เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ ห่างไกลโควิด-19

เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก  งานรณรงค์  “เปลี่ยน พ.ศ. ใหม่เปลี่ยนใจเลิกเมา…นิวนอมอล2”  


ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th  และแฟ้มภาพ


เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ ห่างไกลโควิด-19 thaihealth


เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาอีกครั้ง ในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทยต้องมีมาตรการป้องกันเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนอีกครั้ง หลายครอบครัวเกิดปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในครัวเรือน บางคนต้องถูกเลิกจ้าง เกิดภาวะขาดทุนจากธุรกิจ และปัจจัยอื่นอีกมากมาย เหล่านี้ส่งผลให้เกิดภาวะเครียด และนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการดื่มเหล้า


หลายคนยอมรับว่าทุกครั้งที่เกิดความเครียด หาทางออกไม่ได้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต การดื่มเหล้า คือ “ทางออก” ซึ่งนั่นคือความคิดที่ผิด เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลต่อสุขภาพกาย จิตใจ ทั้งต่อตนเองและครอบครัวโดยตรง


เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ ห่างไกลโควิด-19 thaihealth


“เปลี่ยน พ.ศ. ใหม่เปลี่ยนใจเลิกเมา…นิวนอมอล2” แคมเปญรณรงค์ให้คนหันมารักสุขภาพ ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนรณรงค์ให้คนในสังคมเห็นโทษภัยของการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการรณรงค์ในครั้งนี้มีแกนนำลดละเลิกเหล้า ที่เข้าร่วมโครงการ “Family club” หรือกลุ่มชมรมครอบครัวสุขใจ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ของตนเองจากการเลิกดื่มเหล้าอีกด้วย


มาเริ่มกันที่คุณลุงสีสัน หรือ นายสีสัน แสงแป้น อายุ 56 ปี แกนนำคนลด ละ เลิกเหล้า ชุมชนสวนหลวง 1 เล่าถึงประสบการณ์ให้ฟังด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม อารมณ์ดี ว่าเขานั้นเคยดื่มเหล้าหนักมาก วันละ 4-5 ขวด กลับบ้านไม่เคยเจอหน้าลูกและภรรยา มักมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันในวงเหล้า หนักที่สุดคือถูกจับนอนห้องขังแทบจะทุกเดือน


เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ ห่างไกลโควิด-19 thaihealth


“ชีวิตผมอยู่กับความสูญเสียจากการดื่มเหล้ามามากมาย ทั้งสุขภาพ ครอบครัว ชุมชน คนรอบข้าง จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมอยากเลิกดื่ม เพราะอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่เพื่อลูกและภรรยา หลังจากได้เข้าร่วมโครงการของ “Family club” กลุ่มชมรมครอบครัวสุขใจ ทำให้รู้ถึงพิษภัยผลกระทบจากการดื่มเหล้า และคิดได้ว่าผมเสียเวลาไปกับเหล้ามากเกินไปแล้ว พอตัดสินใจเลิกได้และผันตัวมาเป็นแกนนำ เป็นตัวอย่างให้คนในชุมชนลด ละ เลิกเหล้า ปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นก็ลดลง รู้สึกภูมิใจในตัวเองและขอบคุณครอบครัวที่ทำให้เราเข้มแข็ง


เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ ห่างไกลโควิด-19 thaihealth


ไม่เพียงแต่นายสีสันเท่านั้น ยังมีอดีตนักมวยในตำนานอย่าง พี่นรินทร์ หรือ นายนรินทร์ ตึกโพธิ์ อายุ 45 ปี แกนนำคนละเลิกเหล้าจากชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม แชร์ประสบการณ์ชีวิตช่วงที่ติดเหล้าให้ฟังอย่างตั้งใจว่า “สมัยก่อนผมมีอาชีพเป็นนักมวย รายได้จากการชกมวยแต่ละครั้ง 4-5 หมื่นบาท ในช่วงที่เป็นนักมวยทำให้เรามีรายได้เยอะ แต่ก็หมดไปกับการดื่มสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ชนิดที่ว่ามีเท่าไหร่ใส่ให้หมดไปเลย จนหมดตัว เงินที่มีก็หายไปกับการดื่มเหล้า พอไฟล์ทสุดท้ายของการชก ช่วงที่ติดเหล้าหนักรู้ตัวเองเลยว่าร่างกายแย่ลง ประสิทธิภาพการมองเห็นของสายตาก็แย่ลง มีอาการมือสั่น และบอกกับตัวเองว่า ถ้าเราไม่เลิกตอนนี้ ร่างกายต้องแย่ไปกว่านี้แน่นอน


ผมมีโอกาสเข้ามาร่วมโครงการ “Family club” หลังจากเข้ามาร่วม แรก ๆ เราก็ไม่ค่อยเข้าใจแต่พอเข้าร่วมได้สักพักก็มีเพื่อน ๆ คอยให้คำปรึกษา คอยให้กำลังใจกันและกัน ได้ความรู้ในการดูแลตัวเองว่าเราต้องทำอย่างไร และผมก็ค่อย ๆ ลดระดับการดื่มลงเรื่อย ๆ หลังจากลดการดื่มให้น้อยลง รู้สึกตัวเองเลยว่าสุขภาพร่างกายเราก็ปรับสภาพดีขึ้น ครอบครัวก็ภูมิใจกับผมด้วย”

พี่นรินทร์ กล่าว


มาดูกันว่า โครงการ “Family club” นั้นเป็นอย่างไร


“Family club” โครงการการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุรา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  มีการดำเนินงานโดยการสร้างคณะทำงานให้เกิดขึ้นในชุมชน คณะทำงานหลักในแต่ละพื้นที่ ต้องได้รับการพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ ที่โครงการจัดให้ โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้


1) รูปแบบเชิงพุทธ   จะมีการให้กลุ่มเป้าหมายที่สมัครใจ อยู่วัด 7 วัน 6 คืน คณะทำงานจะดูแลให้ความรู้ พิษภัยสุรา ทักษะการดูแลสุขภาพ การเจริญสติ สร้างคุณค่าในตนเอง และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต รูปแบบเชิงพุทธ คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายผู้มีปัญหาการดื่มสุรา อย่างน้อย 10 คน ต่อ 1 วัด โดยมีรายละเอียดดังนี้


เกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 


1) เป็นผู้ที่ได้รับการคัดกรองโดยแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มสุรา (Assist) จากคณะทำงาน และวัดที่ระดับคะแนน ดื่มระดับกลาง 11-26 คะแนน  ระดับเสี่ยงสูง 27 คะแนนขึ้นไป คณะทำงาน พิจารณาร่วมกันว่าดูแลได้


2) สมัครใจเข้ารับการบำบัดเอง หรือสถานบริการสาธารณสุขส่งต่อ


3) อยู่ในระหว่างการบำบัดฟื้นฟู


4) ไม่อยู่ในระยะถอนพิษสุรา


5) ไม่มีภาวะทางจิต


6) สามารถอยู่ร่วมกิจกรรมได้ครบ


7) ทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง


 


2) รูปแบบกลุ่มครอบครัว  ดำเนินการโดยคณะทำงานพื้นที่ที่ผ่านการอบรมทักษะกลุ่มครอบครัวจากทางโครงการ  มี 3 ชุดกิจกรรมที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง


คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายผู้มีปัญหาการดื่มสุราและครอบครัวที่สมัครใจ อย่างน้อยพื้นที่ละ 5 ครอบครัว โดยมีรายละเอียดดังนี้


เกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 


1) เป็นผู้ที่ได้รับการคัดกรองโดยแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มสุรา (Assist) จากคณะทำงาน และวัดที่ระดับคะแนน ดื่มระดับกลาง 11-26 คะแนน  ระดับเสี่ยงสูง 27 คะแนนขึ้นไป คณะทำงาน พิจารณาร่วมกันว่าดูแลได้


2) สมัครใจเข้ารับการบำบัดเอง หรือสถานบริการสาธารณสุขส่งต่อ


3) อยู่ในระหว่างการบำบัดฟื้นฟู


4) ไม่อยู่ในระยะถอนพิษสุรา


5) ไม่มีภาวะทางจิต


6) สามารถอยู่ร่วมกิจกรรมได้ครบ


7) ทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง


เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ ห่างไกลโควิด-19 thaihealth


เหล้า ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่มีผลก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs และเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ สสส. และภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันขับเคลื่อนให้คนไทยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบนชีวิตวิถีใหม่ สนับสนุนให้คนลด ละ เลิกเหล้า สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่ปกปิดข้อมูล และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนในสังคมไทยมีสุขภาวะที่ดี

Shares:
QR Code :
QR Code