เปลี่ยน “พนักงาน” เป็น “ทรัพยากรที่มีค่า”
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
การทำงานที่มุ่งเน้นผลประกอบการ สามารถทำให้องค์กรอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขัน แน่นอนว่าองค์กรต่างๆ ย่อมมีคุณภาพมาตรฐานในการทำงานรองรับ แต่สิ่งสำคัญนอกจากระบบดูแลที่ทำให้พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กรเพียงแค่ระดับหนึ่ง คือ "เจตคติภายใน" ของคนในองค์กรที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
ภาพประกอบจาก happy8workplace
ฉะนั้น การพัฒนาบุคลากรยุคใหม่ควรเริ่มจากจิตใจของคนในองค์กร ให้แต่ละบุคคลสร้างความสุขจากภายในเพื่อพัฒนาไปสู่ความสามารถที่รอบด้าน และนำไปสู่การใช้ชีวิตภายในองค์กรหรือสังคมได้อย่างมีความสุข
ฉัตรลัดดา เลิศจิตรการุณ ผู้ศึกษาเรื่อง จิตวิญญาณดี หรือ Happy Soul ใน โครงการพัฒนากลไกทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกชัดเจนว่า เมื่อบุคลากรในองค์กรเป็นคนดี มีความสุขจากภายใน องค์กรย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะพนักงานมีมโนทัศน์เชิงบวกมากขึ้น ซึ่งการคิดเชิงบวกนี้ครอบคลุมไปถึงการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ช่วยให้คนในองค์กรทำงานได้ดี ผลประกอบการสำเร็จ และต่อยอดไปถึงการสร้างสังคมให้มีความสุขอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย
ส่วนแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้คนในองค์กรเกิดสุขจากภายในได้นั้น นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยเรื่ององค์กร มีข้อค้นพบเด่นชัดว่าหัวใจสำคัญของการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงจากภายใน คือการใช้สมาธิและสติมาเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าภายในตนเอง
โดยการปฏิบัติดังกล่าวจะนำไปสู่คุณลักษณะที่สำคัญ เช่น มีความเห็นอกเห็นใจความรับผิดชอบ เสียสละซื่อสัตย์ และการคิดบวก ฯลฯ ซึ่งคือคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นฟันเฟืองที่มีคุณค่าในการพัฒนาองค์กร โดยไม่เกี่ยงว่าจะทำงานอยู่ในตำแหน่งใด รายได้เท่าไหร่ เพราะแต่ละคนรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง ภาคภูมิใจในองค์กร และพร้อมมีส่วนร่วมในการพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามที่หวังไว้
ฉัตรลัดดา ยังอธิบายถึงหลักการพัฒนาจากภายในไว้ว่า การพัฒนาจากภายในคือการศึกษาจากการดูจิตของตนเองแล้วเกิดปัญญา โดยมีเป้าหมายหลักให้ผู้เรียนตื่นรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเอง หรือ Individual transformation และไปสู่การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ เพื่อเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในองค์กร หรือ Organization transformation เมื่อคนในองค์กรและชุมชนเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของกันและกันอย่างลึกซึ้ง ช่วยเหลือเผื่อแผ่กันจนเชื่อมประสาน และกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานทางสังคม หรือ Social transformation ก็จะนำไปสู่การลงมือปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง
ส่วนวิธีปฏิบัตินั้น ฉัตรลัดดา อ้างถึงการศึกษาของ ณัฐพล วังวิญญู และคณะ ที่ระบุว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นบุคคลที่ดีจากภายในนั้น มีแนวทางดังนี้ 1.Criticality-Based คือ สอนให้มองโลกในแง่ดีตระหนักรู้ตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง และส่งเสริมให้มีความคิดวิจารณญาณ รู้จักวิเคราะห์หาเหตุผล 2.Creativity-Based คือ สอนให้พัฒนาตัวเองให้เต็มที่ตามศักยภาพ รู้จักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ 3.Productivity-Based คือ สอนให้มองที่ผลงาน ให้รู้จักสร้าง ผลิตคิดอะไรใหม่ๆ และ 4.Responsibility-Based คือ สอนให้รู้จักตัวเอง เสียสละ ผลักดันสังคมให้ก้าวหน้าด้วยมือของเรา
โดยแนวทางนี้สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกศาสตร์ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีบรรยากาศของความรักความเข้าใจอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีที่ดีขององค์กร โดยเน้นการฝึกฝนการปฏิบัติจนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตนเองผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบใหม่ เช่น การทำงาน การออกกำลัง งานศิลปะ สุนทรียสนทนา และกิจกรรมอื่นๆ ที่โยงไปสู่การรู้จิตของตนเอง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเอง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กรและสังคม
"ถ้าหากเราสร้างความสุขที่แท้จริงให้เกิดขึ้นภายในใจ ซึ่งเป็นความสุขที่ลึกซึ้ง เห็นคุณค่าภายในตนเองและรู้จักคุณค่าผู้อื่น ก็จะทำให้เรามีคุณลักษณะกลายเป็นคนมีน้ำใจ เข้าใจผู้อื่น มีความเมตตา นั่นหมายถึงได้พัฒนาตัวเองไปสู่มิติจิตใจดี และเขยิบไปสู่มิติรีแลกซ์คือการผ่อนคลายลดทอนความเครียด ผลที่ได้คือมิติสุขภาพกายดีตามขึ้นไปด้วย นอกจากนี้ยังมีผลต่อการพัฒนาปัญญา โดยเฉพาะการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่เป็นส่วนควบคุมอารมณ์และความประพฤติที่เกี่ยวข้องกับสังคม และจากความสุขจากภายในในระดับบุคคลที่เป็นต้นทุนชีวิตอันดีงาม จะก่อร่างสร้างมิติครอบครัวเชิงคุณภาพและต่อจิ๊กซอว์กลายเป็นมิติสังคมดี ที่ช่วยหนุนให้มิติด้านการเงินทั้งของตัวเองและประเทศชาติดีขึ้นตามไปด้วย อาจกล่าวได้ว่า การสร้างความสุขในมิติจิตวิญญาณดี หรือ Happy Soul สามารถต่อขยายความสุขในด้านอื่นๆ ได้ครบทั้งหมด"เธอ อธิบายให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น
สำหรับองค์กรที่มีการบริหารงานด้านมิติจิตวิญญาณดีจนประสบความสำเร็จพอจะเป็นแบบอย่างได้นั้น ฉัตรลัดดา บอกว่า บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด คือหนึ่งในองค์กรที่ว่า โดยทางผู้บริหารและฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นำแนวคิดในข้างต้นมาวิเคราะห์ให้เห็นฐานคิดขององค์กร รวมถึงกระบวนการสร้างสุขจากภายในผ่านกิจกรรมต่างๆ อันนำมาซึ่งค่านิยมตลอดจนวัฒนธรรมองค์กรที่ช่วยส่งเสริมคนดีพัฒนาคนเก่ง
"จากการวัดจากผลประกอบการของบริษัทไลอ้อน เห็นได้ว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2547-2553 ผลประกอบการมียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ108 และทางบริษัทไลอ้อนได้ตั้งเป้าการขายโดยมุ่งหวังว่าตั้งแต่ปี 2553-2558 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ยอดขายของบริษัทจะเพิ่มอีกร้อยละ 90"
เจ้าหน้าที่จากโครงการพัฒนากลไกทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร ระบุ ผลพวงจากการทุ่มเททำงานของพนักงานไลอ้อน ทั้งระดับปฏิบัติงานและฝ่ายบริหารที่ร่วมใจกันทำอย่างเต็มที่ ซึ่งความทุ่มเทนี้มาจากการที่องค์กรให้ความสุขใจแก่พนักงาน เสริมสร้างให้พนักงานสามารถสร้างความสุข ความภาคภูมิใจได้จากภายใน จึงทำให้บริษัทมีผลผลิตที่ดีและเติบโตรุดหน้า รวมถึงกลับมาช่วยจรรโลงสังคมให้ดีขึ้นอีกด้วย