เปลี่ยนพฤติกรรมการ ‘กิน’ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
ที่มา : เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์จส.100
สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนาในหัวข้อ "ช่วยชีวิตก่อนหัวใจวายเฉียบพลันได้อย่างไร" โดยมี ผศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม, ศ.นพ.สันติ์ หัตถีรัตน์ และ นพ.สมชาย กาญจนสุต ร่วมบรรยายณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กทม.
ศ.นพ.สันติ์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับหัวใจ มีหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ หรือในเพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป เพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน อีกทั้งผู้ที่มีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีประวัติเคยผ่านภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ฯลฯ หนึ่งในทางป้องกันคือการพกยาขยายหลอดเลือด(ชนิดอมใต้ลิ้น) ชื่อสามัญทางยาคือ ISDN (Isosorbide Di-Nitrate) ซึ่งหาซื้อง่าย และราคาไม่แพง แต่ข้อควรระวังคือ ผู้ที่บริโภคยาหรือผลิตภัณฑ์เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ หรือผู้ที่มักมีอาการหน้ามืดเป็นลมอยู่บ่อยครั้ง ไม่ควรใช้ยาเพราะจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน
ขณะที่ ผศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม คณบดีสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทยว่า บริโภคอาหารที่มีรสจัด หวาน มัน เค็ม ซึ่งโดยมากไม่ใช่อาหารที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย สามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลา 3-5 นาทีเท่านั้น การพกยากลุ่ม ISDN ไม่เพียงแต่จะช่วยชีวิตตนเองเท่านั้น บางกรณีที่พบเห็นผู้อื่นอยู่ในภาวะหัวใจขาดเลือด ยังสามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้ด้วย
ขณะเดียวกัน นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในประเทศที่พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว รถการแพทย์ฉุกเฉินสามารถเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากเส้นเลือดหัวใจตีบ, ตัน ได้ภายใน 4-5 นาทีหลังจากรับแจ้ง แต่ในประเทศไทยยังใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 นาที จุดนี้เองที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียโดยไม่ควรจะเป็น อยากฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนเร่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีหน่วยปฏิบัติการเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับประชากรในพื้นที่ เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันท่วงที