสายตา 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : อาทิตย์ ด้วนเกตุ team content www.thaihealth.or.th

 

 

update: 19-01-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: อาทิตย์ ด้วนเกตุ

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code