เปลี่ยนความเสี่ยงให้เป็นความสุข ขอพื้นที่ดีๆ ให้หนู

สิ่งที่เด็กๆอยากเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนความเสี่ยงให้เป็นความสุข ขอพื้นที่ดีๆ ให้หนู 

          แสงแดดอันร้อนแรงในเวลาเกือบเที่ยงวัน ไม่อาจจะไล่ชาวบ้านและเยาวชนกลุ่มหนึ่ง ให้ละจากกิจกรรมที่กระทำอยู่ในมือได้ มีเพียงความขันแข็งในการถางพื้นหญ้า ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่รกร้างเสี่ยงต่ออันตรายทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันว่า สิ่งที่ได้กระทำในวันนี้จะทำให้ชุมชนของเขามีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และเอื้อต่อการมีสุขภาพทางกายและใจที่ดีได้

 

          โครงการแผนที่สุขภาพ เพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยง ก่อตั้งขึ้นภายใต้การดูแลของ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาชุมชน โดยให้เด็กและเยาวชนในชุมชนเป็นศูนย์กลางในการชี้และแก้ไขปัญหาร่วมกับคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการนี้ได้มีการจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว

 

          พัชร ภูภองชนะ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในผู้ร่วมโครงการแผนที่สุขภาพฯ บอกเล่าถึงกิจกรรมที่ได้ทำในวันนี้ว่า หลังจากได้สำรวจพื้นที่ก็นำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ ซึ่งในวันนี้ได้พัฒนาพื้นที่รกร้างที่เสี่ยงต่อการมั่วสุ่มและอันตรายในหมู่บ้านยางตลาดร่วมกับชาวบ้านในชุมชน และเขาคิดว่าโครงการนี้จะยั่งยืนและเห็นผลได้ หากทางชุมชนร่วมมือในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

 

          คาดหวังว่าทางหมู่บ้านจะรับเอาแนวคิดของเราไปต่อยอด อยากให้เขาตั้ง 1 วันในรอบเดือนเป็นวันทำความสะอาดของหมู่บ้าน และให้คนในชุมชนออกมาช่วยกัน แต่ที่ผ่านมาทางหมู่บ้านก็มีการตอบรับที่ดี โดยทางผู้ใหญ่บ้านจะช่วยกระจายข่าวไปยังลูกบ้านอยู่เสมอพัชร เล่า

 

          นอกจากนี้โครงการแผนที่สุขภาพ ยังทำให้พัชรได้รู้จักการทำงานกันเป็นกลุ่ม มีความสามัคคี เกิดภาวะความเป็นผู้นำ และเกิดความร่วมมือกับคนในชุมชน ภายใต้การสนับสนุนในการเข้าร่วมกิจกรรมจากโรงเรียนอีกด้วย

 

          ยุวดี ชมดวงทิพย์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านยางตลาด เผยถึงนโยบายในส่วนของทางชุมชนว่า ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนร่วมกันทำความสะอาดโดยเริ่มจากที่บ้านเรือนของตัวเองเป็นอันดับแรก และรวมกลุ่มกันทำความสะอาดพื้นที่ในชุมชนที่รกร้าง เสี่ยงต่อการมั่วสุ่มให้หมดไป 1 ครั้งต่อ 1 เดือน และมีการจัดการประกวดแข่งกันทำความสะอาดชุมชน โดยหวังว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นให้ชาวบ้านสนใจ และหันกลับมาดูแลความเรียบร้อยในชุมชนมากยิ่งขึ้น

 

          โครงการแผนที่สุขภาพฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเยาวชน ที่มีมุมมองความคิด ตีโจทย์ของปัญหาได้แตกต่างจากมุมมองของผู้ใหญ่ ทางโครงการจึงให้อิสระแก่เยาวชนในการตัดสินความเสี่ยงของพื้นที่

 

          ดารณี เวณุจันทร์ หรือ พี่โต้ง ประธานโครงการแผนที่สุขภาพฯ ได้ให้มุมมองความสำคัญในเรื่องนี้ว่า ความจริงเด็กมีความคิดเยอะเลยแต่ขาดโอกาส ดังนั้นเราจึงสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความคิดเห็นให้เยาวชนมีอิสระในการให้ความหมายคำว่าพื้นที่ดี พื้นที่เสี่ยง แต่อยู่ในกรอบของคำว่าพื้นที่ดี ต้องดีต่อสุขภาพ กาย ใจ ปัญญาใจ และสังคมต่อเด็กและเยาวชน เด็กอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างจากที่ผู้ใหญ่มอง เช่นร้านเกมส์ มุมผู้ใหญ่อาจจะมองว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง แต่เด็กกลุ่มนี้กลับมองว่าไม่เชิงเป็นพื้นที่เสี่ยงแต่เพียงอย่างเดียว เกมส์บางครั้งก็เป็นพื้นที่ดี หากเขาใช้ผ่อนคลายอย่างพอเพียง หรืออย่างร้านหนังสือที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นพื้นที่ดี แต่เยาวชนกลุ่มนี้กลับมองว่าในอีกมุมอาจเป็นพื้นที่เสี่ยง หากหนังสือบางเล่มที่ขายไม่เหมาะสมกับเยาวชน

 

          วีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการบริหารแผนเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้มุมมองความสำคัญกับกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่นนี้ว่า การที่เยาวชนเข้าร่วมโครงการแผนที่สุขภาพฯ นอกจากจะทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาด้วยพลังของเด็กๆแล้ว ยังทำให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ไม่มีบรรจุในหลักสูตรการศึกษาใดๆ อีกด้วย การสนับสนุนในการสำรวจพื้นที่ดีและพื้นที่เสี่ยงแบบนี้ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนอีกอย่างหนึ่ง ทำให้เด็กรู้จักคิด และมีการทบทวนแลกเปลี่ยนกันเพื่อหาคำตอบที่ว่า เมื่อเจอพื้นที่เสี่ยงจะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาอย่างไรต่อไป

 

          การรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยงช่วยย้ำให้เราต่างตระหนักว่า ในสังคมยังมีเยาวชนอีกหลายคนที่ได้แสดงพลังไปในทิศทางที่ถูกต้อง ในอนาคตเรายังหวังว่า พลังของเยาวชนเหล่านี้ จะทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของตัวเยาวชนและสังคมไปในทางที่ดี ตามสโลแกนของโครงการที่ว่า คนธรรมดา ทำงานใหญ่ได้

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

 

update: 20-01-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code