เบื้องหลังที่เจ็บปวดของ ‘ชีวิตหลังกำแพง’

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจาก สสส.


เบื้องหลังที่เจ็บปวดของ ‘ชีวิตหลังกำแพง’   thaihealth


"อยากเตือนวัยรุ่นที่ต้องการหางานทำเพื่อหารายได้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว หรือเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ให้ระวัง และควรเลือกงานที่มีที่มาที่ไป ทำงานกับหน่วยงานที่สังคมยอมรับ อย่าด่วนตัดสินใจทำงานเพราะเพื่อนชวนโดยที่เราไม่รู้ที่มาที่ไปของงาน" …นี่เป็นการระบุในรูปแบบการ "เตือน" 


การที่วัยรุ่นหางานพิเศษทำ…นั่นก็เป็นเรื่องดี แต่…ปะเหมาะเคราะห์ไม่ดีอาจเกิดกรณีร้าย!! กรณีร้ายที่ว่านี้…มีกรณีตัวอย่างผู้ต้องขังหญิง


ทั้งนี้ การระบุข้างต้นเป็นการ "เตือน" โดย ผศ.ดร.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย นักวิจัยอิสระ หัวหน้าโครงการเรือนจำสุขภาวะ : พัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพง ที่มี รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งทางนักวิจัยอิสระแจงถึงที่มาของการ 'เตือน' ในลักษณะดังกล่าวเอาไว้ว่า…


หากพิจารณาถึงจำนวน ผู้ต้องขังหญิง ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน พบว่า…ประเทศไทยนั้นมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงต่อจำนวนประชากร 100,000 คนสูงที่สุดในโลก คืออยู่ที่อัตรา 68.2 คน และประเทศไทยก็มีอัตราส่วนผู้ต้องขังหญิงสูงถึงร้อยละ 14.6 ของผู้ต้องขังทั้งหมด โดยส่วนหนึ่ง ที่ไม่ใช่น้อย ๆ เป็น 'คดียาเสพติด'


"เพราะว่าทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่ว่าจะเกิดจากเจตนา หรือไม่ได้เจตนา สำหรับกฎหมายไทยมีโทษจำคุก และไทยมีการประกาศต่อสู้กับยาเสพติดแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน โดยไม่ให้มีข้ออ้างใด ๆ ทั้งสิ้น" และ 'ยาเสพติด' กับ 'งานพิเศษ' ถูกจับผูกกัน


เบื้องหลังที่เจ็บปวดของ ‘ชีวิตหลังกำแพง’   thaihealth


ที่ผ่านมา 'มีวัยรุ่นที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องติดคุก" ผศ.ดร.ธีรวัลย์ ระบุถึงเรื่องนี้ประเด็นนี้ไว้ว่า…จากที่มีประสบการณ์การทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ และได้ศึกษา ประสบการณ์ ชีวิตของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ หลายแห่งของประเทศไทย ก็พบว่า…ผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่ทำผิดด้วยคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งมีทั้งที่เจตนา และไม่ได้เจตนา ซึ่งอยาก "เตือนวัยรุ่นที่หางานพิเศษทำเพื่อหารายได้" ให้ 'ระวัง!!" อย่างเช่น…'งานส่งของ"เพื่อให้ลูกค้าปลายทาง นี่ก็ต้องพิจารณาให้ดี ๆ


'ถ้าเราเป็นเพียงแค่คนขนพัสดุไปส่ง โดยที่เราไม่ได้เห็นของที่อยู่ในกล่องนั้น ว่ามันคืออะไรกันแน่?? งานด้านนี้ในลักษณะนี้ไม่ควรจะตัดสินใจทำ เพราะมีกรณีผู้ที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องขัง จากที่อยู่ในวัยเรียน และตัดสินใจทำงานส่งของเพื่อจะหารายได้ แต่สุดท้ายกลับต้องถูกดำเนินคดีต้องกลายเป็นผู้ต้องขัง!!!"


ทางนักวิจัยอิสระ หัวหน้าโครงการเรือนจำสุขภาวะฯ ยังระบุต่อไปว่า…สังคมในยุคปัจจุบันนั้น เป็นสังคมยุคที่เราต้องมีการใช้ข้อมูลในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ให้มาก ๆ ซึ่งก็รวมถึงเรื่อง การเลือกงานพิเศษทำระหว่างเรียน เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน…โดย ต้องมีข้อมูล ต้องมีการสังเกต ต้องใคร่ครวญให้ดี ๆ และนอกจากนี้ก็ควรต้องปรึกษาพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูอาจารย์ ก่อนจะตัดสินใจรับงานพิเศษนั้น ๆ มาทำ


'ถ้าไม่ระวัง การตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด เพราะถูกหลอกให้ขนยาเสพติด ก็อาจเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ซึ่งจะทำให้อนาคตจบลงตรงนั้นทันที ทั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ตาม"


…เป็นการระบุ "เตือน" ทิ้งท้ายจากนักวิจัย หัวหน้าโครงการเรือนจำสุขภาวะ : พัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพงซึ่งนี่มิใช่การเตือนแบบไม่มีที่มาที่ไป หากแต่เป็นการเตือนแบบทั้งมีที่มาที่ไป…และ 'มีกรณีตัวอย่าง"


ทั้งนี้…"ตกใจมากค่ะ ตอนหิ้วกล่องไปส่งที่ไปรษณีย์แล้วตำรวจมาจับ บอกว่าในกล่องมีกัญชาอัดแท่ง ตอนแรกคิดว่ามันเป็นแค่สบู่เพราะเขาห่อมาอย่างดี ดูสวยงาม แต่พอแกะออกมามันคือกัญชาอัดแท่งจริง ๆ…ก็พยายามมองโลกในแง่ดีว่ามันก็แค่กัญชา โทษคงไม่หนัก แต่มันเป็นกัญชา 8 กิโลกรัม…" …เป็นคำบอกเล่าปนหัวเราะขื่น ๆ พร้อมน้ำตาที่คลอเบ้าของ 'ผู้ต้องขังหญิงวัยรุ่น"รายหนึ่ง ซึ่งแม้เธอจะ 'ถูกหลอกให้ทำ-ถูกหลอกให้ส่งของผิดกฎหมาย" แต่ที่สุดแล้วตามกฎหมายเธอก็ต้องโทษจำคุก 4 ปี


เบื้องหลังที่เจ็บปวดของ ‘ชีวิตหลังกำแพง’   thaihealth


เธอคนนี้เล่าย้อนให้นักวิจัยฟังไว้ด้วยว่า…เห็นเพื่อนที่เรียนคณะเดียวกันมีเงินใช้ไม่ขาดมือโดยที่ไม่ต้องขอทางบ้าน เลยถามว่าทำงานพิเศษอะไร? ก็ได้รับคำตอบว่าถ้าอยากทำบ้างก็ให้เอาพัสดุไปส่งไปรษณีย์ จะได้ค่าจ้างวันละ 1,000-2,000 บาท…'ก็ดีใจว่าจะได้งานพิเศษทำ เพราะอยากได้เงินมาทำอะไรที่อยากทำบ้าง และก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แค่งานขนพัสดุไปส่งไปรษณีย์ ไม่เคยคิดเอะใจเลยว่าของที่อยู่ในพัสดุจะสร้างปัญหาหรือเป็นของที่ผิดกฎหมายไม่เคยคิดมาก่อนว่างานพิเศษที่ทำจะทำให้ชีวิตแย่ขนาดนี้."…เป็นส่วนหนึ่งจากเสียงบอกเล่าไว้โดย "กรณีตัวอย่าง" อันเกี่ยวเนื่องกับ "คำเตือน" ที่ระบุแต่ต้น


'งานพิเศษ" นั้น "วัยรุ่นสนใจทำย่อมเป็นเรื่องดี" ถึงกระนั้น…สังคมยุคนี้ 'จะทำอะไรก็ต้องระวัง" 'เรื่องดีอาจกลายเป็นเรื่องร้ายได้" ในพริบตา!!.

Shares:
QR Code :
QR Code