เปลี่ยนคน เปลี่ยนสังคมด้วยละคร
หากเอ่ยคำว่า ละคร หลายคนอาจจะนึกถึงละครหลังข่าวหลากอารมณ์ ที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ นานาพาใจให้ชวนฝัน ทว่าในความเป็นจริงมีละครหลากหลาย รูปแบบที่สามารถสร้างความสนุก เศร้า เสียดสี หรือให้แง่คิด เพราะความเป็นละครสามารถทำหน้าที่ได้มากมาย ไม่ว่าจะให้ความบันเทิง สะท้อนสังคม ตลอดจนสร้างทักษะชีวิตให้กับ คนทำละคร ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ โครงการ ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง
หลายคนอาจสงสัยว่า ละครจะเปลี่ยนแปลง ได้อย่างไร ในขั้นแรก ละครจะทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงตัวผู้ทำละครให้เรียนรู้จักกระบวนการคิด วิเคราะห์ เพื่อเสาะหาประเด็นปัญหาในชุมชนมาทำละคร ต่อจากนั้นจะมีการหาข้อมูล นำมาถกเถียง เพื่อ เป็นการมองปัญหาอย่างรอบด้าน ก่อนจะเข้าสู่ การออกแบบบทละคร และนำเสนอต่อชุมชน เพื่อสะท้อนปัญหาและเป็นเครื่องมือในการเรียกร้อง ต่อคนในชุมชน ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง จึงเน้นการเปลี่ยน คน ก่อน แล้วคนที่ทำละครจะใช้ละครเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป
พี่ก๋วย หรือ พฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิ สื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ที่ว่า ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงมีจุดเริ่มต้นมาจากเจตนารมณ์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเริ่มต้นเมื่อปี 2552 เกิดจากการที่ สสส. มีความสนใจอยากจะทำงานร่วมกับเยาวชน คนรุ่นใหม่ และเกิดความคิดที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะหาสื่อหรือกระบวนการเพื่อให้สามารถเข้าถึง กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้
“การจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้นั้น หากใช้วิธีการที่ธรรมดาก็จะง่ายและ ไม่น่าสนใจ จึงนึกถึงสื่อละครกับสื่อดนตรี และทาง สสส. ได้ชักชวนมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ให้เข้าร่วมเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ โดยรับหน้าที่ ออกแบบโครงการในครั้งนี้ เพื่อเปิดกระบวนการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้” พี่ก๋วย บอกเล่า
พฤหัสเห็นว่า แนวคิดหลังของโครงการนี้ มองว่าละครเป็นกระบวนการเรียนรู้ ที่จะสามารถสร้างเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเยาวชนเนื่องจากผู้เรียนจะต้องลงไปศึกษาปัญหาของท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นกระบวนการ การค้นหาข้อมูล จับประเด็ดที่น่าสนใจของชุมชน แล้วนำมาสร้างและสะท้อนผ่านมุมมองของ ตัวละคร โดยเป็นวิธีการที่เหมาะกับเยาวชนและ นักศึกษาเป็นอย่างมาก
ด้าน วีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการบริหารแผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เป้าหมาย ในการจัดตั้งโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงของ สสส. เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้เยาวชนเป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลก หากเพียงเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเอง จนนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงสิ่งอื่นๆโดยใช้ละครเป็นสื่อ
วีรพงษ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการนำละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงมาพัฒนาเป็นหลักสูตรในครั้งนี้ว่า เดิมทีละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงแค่โครงการ แต่เมื่อนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรก็จะสามารถก้าวไปได้ไกล เพราะเมื่อเป็นหลักสูตร ก็จะมีเครื่องมือ สื่อการเรียน การสอน และบุคลากรที่อาจจะมากกว่า สสส. หรือกลุ่มมะขามป้อม แต่จะไปได้ไกลแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัย
ในระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา ละคร เพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นเพียงโครงการเล็กๆ เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน และสะท้อน ปัญหาที่มีอยู่ภายในชุมชนเท่านั้น แต่ ณ วันนี้ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้ถูกบรรจุเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนภายในสถาบันอุดมศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เมื่อถามถึงการนำเอาละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเข้ามาเป็นวิชาเรียนภายในมหาวิทยาลัย อ.ชุมศักดิ์ สีบุญเรือง ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) กล่าวว่า หลักสูตรละคร เพื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดความร่วมมือกันระหว่างคณาจารย์จากสาขาวิชาการสื่อสารมวลชน นำโดย อ.ชาคริต สุดสายเนตร, อ.พิษณุรักษ์ ปิตาทะสังข์ กลุ่มมะขามป้อม และ สสส. ร่วมผลักดันให้เกิด หลักสูตรนี้ขึ้นมา
อ.ชุมศักดิ์ เล่าถึงที่มาที่ไปของหลักสูตรละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงศึกษาธิการพยายามที่จะให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา มีการกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ คือการพยยายามทำให้ทุกหลักสูตร สร้างเด็กให้มีความรู้ควบคู่กับการคิดวิเคราะห์เรื่องของการบูรณาการกับงานทางด้านต่างๆ เมื่อมีการดึงละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเข้ามาในหลักสูตร ก็จะส่งผลทำให้เกิดการบูรณาการกับงานทางด้านอื่นๆด้วย
นอกเหนือจากการสอนแล้วทางมหาวิทยาลัยก็ยังมีในเรื่องของการบริหารวิชาการ ซึ่ง อ.ชุมศักดิ์ ได้อธิบายในเรื่องนี้ว่า สามารถที่จะ พัฒนาในระบบต่อไปได้ อีกทั้งเชื่อว่าละคร เพื่อการเปลี่ยนแปลงมีการทำกันมานานแล้ว และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องเล่าเรื่อง ไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้กลวิธีในการนำเสนออย่างไร การที่เรามีจุดเริ่มต้นนำละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเข้ามาพัฒนาเป็นหลักสูตร หากเรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการสอนหรืองานวิจัยไปสู่ชุมชน เพื่อพัฒนาให้ชุมชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและถือเป็นการพัฒนารูปแบบ ของละครไปในตัว
อ.ชุมศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ส่วนตัวมีความคิดว่า ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอีกหนึ่งสื่อทางเลือกให้กับนิสิต มมส.เพื่อที่จะได้รู้จัก เรียนรู้การทำงานร่วมกันเป็นทีม ได้ค้นพบตัวเอง ได้ทราบถึงความหมายในชีวิต หรือความหมาย ในการทำงาน และได้ตอบแทนสังคมซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี ในมุมมองของ เกษวลี ดาวรรณา ตัวแทน เยาวชนสภาเด็ก จ.มหาสารคาม เห็นว่า กระบวนการ ละครจะสามารถพัฒนาคนได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการพัฒนาบุคลิกภาพ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การมองสังคมในแง่มุม ที่หลากหลายมากขึ้นกว่าโลกของตัวเอง ทำให้มองเห็นปัญหาของสังคม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง พัฒนาตนเองไปในทางที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ เกษวลี ยังเชื่อว่า การนำละครมาพัฒนาเป็นหลักสูตร จะสามารถพัฒนาคน ให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบในศิลปะการแสดงอยู่แล้ว เมื่อนำละครมาปรับใช้กับตัวผู้เรียนแล้ว จะส่งผลให้ผู้เรียน ได้รับอะไรมากมายจากอิทธิพลของละคร ทางด้าน ภาณุพงษ์ งามดี ตัวแทนนิสิตจากกลุ่มละคร pigeon เคยเป็นผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมการแสดงมาแล้ว ได้ให้ ความเห็นเกี่ยวกับการนำละครเข้ามาเป็นรายวิชา ว่า หากผู้เรียนมีความจริงใจ และรักในด้าน การละคร หรือหากใครที่ไม่ชอบ แต่ได้ลองเปิดใจ ที่จะศึกษา ก็จะทำให้ได้รับการพัฒนาด้านทักษะการแสดงละครและกระบวนการคิด เพียง เท่านี้ก็จะสามารถช่วยเป็นแรงผลักดันในการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป
ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นจุดเริ่มต้น ในการเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทัศนคติของ ผู้ทำละครหรือแม้แต่ตัวผู้ชม ที่จะสามารถสะท้อน อีกแง่มุมของคำว่าละครที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคม ได้เป็นอย่างดี
อนาคตของละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะเติบโตไปได้ไกลสักเท่าใด ก็คงต้องขึ้นอยู่กับ ตัวเราที่พร้อมจะเปิดประตูไปสู่การเรียนรู้หรือไม่ และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน และร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมแค่ไหน