เปลี่ยนผักเป็นสบู่ เรื่องง่ายทำได้เอง
เป็นที่ทราบกันดีว่าสบู่คือสิ่งที่ใช้ในการทำความสะอาดร่างกาย ชะล้างน้ำมัน ละลายไขมันและสิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้การชำระล้างสะอาดมากขึ้น สบู่จึงเป็นสิ่งที่ทุกครัวเรือนต้องมีติดบ้าน แต่ทราบหรือไม่ว่า พืชผักสวนครัวที่เรานิยมปลูกไว้ใช้รับประทานและเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร สามารถนำมาทำเป็นสบู่ได้
กิจกรรม "เปลี่ยนผักเป็นสบู่" โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำสบู่จากพืชพันธุ์ที่ปลูกแล้วไม่ค่อยงาม มาปรับเปลี่ยนเป็นสบู่ซักล้างจากของเหลือใช้ใกล้ตัว
พี่กอล์ฟ-ชูเกียรติ โกแมน ผู้เชี่ยวชาญจากสวนผักคนเมือง กล่าวว่า สบู่เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การอาบน้ำ ล้างมือ หรือใช้สำหรับทำความสะอาดสิ่งของ อย่างการล้างจานหรือซักผ้า จึงคิดค้นการทำสบู่ไว้ใช้เองจากวัตถุดิบหรือสิ่งของที่เหลือใช้ในบ้าน โดยใช้ผักมีกลิ่นที่เรามีอยู่ เช่น ตะไคร้หอม ขมิ้น หรือสีจากดอกไม้ อาทิ ดอกอัญชัน มาทำ ซึ่งสบู่ผักที่ทำขึ้นสามารถนำมาใช้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายได้เหมือนกับสบู่ที่วางขายในท้องตลาด
การทำสบู่ผักสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้พืชผัก สมุนไพร หรือผลไม้ที่มีสรรพคุณตามความชอบ โดยสมุนไพรที่นำมาเป็นส่วนผสมของสบู่มีคุณประโยชน์ต่อผิวหลายชนิด อาทิ ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ได้แก่ ว่านหางจระเข้ กล้วย มะละกอ ส้ม รำข้าว ฯลฯ มีกรดบำรุงผิว ได้แก่ ส้มป่อย มะขาม มะนาว มะเฟือง มะดัน มะไฟ สับปะรด ส้มแขก ใบบัวบก ขมิ้นชัน ตะไคร้ ฯลฯ รักษาผิวหนังผื่นคัน ได้แก่ ใบฝรั่ง เปลือกทับทิม, เปลือกมังคุด ใบสะระแหน่ ดอกกานพลู ใบฟ้าทลายโจร เสลดพังพอน ว่านหางช้าง ฯลฯ สำหรับขัดผิว ขิง ขมิ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ น้ำมันที่นำมาใช้ทำสบู่อาจเป็นน้ำมันที่เหลือจากการทอดก็ได้ แต่สบู่ที่ได้จะใช้ในการซักผ้าและทำความสะอาดสิ่งของ โดยกิจกรรมดังกล่าวจะเน้นการทำสิ่งของที่มีอยู่นำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
ส่วนประกอบหลักในการทำสบู่ ก็คือ 1.ไขมันและน้ำมัน อาจเป็นไขมันสัตว์หรือน้ำมันพืชก็ได้ เช่น ไขวัว กระบือ น้ำมันหมู ฯลฯ ไขมันพืช เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก ข้าวโพด เมล็ดฝ้าย ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และน้ำมันละหุ่ง ฯลฯ 2.น้ำด่าง คือน้ำด่างสำเร็จรูปที่ขายในท้องตลาด เรียกว่าโซดาไฟ หรือผลึกโซดา หรือผลึกโซเดียมไฮดรอกไซด์ ราคาถูก มีขายทั่วไป หรือน้ำด่างที่ได้จากการชะล้างขี้เถ้า เรียกว่าโปแตช 3.ผักสมุนไพรเพื่อสรรพคุณที่ดีต่อร่าง กาย
คำนวณปริมาณด่างที่ใช้สูตร โดยน้ำหนักไขมันแต่ละชนิดมาคำนวณปริมาณด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ใช้ แล้วเอามารวมกันเป็นปริมาณรวม เช่น น้ำ = (ปริมาณด่างที่ใช้ (A) x 3.33) หรือ ปริมาณน้ำ = (A x 3.33) – A ตัวอย่างเช่น น้ำมัน 1 กรัม ปริมาณของด่างที่ทำปฏิกิริยาหมดพอดีกับน้ำมันชนิดต่างๆ คือ น้ำมันมะพร้าว 1 กรัม ใช้โซดาไฟ 0.169 กรัม น้ำมันปาล์ม 1 กรัม ใช้โซดาไฟ 0.1306 กรัม น้ำมันมะกอก 1 กรัม ใช้โซดาไฟ 0.1246 กรัม น้ำมันรำข้าว 1 กรัม ใช้โซดาไฟ 0.1233 กรัม น้ำมันถั่วเหลือง 1 กรัม ใช้โซดาไฟ 0.1246 กรัม น้ำมันละหุ่ง 1 กรัม ใช้โซดาไฟ 0.1183 กรัม น้ำมันงา 1 กรัม ใช้โซดาไฟ 0.1266 กรัม น้ำมันข้าวโพด 1 กรัม ใช้โซดาไฟ 0.126 กรัม น้ำมันเมล็ดทานตะวัน 1 กรัม ใช้โซดาไฟ 0.1256 กรัม
อุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ ถ้วย ถัง แก้ว หรือหม้อที่ทำด้วยเหล็กหรือหม้อดินก็ได้ แต่อย่าใช้หม้ออะลูมิเนียม เพราะด่างจะกัด, ถ้วยตวงที่ทำด้วยแก้วหรือกระเบื้องเคลือบ, ช้อนกระเบื้องเคลือบหรือช้อนไม้ และใบพายสำหรับคน, แบบพิมพ์สบู่, ผ้าฝ้ายหรือกระดาษมันสำหรับรองรับสบู่ในแบบพิมพ์ ใช้สำหรับช่วยยกสบู่ออกจากแบบพิมพ์ง่ายขึ้น
ขั้นตอนในการทำสบู่ 1.เตรียมน้ำมัน หรือไขมัน ถ้าไขมันไม่สะอาดควรทำให้สะอาดเสียก่อน โดยเอาไปต้มกับน้ำในปริมาณที่เท่ากันในกาต้มน้ำ เมื่อเดือดแล้วเทส่วนผสมผ่านผ้าบางๆ หรือตะแกรงสำหรับกรองลงในภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วเติมน้ำเย็นลงไป 1 ส่วนต่อส่วนผสม 4 ส่วน ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นโดยไม่ต้องคน
2.เตรียมน้ำด่างผสม ทำได้โดย ตวงน้ำตามปริมาณที่ต้องการ แล้วค่อยๆ เติมด่าง (ผลึกโซดา) ที่จะใช้ลงไปในน้ำ ไม่ควรเติมน้ำลงไปในด่าง เพราะจะเกิดความร้อนและกระเด็นทำให้เปรอะเปื้อนได้ แล้วปล่อยให้น้ำด่างผสมนี้เย็นลงจนปกติ
3.ค่อยๆ เติมน้ำด่างผสมนี้ลงไปในไขมันที่ละลายแล้วในข้อ 1. ขณะที่เติมนี้ต้องคนส่วนผสมทั้งหมดนี้อย่างช้าๆ และสม่ำเสมอในทิศทางเดียวกัน จนกว่าส่วนผสมจะข้นตามปกติ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เมื่อส่วนผสมเหนียวดีแล้ว เติมผัก สมุนไพร ลงไปคนให้เข้ากัน เทลงในแบบพิมพ์ ซึ่งมีผ้าหรือกระดาษมันรองอยู่
4.หาฝาครอบแบบพิมพ์ แล้วทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน ไม่ควรมีการเคลื่อนย้ายหรือถูกกระทบกระเทือน สบู่จะยึดกันแน่นสามารถเอาออกจากแบบพิมพ์ได้
5.เมื่อสบู่แข็งตัวดีแล้ว นำออกจากแบบพิมพ์ ตัดสบู่ออกเป็นชิ้นๆ ตามขนาดที่ต้องการ แล้วนำไปวางเรียงไว้ให้อยู่ในลักษณะที่ลมพัดผ่านได้ทั่วถึงในบริเวณที่อุ่นและแห้ง ปล่อยไว้ 3-4 สัปดาห์ ก็นำไปใช้ได้
น้องพูห์จัง-ปุณิกา กิตติธรรมวุฒิ อายุ 9 ปี เล่าว่า หนูชอบกิจกรรมนี้ค่ะ เพราะทำให้หนูเรียนรู้วิธีการทำสบู่ ที่ตอนแรกหนูคิดว่าจะทำยากกว่านี้ค่ะ กลับไปบ้านหนูก็อยากลองทำดู แต่ต้องให้คุณพ่อกับคุณแม่ช่วย เพราะมันจะมีอันตรายเวลาใช้โซดาไฟ คุณครูที่สอนบอกว่าต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หนูตั้งใจว่าอยากจะทำสบู่จากผักให้หลายๆ ชนิด เพื่อเอาไว้ใช้ล้างจานที่บ้านและนำไปแจกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนค่ะ
น้องซันซัน-ชัยภัทร ธนพลไพศาล อายุ 9 ปี และป้าติ๊ก-อัญคณา ธนพลไพศาล บอกว่า การทำสบู่เป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้ที่นำไปใช้ได้และมีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะทำเป็นกิจกรรมในครอบครัว ซึ่งน้องซันซันเองก็สนุกกับการทำกิจกรรม เขาให้ความสนใจในการปฏิบัติและอยากกลับไปทำเองที่บ้าน เหมือนได้ความรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ที่ด่างทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นสบู่ นอกจากนี้ เรายังสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมหรือทำเป็นของขวัญมอบให้กับคนอื่นๆ ในช่วงเทศกาลด้วยค่ะ
นายสุรินทร์ ธนาเลิศกุล อายุ 48 ปี บอกว่า กิจกรรมที่ทาง สสส.จัด ผมคิดว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และสามารถนำมาใช้ได้จริงและทำได้ไม่ยากและยังเป็นประโยชน์กับคนทุกๆ กลุ่ม ซึ่งหากมีเวลาและอุปกรณ์พร้อมก็สามารถทำได้เลย เป็นหนึ่งในความรู้ใหม่ๆ และได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้นครับ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์