เบาหวานในเด็กและผู้ใหญ่ต่างกันหรือไม่

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


เบาหวานในเด็กและผู้ใหญ่ต่างกันหรือไม่ thaihealth


แฟ้มภาพ


คำว่า "เด็กเป็นเบาหวาน" ก็เหมือนกับผู้ใหญ่เป็นเบาหวาน โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังตลอดชีวิต มีภาวะแทรกซ้อนตามมา เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเหมือนในผู้ใหญ่ เช่น


  • เบาหวานขึ้นจอตา ทำให้ตามองเห็นไม่ชัด อาจจะต้องมีการยิงเลเซอร์รักษา
  • โรคไต การเป็นโรคเบาหวานนานๆ และคุม ระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ทำให้ไตเสื่อม ปัจจุบันเบาหวานชนิดที่ ๒ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้   เกิดโรคไตวายในคนไทย
  • ปลายประสาทเสื่อม มีอาการชา การรับความรู้สึกที่มือ เท้า ลดลง
  • หลอดเลือดแดงตีบแข็งกว่าปกติ โอกาสจะเป็นหลอดเลือดสมองขาดเลือดหรือ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย มากขึ้น


จุดเริ่มต้นจากเบาหวาน จะไปสู่สาเหตุของโรคเรื้อรังอื่นๆ แต่สามารถชะลอและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี


สิ่งที่สำคัญมากคือ ผู้ป่วยเบาหวาน จะต้องดูเรื่อง ของผลน้ำตาล ดูแลตนเองให้ระดับน้ำตาลอยู่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพื่อป้องกันและชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เหล่านั้น


เบาหวานชนิดที่ 1 มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิด เป็นโรคที่ยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคที่เกี่ยวกับภาวะอ้วน พฤติกรรมการกิน พฤติกรรมการใช้ชีวิตป้องกันได้  


เด็กที่เริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น ไตเสื่อม เบาหวานขึ้นจอตา ได้ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานตั้งแต่เด็กจะต้องอยู่กับโรคเรื้อรังนี้และภาวะแทรกซ้อนไป อีกนาน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่แข็งแรง มีค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือป้องกันอย่าให้เด็กเป็นเบาหวาน นั่นคือ อย่าให้ลูกอ้วน และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต


เด็กที่เริ่มมีภาวะอ้วนจะต้องลดน้ำหนัก อย่าให้อ้วนมากไปกว่านี้ หรือกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงเริ่มมีน้ำตาลสูงผิดปกติแล้ว สามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวานได้ ถ้าให้เด็กได้ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์ให้น้อยลง ใช้ชีวิตกลางแจ้งให้มากขึ้น กลุ่มนี้สามารถกลับมามีน้ำตาลปกติได้ 


ถ้าปล่อยให้เด็กเป็นเบาหวานแล้ว จะมานั่งเสียใจทีหลัง และเป็นตั้งแต่อายุน้อย ค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะถ้าวันหนึ่งเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาแล้ว ไม่สามารถไปแก้ไขภาวะตรงนั้นได้

Shares:
QR Code :
QR Code