เปลี่ยนความคิด หยุดความรุนแรงในครอบครัว

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


เปลี่ยนความคิด หยุดความรุนแรงในครอบครัว thaihealth


แฟ้มภาพ


ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักที่พบคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 พบว่าผู้หญิงซึ่งมีบทบาทเป็นทั้งแม่และเมีย หลายรายถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ


จากกรณีที่เด็กชายวัย 4 ขวบ ถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซี่โครงหัก 2 ซี่ ไหปลาร้าหัก ที่ใบหน้าและตามตัวมีบาดแผลมากกว่า 20 แห่ง ทั้งใหม่และเก่า แพทย์ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ทำให้เกิดความสลดขึ้นในสังคมไทย


แล้วก็ยิ่งสลดขึ้นไปอีก เมื่อแม่ของเด็กและพ่อเลี้ยงยอมรับว่า เป็นผู้ลงมือทำร้ายเด็กจนเจ็บหนัก โดยอ้างถึงเหตุผลว่า โมโหที่เด็กอุจจาระราดใส่ที่นอน และนั่งเล่นอุจจาระตัวเองจนเลอะเทอะไปหมด นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ที่ปรากฏออกมาอยู่เสมอ


เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชาย ก้าวไกล กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง "แม่.ภาระที่แบกรับซ้ำยัง ถูกทำร้าย" ว่า จากการรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ พบว่า มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 350 ข่าว


เนื้อหาข่าวมีการระบุเชื่อมโยงถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 74 ข่าว หรือ ประมาณร้อยละ 21.2 ของข่าวความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด แบ่งเป็นข่าวการฆ่ากันตาย 201 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 57.4 รองลงมา ข่าวการทำร้ายกัน 51 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 14.6 ข่าวการฆ่าตัวตาย 38 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 10.9 ข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคล ในครอบครัว 31 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.9 ข่าวการตั้งครรภ์ไม่พร้อม 10 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 2.9


เมื่อเปรียบเทียบข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในรอบครึ่งปี 2563 เทียบกับปี 2559 พบว่าสูงขึ้นถึงร้อยละ 50 และสูงขึ้นกว่าปี 2561 ร้อยละ 12 โดยในรอบครึ่งปี พ.ศ.2563 ข่าวอันดับ 1 ยังคงเป็นข่าวการฆ่ากันในครอบครัว เป็นข่าว สามีกระทำต่อภรรยาสูงถึง 65 ข่าว สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเครียด เมาเหล้า ติดยาเสพติดแล้วคลุ้มคลั่งหาเรื่องทะเลาะ รวมถึงมีอาการป่วย


ส่วนข่าวภรรยากระทำต่อสามี 9 ข่าว มีมูลเหตุมาจากถูกสามีทำร้ายร่างกายก่อน ปัญหาความขัดแย้ง แค้นสามีนำเงินไปซื้อเหล้า หรือถูกสามีข่มขู่ ยิ่งไปกว่านั้นพบข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัวสูงถึง 31 ข่าว แบ่งเป็นข่าวการข่มขืนโดยบุคคลในครอบครัวสูงถึง 30 ข่าว และข่าวการอนาจารโดยบุคคลในครอบครัว 1 ข่าว


จากข่าวความรุนแรงในครอบครัวจะเห็นได้ว่า ผู้หญิงที่มีบทบาท "แม่-เมีย" ต้องแบกรับทั้งความคาดหวังของสังคมที่ต้องดูแลครอบครัว ยังต้องรองรับอารมณ์ของสามี บางรายถูกทำร้ายร่างกาย บางรายถูกฆ่า บางรายสามีข่มขืนลูก หรือคนในครอบครัวข่มขืนลูก เห็นได้ชัดว่าในระดับครอบครัวนั้น ผู้หญิงต้องแบกรับภาระที่หนักกว่าผู้ชาย


น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬกะภัณ รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุน การควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ความรุนแรงในครอบครัว ที่ผู้หญิงและเด็กได้รับ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักที่พบคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักจะเป็นปัจจัยร่วมสำคัญ โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนอยู่บ้าน จนอาจทำให้เกิดปัญหาทางการเงิน ขาดรายได้ เมื่อมีปัญหาก็เริ่มมีการใช้ความรุนแรง ฝ่ายที่ถูกกระทำก็จะเริ่มเกิดความกลัว กระทบจิตใจ และปัญหาก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันในต่างประเทศก็มีรายงานสถิติการหย่าร้าง ที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ด้วย


น.ส.รุ่งอรุณ ขยายความถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยว่า เป็นต้นตอของปัญหาสำคัญใน 4 มิติ ได้แก่ 1.ด้านสุขภาพ ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในปอด เสี่ยงติดโควิด-19 ถึง 2.9 เท่า 2.ด้านอุบัติเหตุทางถนน กว่าร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุทางถนน เกิดจากการดื่มแล้วขับ และจะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 40 ในช่วงเทศกาล 3.ด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 90,000 ล้านต่อปี และ 4.ด้านความรุนแรงในครอบครัว ที่มีทั้งผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบ จากความรุนแรงในครอบครัว


ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติคดีความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง โดย 1 ใน 3 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ ขณะที่กลุ่มที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกกระทำรุนแรง และร้องขอความช่วยเหลือนั้น มีน้อยมากเพียงร้อยละ 17 จากทั้งหมด


ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รวบรวบข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำรุนแรงในครอบครัว ในปี 2562 พบว่า เกิดความรุนแรงในครอบครัว 1,376 เหตุการณ์ แต่มีการดำเนินคดีเพียง 354 คดี ซึ่งไม่ถึงครึ่งของจำนวนเหตุการณ์จริงทั้งหมด โดย 53% ถูกกระทำความรุนแรงโดยคู่รักหรือคน ในครอบครัว ซึ่งผู้กระทำความรุนแรงมากกว่าครึ่ง เป็นคนคุ้นเคย หรือบุคคลในครอบครัว โดยสถานที่เกิดเหตุเกิดมักจะเป็นในที่พักของผู้ถูกกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเภทข่าวข่มขืน และมีหลายกรณีที่อาศัยความไว้ใจเชื่อใจ ในการล่อลวงเหยื่อมาเพื่อกระทำการดังกล่าว


ความรุนแรงต่อ LGBT+ (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) เกิดจากครอบครัวมากที่สุด ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ศึกษาสถานการณ์ความรุนแรง การตีตรา และการถูกเลือกปฏิบัติ พบว่า กลุ่มหญิงรักหญิงต้องเผชิญกับความรุนแรงประมาณ 11% กลุ่มชายรักชาย 13% และคนข้ามเพศ 34.8% โดยสถาบันที่กระทำความรุนแรงให้กับ LGBT+ มากที่สุดอันดับ 1 คือ ครอบครัว รองลงมา คือ สถาบันการศึกษาและที่ทำงาน อายุ 15-19 ปี มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศ ทั้งนี้ การใช้ความรุนแรงกับสมาชิกในครอบครัวนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปเป็นวงกว้างอีกด้วย


ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เหยื่อที่ถูกกระทำรุนแรงจะเกิดภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ หรือส่งผลต่ออารมณ์ บุคลิกภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน มีความกระวนกระวาย จิตใจแปรปรวน บางรายไม่สามารถลืมเหตุการณ์ที่เจ็บปวดได้ จนอาจมีอาการเครียด ท้อแท้เรื้อรัง สูญเสียความมั่นใจในตนเอง กลัวสังคมไม่ยอมรับ อับอาย ซึมเศร้า หรือกระทั่งมีอาการทางจิต หวาดกลัว หวาดผวา แม้เหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว


ซ้ำร้ายเด็กที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ก็จะเกิดผลกระทบทางจิตใจไม่ต่างกับเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงโดยตรง ซึ่งในเด็กผู้หญิงเมื่อโตขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับความรุนแรงมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่ ขณะที่เด็กผู้ชายเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงต่อภรรยา


นั่นก็สืบเนื่องมาจากการถูกทำร้าย หรือได้เห็นความรุนแรงเสมอๆ จะฝังใจเรื่องความรุนแรง และจะเข้าใจผิดว่าปัญหาแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง รวมทั้งจะซึมซับและเลียนแบบ พฤติกรรมความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจกลายเป็นการสืบต่อความรุนแรงต่อๆ ไปอีก


อย่างไรก็ตาม มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แนะนำว่า ทางออกของปัญหาดังกล่าวคือ ต้องสร้างวิธีคิดใหม่ ดังนี้ 


1. ต้องให้เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องของทั้งพ่อและแม่ ทั้งการเลี้ยงลูก การทำงานบ้าน ต้องมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาความเครียดก็สามารถพูดคุยหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน


2. หน่วยงานภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์ช่องทางการให้ความช่วยเหลือ   มีพื้นที่ให้ผู้ประสบปัญหาสามารถขอความช่วยเหลือได้


3. หน่วยงานภาครัฐควรสร้างทางเลือกการมีอาชีพให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่กำลังตกงานให้สามารถพึ่งตนเองได้


4. คนในสังคมต้องไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องในครอบครัว เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที


จะเห็นได้ว่าการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหา สำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากสถาบันครอบครัวมีความใกล้ชิด และสำคัญกับสมาชิกทุกคนมากที่สุด หากครอบครัวเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code