เปลี่ยนแปลงเมืองไม่ใช่เรื่องโลกสวย
ที่มา : เว็บไซต์สวนผักคนเมือง CITYFARM
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ และเว็บไซต์สวนผักคนเมือง CITYFARM
เรื่องราวดีๆ จากเวทีเสวนาเปลี่ยนแปลงเมืองไม่ใช่เรื่อง “โลกสวย” ที่ 2 ฝ้าย คือ คุณกรชชนก หุตะแพทย์ กับ คุณฝ้ายคำ หาญณรงค์ ได้นำมาเล่าสู่กันฟังไว้ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2559 ณ Ma:D Club for Better Society
เริ่มจากเรื่องราวของ น้องฝ้าย กรชชนก หุตะแพทย์ คนรุ่นใหม่ที่เติบโตในครอบครัวที่สนใจเรื่องการพึ่งตนเอง และได้ไปเรียนต่อในสาขาวิชา Urban Environmental Management ที่มหาวิทยาลัย Wageningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ กันก่อน
น้องฝ้ายเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ฟังว่า เมื่อก่อนตอนที่ยังเป็นเด็ก ตัวเองเป็นคนโลกสวย ที่บ้านปลูกผัก ก็รู้สึกดี ตอนนั้นมีรายการทุ่งแสงตะวันมาถ่ายทำด้วย ก็รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนสนใจ แต่พอโตขึ้น เข้าเรียนในคณะวิศวสิ่งแวดล้อม ก็รู้สึกว่าโลกเริ่มไม่สวย รู้สึกว่ามันไม่ใช่คำตอบ เพราะมันแค่ทำงานไปตามที่ถูกกำหนดไว้ พอที่บ้านเริ่มทำศูนย์อบรมสวนผักบ้านคุณตา ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์อบรมในเครือข่ายสวนผักคนเมือง ที่เปิดอบรมทั้งเรื่องการทำเกษตรในเมือง และการพึ่งตนเองให้กับผู้ที่สนใจ ตัวเองก็มีโอกาสได้เป็นวิทยากร ซึ่งน้องฝ้ายก็บอกว่าตอนนั้น จริงๆไม่ค่อยรู้อะไรมาก พูดเรื่องการปลูกผัก ก็พูดไปตามที่ทำ แต่รู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมมันไปไกลมาก และก็รู้สึกว่าเรื่องของเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว และมีหลายสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไข เลยคิดว่าต้องไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพื่อเอามาต่อยอดความรู้เดิมของตัวเอง สุดท้ายเลยตัดสินใจไปเรียนต่อ ในสาขาวิชา Urban Environmental Management ที่มหาวิทยาลัย Wageningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่มีจุดเด่นที่น่าสนใจหลายอย่าง
จากประสบการณ์การออกเดินทางไปศึกษาที่ต่างแดนนั้นน้องฝ้ายบอกว่าได้เรียนรู้หลายอย่าง โดยเฉพาะได้เรียนรู้ทฤษฎีที่จับต้องได้ ต่างจากที่เคยเรียนมาเมื่อก่อน นอกจากนี้ก็ยังได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ และก็ได้ลงมือทำจริงๆ
ตัวอย่างแนวคิดเรื่องการจัดการและแก้ไขปัญหาเมืองที่น่าสนใจคือเรื่อง การศึกษาเรื่อง Urban Metabolism ซึ่งเป็นการมองว่าเมืองเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตหนึ่ง มีการบริโภค และมีการขับถ่าย ซึ่งแนวทางสำคัญที่จะนำไปสู่การออกแบบเมืองที่ยั่งยืนได้นั้น เมืองจะต้องมีการจัดการระบบการทำงานของสิ่งต่างๆ ในเมืองให้เป็นวงจร สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือที่เรียกว่า Closing cycle หรือ Cradle to Cradle โดยหลักการที่เขาใช้ก็คือ Urban Harvesting มีข้อปฏิบัติคือ มีแหล่งพลังงานที่หลากหลาย เช่น ใช้น้ำจากหลายแหล่ง เช่นน้ำฝน ใช้พลังงานหลากหลาย มีหลักการขั้นบันได มีการ reuse recycle ให้เป็นวงจรปิดในเมืองของเรา ไม่ต้องดึงทรัพยากรจากที่อื่นมาใช้
ยกตัวอย่างเช่นในเมืองหนึ่งๆ มีโซนอุตสาหกรรม มีโซนเกษตรกรรม และโซนที่อยู่อาศัย มีการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากร ร่วมกัน คือมีการ reuse พลังงาน จากความร้อนสูงที่ส่งออกมาจากโซนอุตสาหกรรม ก็นำมาใช้ในระบบกรีนเฮาส์เพื่อผลิตอาหาร และความร้อนที่เหลือจากกรีนเฮาส์ ก็นำมาใช้สำหรับเครื่องทำความร้อน Heater ในครัวเรือน
หรืออย่างน้ำที่ครัวเรือนใช้ จากน้ำดีพอเป็นน้ำเสียจากครัวเรือน ก็นำมาบำบัดใช้ในใช้ในกรีนเฮาส์ และที่เหลือจากกรีนเฮาส์อีกก็นำไปใช้ในระบบหล่อเย็นอุตสาหกรรม คือแทนที่แต่ละโซนจะดึงทรัพยากรมาใช้ แล้วทิ้งไป เป็นแบบระบบเส้นตรง (Linear metabolism หรือ Cradel to grave) ก็นำมาใช้ร่วมกัน ไม่มีเสียเปล่า
น้องฝ้ายยังแบ่งปัน แนวคิดการวางแผนออกแบบเมือง หรือ Urban Planning ที่ได้ไปเรียนรู้มาให้ฟังด้วยว่า เรื่องของ Urban Planning เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่ต้องทำ เพราะในอนาคตรูปแบบเมืองก็จะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเมืองจะมีความกะทัดรัดมากขึ้น ไม่กระจายตัว ถูกใช้ในแนวตั้งขึ้น ,เมืองจะมีโซนต่างๆอย่างชัดเจนแต่จะอยู่ร่วมกัน เพื่อให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้มากขึ้น, อาคารต่างๆก็จะเป็น Complex มากขึ้น มีหลายอย่างรวมอยู่ในตึก เช่นร้านค้า ธนาคาร ที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยลดการเดินทาง, เมืองจะเล็กลง เอื้อต่อการเดิน การใช้จักรยานได้ มากขึ้น แทนการใช้รถส่วนตัว, การใช้พลังงานหมุนเวียน ถูกนำมาใช้ในระดับครัวเรือนได้อย่างกลมกลืน, เรื่องขนส่งสาธารณะจะมีความสำคัญ, และเรื่องพื้นที่สีเขียว โดยเกษตรในเมืองจะถูกนำเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายมากขึ้น
น้องฝ้ายเล่าให้ฟัง พร้อมกับแบ่งปันให้เราเห็นว่า ไม่เพียงแค่ทฤษฎีที่ได้ร่ำเรียนในห้องเรียนเท่านั้น แต่ในวิถีชีวิตที่อยู่ที่นั่น ทำให้น้องฝ้ายได้สัมผัสว่า สิ่งที่เป็นทฤษฎีนั้น สามารถนำมาใช้ได้จริง และมีให้เห็นในวิถีชีวิตประจำวันตลอด อาจกล่าวได้ว่าการเดินทางไปต่างแดนครั้งนั้น ทำให้น้องฝ้ายรู้สึกภูมิใจและมั่นใจในการขับเคลื่อนงานของสวนผักบ้านคุณตามากขึ้น หากใครมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนสวนผักบ้านคุณตาก็จะเห็นว่า ที่นั่นมีระบบการจัดการบ้าน สวน ครัว ได้อย่างครบวงจร และเป็นระบบหมุนเวียนแบบ Closing Cycle ที่เรียนมาเลยทีเดียว “เราต้องเริ่มจากบ้านเราก่อน ลงมือทำให้เป็นนิสัยก่อน แล้วก็จะกลายเป็นตัวอย่างของคนรอบข้าง และเป็นที่พึ่งได้ สามารถเผยแพร่และสอนให้คนอื่นๆได้ด้วย” น้องฝ้าย กล่าว
จากแนวคิด ทฤษฎีและตัวอย่างต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการจัดการเมืองให้น่าอยู่และยั่งยืนที่น้องฝ้ายนำมาเล่าสู่กันฟังแล้ว คราวนี้ลองมาฟังเรื่องราวประสบการณ์การเคลื่อนไหวภาคประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กรีซและสเปน ซึ่งฝ้ายคำได้มีโอกาสไปสัมผัสมากันบ้างนะคะ
เป็นเรื่องบังเอิญอย่างมากที่ ฝ้ายคำ หาญณรงค์ ก็เรียนจบด้านวิศวสิ่งแวดล้อมมาเหมือนกัน และก็พบว่าทางออกที่เขาเสนอในตอนที่เรียนนั้น ส่วนใหญ่เป็นเชิงการแก้ปัญหาในตอนท้าย แต่ตัวปัญหาที่แท้จริงยังคงอยู่ ฝ้ายคำเล่าให้ฟังว่า ตัวเองเป็นคนชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนก็อยู่ชมรมอนุรักษ์ ก็ได้ลงชุมชน เลยสนใจมาทำงานเป็นนักสิ่งแวดล้อม กับ Thai Climate Justice ฝ้ายคำเรียนจบปริญญาโทเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงนโยบาย ที่ฮังการี กรีก และสวีเดน โดยเรียนเรื่องการจัดการขยะที่กรีก และก็พบว่าเขามีการแก้ปัญหาที่ต้นทาง และมีการทำนโยบายให้ไม่มีขยะได้อย่างน่าสนใจ จนล่าสุดฝ้ายคำมีโอกาสได้ไปเรียนคอร์สระยะสั้นที่บาเซโลน่า เป็นการเรียนเรื่องการไม่เติบโตก็ทำให้ประเทศเจริญได้เหมือนกัน หรือที่เรียกว่า Degrowth นอกจากวิชาเรียนจะน่าสนใจแล้ว ฝ้ายคำยังมีโอกาสได้ไปสัมผัสและมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เกิดขึ้นที่บาเซโลน่าด้วย
ฝ้ายคำเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ของบ้านเมืองตอนที่ไปให้ฟังว่า ช่วงนั้นเป็นช่วยที่ระบบการเงินมีปัญหา ระบบนโยบายก็มีปัญหา เช่นเรื่องที่อยู่อาศัย แทบทุกอาทิตย์ก็จะมีคนโดนไล่ที่ประมาณ 80 ครอบครัว จากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจึงมีการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเกิดขึ้นมากมาย โดยเขาเชื่อว่าประชาธิปไตยกับการเปลี่ยนแปลงเมือง จะต้องเกิดจากตัวบุคคลในชุมชนนั้นเอง ทำให้ที่นั้นมีตึกหรืออาคารร้างหลายแห่งที่คนในชุมชนเข้าไปยึด และก็จัดการประชุม จัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชน บางแห่งก็ทำเป็นสวนผักชุมชนก็มี
หนึ่งในกิจกรรมที่ฝ้ายคำได้เข้าร่วม ก็คือ การเคลื่อนไหวเรื่อง Food Waste ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเขาพบว่าในแต่ละวัน 1 ใน 3 ของอาหาร จะกลายเป็นขยะ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียในระหว่างการผลิตกับการบริโภค หรือนิสัยการชอบซื้อของมาเก็บไว้เยอะๆ จะเหลือทิ้ง หรือมีพืชผักจำนวนไม่น้อยที่หน้าตาไม่สวย ถูกคัดทิ้งจากร้านอาหาร จากปัญหาเหล่านี้ จึงมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ออกมารวมตัวกัน และก็แยกย้ายกันไปเก็บขยะอาหารตามจุดต่างๆของเมือง เช่นร้านขนมปัง ร้านผักผลไม้ และจุดถังขยะใหญ่ๆ ที่เขาเรียกว่า Dumpster Dive คือเป็นถังขยะอาหารโดยเฉพาะ และมีขนาดใหญ่มาก คนเก็บต้องมุดตัวเข้าไปอยู่ในถังกันเลยทีเดียว ความน่าสนใจของขบวนการนี้คือเมื่อแต่กลุ่มไปเก็บขยะอาหารมาได้แล้ว พวกเขาก็จะนำมารวมกัน ช่วยกันตัดแต่ง คัดเลือก และแปรรูป แล้วนำมาวางริมถนน เพื่อแบ่งปันกัน
ประเด็นสำคัญของการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือ ไม่ใช่การเก็บขยะอาหารมาแบ่งปันกันไปกินเฉยๆ แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่ต้องการบอกให้คนอื่นรับรู้ด้วย โดยวิธีการของเขาก็คือนำขยะอาหารเหล่านี้ไปวางริมถนน เพื่อเรียกคนให้สนใจและเข้ามาพูดคุยเรื่องปัญหาขยะอาหารด้วยกัน เป็นทำกิจกรรมเพื่อส่งเสียงให้คนอื่นรับรู้ด้วย และเมื่อจบกิจกรรม ก็จะมีการล้อมวงคุยกันถึงเรื่องนี้ด้วย
และจากเรื่องราวที่ฝ้ายคำเล่า ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่นำไปสู่กิจกรรมคุ้ยถัง (ขยะ) ดูสังคมที่เราจัดขึ้นในภาคบ่ายของวันนั้นด้วย โดยพวกเราไปออกไปช่วยกันคุ้ยถังขยะที่อยู่ในบริเวณรอบที่เสวนาของเราด้วยกัน “การสำรวจบริบท สภาพเมือง ชุมชน ให้เข้าใจมันก่อนเป็นสิ่งสำคัญ ปัญหาเรื่องนี้บ้านเราควรเริ่มจากตรงไหนดีถึงจะแก้ได้ เราก็ต้องค่อยๆคลี่ปม” ฝ้ายคำกล่าว
อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งเเรกของหลายต่อหลายคนที่ได้คุ้ยถังขยะกันจริงๆ ในวันนั้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เราได้เห็นว่าขยะในชุมชนแถวนี้มีอะไรอยู่บ้างแล้วนั้น ก็น่าจะทำให้หลายคนเกิดความคิด ความเปลี่ยนเเปลงขึ้นในใจมากมาย บางคนบอกว่าเห็นใจคนเก็บขยะ บางคนบอกว่าประทับใจกลิ่น บางคนไม่คิดว่าของที่เราทิ้งจะส่งกลิ่นได้มากเพียงนี้ บางคนได้เรียนรู้ว่าการเเยกขยะตั้งเเต่ต้นทางมันง่ายกว่ามากบางคนรู้สึกอยากกลับบ้าน อยากกลับไปดูขยะ เเละจัดการขยะที่บ้านบางคนไม่คิดว่าเราจะสร้างขยะกันมากขนาดนี้ การได้ลงมือทำ ได้เห็น ได้เข้าใจปัญหาเช่นนี้น่าจะมีส่วนช่วยทำให้หลายคนในวันนั้นได้ฉุกคิดเเละเริ่มลงมือเปลี่ยนเเปลงบางอย่างกัน
ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือวันนั้นเรามีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวประสบการณ์ของ นิต้า เด็กรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงปัญหา มองเห็นว่าโลกที่เป็นอยู่มันดูเพี้ยนๆ จึงคิดลุกขึ้นมามีส่วนช่วยในการจัดการปัญหาขยะด้วยโดยการไปรับขยะมาจากร้านอาหาร เเละนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักที่บ้านตัวเอง เเม้ว่าจะเริ่มทำมาเป็นเวลาไม่นานเเละเเม้ว่าประสบการณ์การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารจะมีไม่มากนัก เเต่ก็เชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่ที่คิดเเละเริ่มต้นลงมือทำด้วยตัวเองเช่นนี้ก็เป็นเเรงใจสำคัญให้หลายคนมองย้อนดูตัว เเละอาจจะช่วยขับเคลื่อนให้หลายคนกล้าที่จะออกเดินเพื่อช่วยกันเปลี่ยนเเปลงเมืองได้ด้วยกันเปลี่ยนเเปลงเมืองไม่ใช่เรื่อง "โลกสวย" ที่เราทำเพียงเพื่อตอบโจทย์ความฝันหวานๆ ของเราเท่านั้น เเต่การลงมือทำเเละร่วมกันขับเคลื่อนเปลี่ยนเเปลงเมืองนี้เป็นสิ่งสำคัญ จำเป็นเเละเป็นไปได้หากเรารวมพลัง เเละช่วยกันทำ
น้องฝ้ายเน้นย้ำว่า ยังไงเราก็ต้องลงมือทำ ทำให้เห็น จนสามารถเป็นที่พึ่ง เป็นตัวอย่างของคนอื่นได้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด ส่วนฝ้ายคำ ก็เน้นย้ำเช่นกันว่า เราต้องวางเป้าหมายให้สูง อย่าประเมินตัวเองตำ ต้องมองให้เห็นปัญหา การเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล หรือพลังผู้บริโภคเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กันก็คือเรื่องของกฎหมายและนโยบาย ที่จะต้องเอื้อต่อการปฏิบัติด้วยเช่นกัน