เปิดตัวร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ฉบับแรกของไทย

ที่มา : มติชน


ภาพประกอบจาก สสส.


เปิดตัวร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ฉบับแรกของไทย thaihealth


เพราะโลกใบนี้ไม่ได้มีแต่ผู้คนที่มีวิถีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด แต่ยังมีคนอีกกลุ่มที่มีรสนิยมความชอบในเรื่องเพศและการจับคู่ที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม และกำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องของสุขภาพจากการถูกเลือกปฏิบัติจนทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่สังคมและวัฒนธรรม มีค่านิยมหลักเป็นบรรทัดฐานรักต่างเพศ ทำให้เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ส่งผลต่อปัจจัยการกำหนดสุขภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ ปัญญา และการอยู่ร่วมกันในสังคม เกิดเป็นสภาวะที่เรียกว่า 'ความเหลื่อมล้ำในทางสุขภาพ'


ภายใต้บทบาทของการเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ ขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทย มีสุขภาพดีครบ 4 ด้าน ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม เพื่อร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ก็ได้ให้ ความสำคัญครอบคลุมไปถึงกลุ่มประชากรเฉพาะกลุ่มนี้ เพียงแต่ต้องมีวิธีการสร้างเสริมสุขภาพในแบบพิเศษที่แตกต่าง ไปจากคนทั่วไป และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีทิศทางในการทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง


เป็นที่มาของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ฉบับแรกของประเทศไทย โดย สสส. ได้มอบหมายให้ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.โกสุม โอมพรนุวัฒน์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อ.รัตนา ด้วยดี จากคณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยคริสเตียน เป็นคณะนักวิจัยร่วมกันพัฒนาร่างยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว


'แผนยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ฉบับแรก ของประเทศไทย' เปิดตัวเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ณ โรงแรมแมนดารินสามย่าน พร้อมกับมีการเสวนาและรับฟังความเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักกิจกรรม นักการเมือง และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำงานด้านสุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก


นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวว่า สสส. ต้องการบทวิเคราะห์ที่มีความเป็นวิชาการ มีความเป็นธรรม มองอย่างรอบด้าน และชี้ให้เห็นถึงเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องทำก่อน ทั้งนี้ สสส. ต้องการฟังคำแนะนำจากอาจารย์และจากพันธมิตรเครือข่าย คนทำงานในเรื่องนี้ จนถึงคนที่มี Passion ในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่ายุทธศาสตร์กลุ่มผู้มี ความหลากหลายทางเพศครั้งนี้จะไม่ได้เป็นประโยชน์ แค่กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่จะมีประโยชน์กับทุกคนในการเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ ในสังคมต่อไป


ดร.ชเนตตี ทินนาม หัวหน้าทีมวิจัย อธิบายถึงร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่มประชากร LGBTIQN+ ในประเทศไทย ปี 2564-2566 โดยทีมตั้งใจใช้คำว่า 'บุคคลหลากหลายทางเพศ' เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมถึง บุคคลทุกกลุ่มที่มีเพศกำเนิดกับเพศสภาพในลักษณะที่ไม่ได้สอดคล้องกันในความเข้าใจแบบทวิเพศในระบบ ชาย-หญิง สำหรับภาษาอังกฤษซึ่งใช้คำว่า 'LGBTIQN+' ในความหมายของแต่ละตัวอักษร แบ่งเป็น L-Lesbian หรือหญิงรักหญิง, G-Gay หรือชายรักชาย, B-Bisexual หรือผู้ที่รักได้ทั้งชายและหญิง, T-Transgender หรือคนข้ามเพศ, I-Intersex หมายถึงบุคคลที่มีสองเพศหรือมีเพศกำกวม, Q-Queer บุคคลที่ปฏิเสธการนิยามตัวเองด้วยอัตลักษณ์ทางเพศในทุกรูปแบบ, N-Non-Binary หรือบุคคลที่ปฏิเสธการนิยามตนเองด้วยอัตลักษณ์ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบการแบ่งเพศเป็นคู่ตรงข้ามหรือระบบชาย-หญิง และใช้สัญลักษณ์ + วางไว้ที่ตำแหน่งด้านหลัง เพื่อเน้นย้ำว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีอัตลักษณ์ที่ ไม่หยุดนิ่งหรือตายตัว


"จากการสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นต่อสุขภาวะของกลุ่มประชากร LGBTIQN+ ในประเทศไทย พบว่ามีปัญหาสำคัญหลายประการ เช่น มีการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ถูกกีดกันจากการจ้างงาน เข้าไม่ถึงระบบการประกันสุขภาพ ส่วนหนึ่งก็ประสบกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาเอชไอวีเอดส์ ฯลฯ เมื่อได้ศึกษาบริบทสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาวะ LGBTIQN+ และการศึกษา หาช่องว่างในการวิจัยเพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายยุทธศาสต์สุขภาวะ LGBTIQN+ ร่วมกับการสัมภาษณ์ เชิงลึกกลุ่มประชากรและนักวิชาการ ทีมวิจัยได้พัฒนาข้อมูลเหล่านั้นมาสู่การสร้างยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+ พ.ศ. 2564-2566"


หัวหน้าทีมวิจัยได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ในอีก 3 ปีข้างหน้านั้น ได้กำหนดวิสัยทัศน์ 'ประชากรกลุ่ม LGBTIQN+ เข้าถึงความเป็นธรรมทางสุขภาพ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยอัตลักษณ์ทางเพศสภาวะและเพศวิถี ตลอดจนปัจจัยกดขี่ทับซ้อน ได้รับการปกป้องคุ้มครองในสิทธิทางสุขภาวะ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีสุขภาวะ องค์รวม ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม เพื่อให้ประชากร LGBTIQN+ ในฐานะที่เป็นพลเมือง สุขภาวะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมสุขภาวะดีร่วมกัน'


สำหรับยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนนั้น ได้มีการจัดลำดับความเร่งด่วนภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ เป็นต้นว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชากร LGBTIQN+ โดยจะต้องมีการเปลี่ยนฐานคิดของบุคลากร ในระบบสาธารณสุขที่มีประเด็นต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้รับบริการที่เป็น LGBTIQN+ ต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลสุขภาวะของ LGBTIQN+ และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรต่อประชากรกลุ่มนี้ ภายใต้การคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มเฉพาะและคำนึงถึงอัตลักษณ์ที่ทับซ้อน ควรสร้างความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายเพื่อให้ชุมชนเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีความเข้มแข็งสามารถไปสร้างชุมชนที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อประชากร LGBTIQN+


นอกจากนี้ยังมีปัญหาของเยาวชน LGBTIQN+ จากการ อยู่ในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง จะต้องหาทาง สร้างครอบครัวที่ปลอดภัย เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้เติบโต ไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมไทย


จากนั้นก็เข้าสู่วงเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น ถึงร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ฉบับแรกของประเทศไทย โดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา และนักวิชาการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ สมาคมวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เสนอว่าต้องทำให้เรื่องของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคม ต้องทำให้ภาวะของการ 'รัก' ไม่ว่าจะรักกับใคร เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ แล้วก็ต้องทำให้ถูกกฎหมาย โดยส่วนตัวแล้วสนับสนุนในเรื่องของการสมรสเท่าเทียม


พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ และผู้ก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น (Gen-V Clinic) รพ.รามาธิบดี กล่าวชื่นชมถึงยุทธศาสตร์ฯ เขียนได้รอบด้านจนทำให้มองเห็นแนวทางที่จะเป็นไปในอนาคต ในมุมมองของแพทย์ก็มีประเด็นที่จะเสนอในเรื่องของกฎหมายต่างๆ ซึ่งในทางปฏิบัติยัง เป็นปัญหา ก็คือเรื่องของการเก็บไข่และสเปิร์มที่ใช้ในทางการแพทย์ ยังไม่มีกฎหมายรองรับในการที่จะให้คน ข้ามเพศมีบุตรโดยใช้จากไข่หรือสเปิร์มของตัวเอง หรือในด้านสุขภาวะทางจิตใจ เช่น ผลกระทบจากการถูกบูลลี่ นอกจากนี้ก็ขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเรื่องการเข้าถึงบริการสิทธิสุขภาพขั้นพื้นฐานด้วย


อีกหนึ่งท่านในวงเสวนา รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสุขภาพ ให้ความเห็นถึงยุทธศาสตร์ฯ ว่า ครอบคลุมทั้งในเชิงที่เป็นงานเอกสารทบทวนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นการทบทวนงานวิจัยที่เข้มข้นมาก เช่นเดียวกับความหลากหลายของข้อมูลเอกสาร คุณภาพ เชิงสนทนากลุ่ม และมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นระยะ และยังได้รับความร่วมมือในด้านข้อมูลจากภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือว่าสามารถนำไปใช้อ้างอิง หรือจะเรียกว่าเป็นแผนที่นำทางให้กับคนทำงานก็ได้


"หากมีการนำยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ไปใช้ ก็จะเป็นคุณูปการต่อการขับเคลื่อนส่งเสริม สุขภาวะของประชากรกลุ่มดังกล่าวในประเทศไทย เพื่อให้ การดำเนินการมีทิศทางและมีเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้ชัดเจนและเป็นองคาพยพเดียวกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม"

Shares:
QR Code :
QR Code