เปลี่ยนบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อเด็กพิเศษ

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


เปลี่ยนบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อเด็กพิเศษ thaihealth


แฟ้มภาพ


พ่อแม่ผู้ปกครอง มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของกลุ่มบุคคลออทิสติกและเด็กพิเศษ นอกจากนี้เราสามารถเปลี่ยน “บ้าน” ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ทักษะชีวิต ผ่านการสื่อสารทางเลือกได้


มูลนิธิออทิสติกไทย ร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกลุ่มบริษัททรู จัดทำโปรแกรม "บ้านส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติกในชุมชน" สื่อการสอน "การสื่อสารทางเลือก" (AAC) มุ่งเน้นให้เด็กได้รับการฝึกทักษะที่บ้านและชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัว


นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิ ออทิสติกไทย กล่าวถึงที่มาของโครงการ "บ้านส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติกในชุมชน" ว่า ที่ผ่านมาเรามักจะพาลูกไปฝึกในสถาบัน เช่น โรงเรียน หรือศูนย์การศึกษาพิเศษ แต่ความจริง "บ้าน" มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะผู้ปกครอง และต้องมีสื่อที่ตอบโจทย์พัฒนาการด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ รวมถึงเรื่องสุขภาวะด้วย โครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากศูนย์ส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติก โดยการร่วมมือผลิตสื่อทั้งออฟไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งของที่จับต้องได้เสริมทักษะต่างๆ รวมถึงช่องทางออนไลน์ผ่านระบบ True V WORLD ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครอบครัว


วันนี้ผู้ปกครองต่างจังหวัดของเราสามารถเจอกันทางโลกออนไลน์ และมีเนื้อหาวิชาการ ชุดความรู้สำหรับเด็กออทิสติก เกิดเป็นชุมชนทำให้ทุกคนได้พบปะกันง่ายขึ้น  อีกหนึ่งจุดเด่น คือ "การสื่อสารทางเลือก" (Augmentative Alternative Communication-AAC) ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถใช้ได้จริง เป็นที่นิยมในต่างประเทศ อาทิ บัตรภาพ บัตรคำ แอปพลิเคชัน และสื่อฝึกทักษะการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย สื่อด้านศิลปะ ขณะที่ในส่วนของการประกันคุณภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กได้มีการเรียนรู้ที่ดี จะมีแผนติดตามโดยให้ตัวแทนของศูนย์ทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ปกครอง ติดตาม ทำแผน แนะนำ พบปะกลุ่มย่อยและประเมินผล 


ขณะที่ สสส. ได้มีการจัดทำคู่มือแนวทางการฝึกอาชีพด้านเทคโนโลยี สำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ 4 เรื่อง ได้แก่ สติ๊กเกอร์ไลน์ เว็บไซต์ ถ่ายภาพ และภาพยนตร์สั้น และเพิ่มโอกาสการมีอาชีพและรายได้ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า เนื่องจากงานหลักของ สสส. เกี่ยวกับคนพิการ ใน 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เราเน้นในเรื่องการจ้างงานเชิงสังคม เพิ่มโอกาสที่คนพิการจะมีงานทำ หรือพึ่งพาตนเองได้ ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 3,000 อัตราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ยังได้ออกแบบระบบ Health Tracking เพื่อให้คนพิการได้ดูแลสุขภาพของตนเองหลังจากมีงานทำอีกด้วย


รวมถึงจัดทำชุดสื่อ visual strategies การใช้รูปภาพช่วยในการสื่อสารของเด็กออทิสติก ในการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และการใส่หน้ากากอนามัย เพื่อส่งต่อให้กับสมาชิกเครือข่ายบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทั่วประเทศ จำนวน 4,800 ชุด  ในการส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติกและเด็กพิเศษ ในเครือข่ายศูนย์ส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติกในชุมชนทั่วประเทศ 


ด้านนางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดี พก. ได้กล่าวชื่นชมทุกฝ่ายที่ร่วมมือในการผลักดันสื่อการสอนรูปแบบใหม่ รวมถึงอาจารย์และผู้ปกครอง ที่สามารถดึงศักยภาพน้องๆ เด็กพิเศษ ให้ออกมาได้เป็นอย่างดี โดยระบุว่า การที่มีเครื่องมือเข้ามาช่วยจะทำให้เกิดการขยายผลได้เร็วขึ้น เพราะการทำงานเกี่ยวกับเด็กออทิสติกและเด็กพิเศษ เป็นไปไม่ได้เลยที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำได้ ผู้ปกครองต้องผนึกกำลังกันรวมถึงภาครัฐ ทำให้เป็นบ้านหลังใหญ่ทำให้เกิดพลังมากขึ้น


"ในโลกดิจิทัลเราสามารถช่วยกันได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจังหวัดใด สามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใจต้องมาก่อน หากเราช่วยกันคนละไม้ละมือเราก็จะเดินหน้าต่อไปได้ น้องๆ ก็จะสามารถทำงานได้ในอนาคต อยากให้ทุกคนสะท้อนกลับมาว่าการ ที่เอาสื่อไปใช้แล้วเป็นอย่างไร สุดท้ายน้องๆ จะต้องเข้มแข็งขึ้น พ่อแม่ต้องเบาใจว่าหากวันหนึ่งไม่มีคุณพ่อคุณแม่แล้วน้องๆ จะอยู่ได้โดยมีเครือข่ายร่วมกัน" อธิบดี พก. กล่าวทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code