เปิดตัวร่างหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
ที่มา : มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจาก สสส.
แฟ้มภาพ
เปิดตัวร่างหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างร่างกายของเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้มีความแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
กรมพลศึกษา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวเปิดตัว ร่างหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างร่างกายของเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้มีความแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น รวมถึงเป็นการเพิ่มความรู้ความเข้าใจแก่ครูและผู้ปกครอง ในการส่งเสริมการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้สามารถเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าในสังคม พร้อมกับการเสวนาร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งเป็นผู้ทรงวุฒิและมีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา
ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า กรมพลศึกษามีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมสุขศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ยังมีข้อท้าทายและอุปสรรค คือหลักสูตรการศึกษาที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงครูในโรงเรียนที่ครูวิชาพลศึกษาเริ่มลดลงน้อยลง ครูที่จบสาขาพลศึกษาโดยตรงมีน้อย ทำให้ต้องนำครูที่จบสายอื่นมาสอนทดแทน ส่งผลต่อความรู้ความเข้าใจที่ไม่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการอบรมครูที่สอนวิชาพลศึกษา ให้มีความเข้าใจในการสอนมากขึ้น แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังขาดความรักในการสอนของครู ประกอบกับการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ก็จะทำให้โอกาสการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกต้องของเด็กลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ กรมพลศึกษา ได้ร่วมมือกับ สสส. ที่เข้ามาสนับสนุนให้เกิดโครงการนี้ ถือเป็นโครงการนำร่องก่อน เพราะกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีอยู่ 9 กลุ่ม โดยเริ่มจากเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งก็คาดหวังว่าจะพยายามเร่งดำเนินการ ให้เกิดหลักสูตรสำหรับเด็กพิเศษกลุ่มนี้ขึ้นมา ขณะนี้ร่างของหลักสูตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญได้ลงไปในพื้นที่ เพื่อศึกษาว่าสิ่งใดที่มีความเหมาะสมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากที่สุด ก็พบว่านอกจากครูให้ความสนใจแล้ว ผู้ปกครองก็มีความสนใจอย่างมาก ซึ่งก็ได้รับข้อเสนอแนะว่า ควรจัดทำคู่มือสำหรับผู้ปกครองไปฝึกเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่บ้านด้วย และก็ได้มีคู่มือออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลังจากนี้ก็พร้อมเก็บข้อมูลการสอนพลศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนร่วมต่อไปด้วย พร้อมขอบคุณ สสส. และผู้เชี่ยวชาญทุกคนที่เป็นที่ปรึกษา โดยจะติดตามประเมินผล เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีเกิดประสิทธิภาพทางร่างกายสูงที่สุด เพื่อต่อยอดไปยังเด็กที่มีความต้องการพิเศษทั้ง 9 กลุ่มต่อไป ส่วนคู่มือสำหรับผู้ปกครองจะทำให้เด็กมีโอกาสเกิดพัฒนาการทางร่างกาย มีโภชนาการทางร่างกายที่ดี ซึ่งการเรียนรู้ก็เกิดจากการ Learning By Doing ก็ต้องฝึกให้เกิดการทำได้บ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ ก็เกิดการเรียนรู้สามารถมีทักษะในการใช้ชีวิตประจำวันได้ต่อไป
ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ของ สสส. กล่าวว่า คนพิการทุกวันนี้ มีจำนวนประมาณ 2 ล้านคนในประเทศไทย ในจำนวน 2 ล้านคน มีเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่สามารถจะเรียนต่อจนจบในระดับอุดมศึกษาได้แค่ร้อยละ 1.38 เท่านั้น ส่วนใหญ่ก็คือร้อยละ 80 จบเพียงระดับประถมศึกษา เพราะว่ามีอุปสรรคในการเรียนรู้ หรือชีวิตความเป็นอยู่ ต่อการเข้าไปอยู่ในโรงเรียน ทั้ง ปัญหาด้านร่างกาย ปัญหากับครอบครัว ฐานะ แล้วก็สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการเรียนต่อสำหรับเด็กพิการ
โดย สสส. เองก็มีบทบาทสำคัญ ในการเข้ามาสนับสนุนกลุ่มเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ กลุ่มนี้ คำว่าสุขภาวะสำหรับคนพิการ สสส. ให้ความสำคัญมากเราพูดถึงสุขภาวะใน 4 มิติ สุขภาวะด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านปัญญา และด้านสังคม ซึ่งด้านร่างกาย จะต้องช่วยในการฟื้นฟูให้กับเด็กพิการมีความแข็งแรงมากขึ้น เรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราจะพยายามสนับสนุน ให้คนพิการสามารถมีสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดี ในด้านอื่น ๆ ก็อยากจะให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษมีความมั่นใจ พึ่งพาตนเองได้สามารถรู้ว่าอะไรดีไม่ดีกับตนเอง ดังนั้น สสส. ถึงให้ความสำคัญ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กกลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษกลุ่มนี้
สำหรับคู่มือการใช้สำหรับผู้ปกครอง สสส. คาดหวังว่าจะเกิดประโยชน์ในการเอาไปใช้จริงกับครอบครัวที่มีลูกหรือบุตรหลานที่เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นพิเศษ หากผู้ปกครองสามารถนำไปใช้และเกิดประโยชน์สูงสุด ก็คงจะเป็นความชื่นใจของทั้ง สสส. และคณะผู้ทำวิจัยโครงการนี้ เราก็มุ่งหวังที่จะให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานสูงสุด
ขณะที่ ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ในเรื่องของการออกกำลังกายนั้น หากผู้ปกครองกระตือรือร้น ก็จะทำให้มีกิจกรรมทางกายในเด็กมากขึ้น หากเทียบกับตอนเด็กเมื่อแรกเกิดก็จะสร้างความเคลื่อนไหวเพื่อสื่อสาร ให้ผู้ปกครองได้รับรู้และเข้าใจ เมื่อผู้ปกครองรับรู้แล้วก็จะพัฒนาไปสู่การสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กระบวนการความคิดจะเกิดขึ้นได้นั้น ล้วนมาจากการเคลื่อนไหวของร่างกาย อย่างเช่น เมื่อเด็กหกล้ม เด็กจะมีความรู้นึกคิดขึ้นมาว่าเป็นอย่างไรหากล้มลงไป และจะเรียนรู้ด้วยตนเองว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ล้ม โดยมีพ่อแม่เป็นที่ปรึกษา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นการดูแลของผู้ปกครองรวมถึงครูในโรงเรียน จะเน้นการใช้คำสั่งมากกว่า ซึ่งก็ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองของเด็กในอนาคตได้
ดังนั้น กิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหวทางกายจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดในการสร้างพัฒนาการของร่างกายเด็กต่อจากศิลปะและดนตรี ทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่สิ่งที่เป็นคำถามหลังจากนี้คือ ผู้ปกครองมีความเข้าใจถึงเรื่องนี้หรือไม่และครูมีความเข้าใจอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งต้องมีการวัดผลประเมินผลอย่างชัดเจน เพราะการเคลื่อนไหวถือว่าวัดผลได้อย่างชัดเจนมากที่สุด
ทั้งนี้ ผู้ปกครองหลายคนอาจจะมองว่าการเล่นของเด็กเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระ ควรเอาเวลามาเรียน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับเด็กคือการเล่น หรือได้เคลื่อนไหวออกกำลังกาย โดยเฉพาะครูต้องมีความรู้ในการสื่อสารและถ่ายทอดให้เด็กได้รับรู้ สร้างแรงจูงใจ ให้เด็กมีความสนใจในการออกกำลังกายได้มากขึ้น การสอนจะต้องมีมากกว่าการพูดให้เด็กฟัง แต่ต้องทำให้เห็นทันทีว่าเด็กได้อะไรจากการออกกำลังกาย จะเป็นการจุดประกายให้เด็กสนใจว่าออกกำลังกายแล้วจะได้อะไร จะเกิดอะไรขึ้นต่อ หากครูผู้สอนมีความเข้าใจ ผู้ปกครองมีความรู้เป็นอย่างดีก็ทำให้เด็กมีความเข้าใจการออกกำลังกายและส่งผลต่อความคิดการตัดสินใจของเด็กได้ดีมากขึ้น โดยปกติกว่าร้อยละ 80 ในการทำกิจกรรมชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความคุ้นชินของสมอง ส่วนที่เหลือคือเกิดจากความรู้ตัว
ดังนั้นหากมีกิจกรรมที่ทำให้เด็กมีความรู้ตัวมากขึ้น ก็จะทำให้สมองเกิดการพัฒนามากขึ้น หากสามารถทำให้เด็กทำกิจกรรมด้วยความรู้ตัวมากขึ้น มีกระบวนการคิด โดยเฉพาะในเด็กที่มีความต้องการพิเศษหากสร้างเงื่อนไขเกิดการกระตุ้นของสมองมากขึ้น ก็จะทำให้สมองได้รับการพัฒนา หากทำด้วยความคุ้นชินเดิม ๆ มาโดยตลอด ก็ไม่เกิดผลอะไรในการทำกิจกรรมทางกาย
ดังนั้นหากมีทั้งความคุ้นชินของร่างกายที่มาจากความรู้ตัวของเด็ก จะส่งผลดีต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษเองด้วยโดยครูผู้สอนหรือผู้ปกครองอาจจะเริ่มสอนจากการให้เงื่อนไขที่ง่ายที่สุด เช่นการให้หยิบของจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเพื่อดูพัฒนาการทางร่างกายและสมองของเด็ก แต่ไม่ควรจะเป็นไปด้วยการสั่ง ดังนั้นผู้ปกครองและผู้สอนจะต้องใช้ความใจเย็น ค่อย ๆ ดูพัฒนาการของเด็ก ใช้ความรักกับความเมตตา ให้อภัยแก่เด็กที่ทำผิดพลาด
ด้าน ผศ.ดร.เกษม นครเขตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกาย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวถึงความสำคัญของกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนว่า องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคไม่ติดต่อแบบเรื้อรัง หรือ NCDs ในเด็กและไปสู่วัยผู้ใหญ่ โดยการประชุมที่ประเทศแคนาดาเมื่อปี 2553 กำหนดให้กิจกรรมทางกาย เป็นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของร่างกาย เช่น การวิ่งเล่น ไม่ใช่การนั่งเรียนในห้อง ซึ่งการนั่งเรียนนาน ๆ ในห้องไม่ได้เป็นเรื่องดีเช่นกัน
ดังนั้นต้องมีการวิ่งเล่นและออกกำลังกายของเด็กและเยาวชนอย่างเพียงพอทุกวัน วันละ 60 นาที แต่ที่ผ่านมาพบว่าตัวเลขของเด็กไทยมีไม่ถึง 1 ใน 4 ที่มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ส่วนที่เหลือนั้นไม่มี ดังนั้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็อาจจะมีปัญหาโรค NCDs ตามมา ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นี้ บางส่วนก็ไม่ได้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโดยตรง แต่เกิดจากโรค NCDs ที่ทำให้เกิดผลทางอ้อม ซึ่งการออกกำลังกายตั้งแต่เด็กจะทำให้มีผลทางอ้อมต่อจิตวิทยาในการรักษาสุขภาพร่างกายของตนเองได้
ขณะเดียวกันกิจกรรมทางกายถือเป็นสิทธิของเด็กที่จะได้เล่น และมีสุขภาพที่ดี ซึ่งมีการระบุไว้ในบทบัญญัติของสหประชาชาติ ดังนั้นหากไปปิดกั้นอาจจะเป็นการลิดรอนสิทธิของเด็กโดยไม่รู้ตัว ส่วนเรื่องของสมองนั้นก็พบว่าหากได้มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ จะทำให้สมองถูกเปิดมากขึ้น รับความรู้ได้มากขึ้น และพัฒนาเรื่องความจำ ความเข้าใจของเด็กได้อีกด้วย ที่ผ่านมาวิชาพลศึกษาในการเรียนของโรงเรียนมีไม่เพียงพอ ทุกวันนี้มีอยู่ประมาณสองครั้งต่อสัปดาห์ด้วย
ส่วน ผศ.ดร.มยุรี ศุภวิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในโรงเรียนที่สอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็พบว่า ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับน้อย ถึงปานกลาง ซึ่งมีทั้งการเรียนรวมและมีชั้นเรียนเฉพาะ แต่ครูเองก็มีความพยายามเต็มที่ในการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ แต่การสอนของครูนั้นจะต้องมีการหารือกันมากขึ้น เพื่อลงลึกถึงรายละเอียดต่าง ๆ ในการสร้างความสนใจให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่นการให้รางวัล หรือการปรับวิธีการสอน
ซึ่งครูที่สอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ต้องให้เด็กได้ออกกำลังกายเอง และให้ความใส่ใจกับเด็กด้วย เช่น การรับส่งลูกบอลครูจะต้องดูว่าเด็กคนนี้รับส่งบอลให้คนอื่นได้เท่าไหร่ และจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตหรือไม่ แต่การละทิ้งให้เด็กไปทำรายงานหรือซื้อหนังสือส่งมาเพื่อวัดผลคะแนนก็จะไม่เกิดผลอะไรทางร่างกายสำหรับเด็กกลุ่มนี้เลย ดังนั้นครูพลศึกษาจะต้องดูและปรับเกณฑ์ของแต่ละคนเป็นการเฉพาะว่า เด็กคนนี้มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง และให้คะแนนตามเกณฑ์ของกิจกรรมทางกายที่แสดงออกมาที่มีความแตกต่างของแต่ละคน
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวตั้งแต่การเดิน การกระโดด การวิ่ง การเคลื่อนไหวจะต้องทำให้ถูกต้องเริ่มมาตั้งแต่เด็ก หากมีการแก้ไขเมื่อตอนโตแล้วจะทำได้ยากลำบาก ซึ่งก็จะส่งผลต่อร่างกายต่อไปในระยะยาว ทั้งหัวเข่า ส้นเท้า ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ปกครองจะต้องเอาใจใส่ให้มากขึ้นอีกด้วยคอยช่วยสอนเด็กเมื่ออยู่บ้าน เพราะครูไม่ได้อยู่ด้วยตลอดเวลา แต่เป็นผู้ปกครอง พร้อมฝากความหวังไปยังครูพลศึกษา ด้วย ไม่ว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะเป็นอย่างไร ก็ต้องได้รับการออกกำลังกาย กิจกรรมอย่างถูกวิธี