เบลอ-เหม่อลอย-วูบบ่อย ‘โรคลมชัก’

ที่มา : เว็บไซต์ MGR Online


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เบลอ-เหม่อลอย-วูบบ่อย 'โรคลมชัก' thaihealth


กรมสุขภาพจิต ชี้คนรักษาโรคลมชักน้อย เหตุเชื่อเกิดจากไสยศาสตร์ ไม่เข้าใจอาการ "เหม่อลอย เบลอ วูบบ่อยๆ" เป็นอาการของโรคนอกจากการชัก ย้ำรักษาเร็วหายขาดสูง รักษาช้าเสี่ยงสมองเสื่อมไว ป่วยจิตเวชซ้ำซ้อนได้


นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคลมชัก (Epilepsy) คนไทยเรียกว่าลมบ้าหมู จัดเป็นโรคของการเจ็บป่วยทางสมอง เกิดจากเซลล์สมองปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาผิดปกติพร้อมกันอย่างเฉียบพลัน ทำให้การควบคุมการทำงานของสมองเสียไปชั่วคราว สาเหตุมาจากทั้งกรรมพันธุ์ ติดเชื้อในสมอง สมองขาดออกซิเจน ดื่มสุรา อุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง เซลล์สมองอยู่ผิดที่ หรือมีเนื้องอกในสมอง ในประเทศไทยคาดว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 1 หรือมีประมาณ 650,000 คน แต่ยังเข้ารับการรักษาน้อยประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากเชื่อว่าว่าเป็นโรคจากไสยศาสตร์ และไม่เข้าใจอาการ ซึ่งนอกจากอาการชักแล้ว ยังมีอีกอาการคือ เบลอๆ เหม่อลอย ไม่รู้สึกตัวหรือที่เรียกว่า วูบไปชั่วขณะ อาจมีตาค้างหรือตาเหลือกด้วยได้  ซึ่งคนไทยยังรู้จักน้อยมาก และมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการวูบหรือเป็นลมทั่วไป จึงไม่ไปรักษา


นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า หากมีอาการทั้ง 2 ชนิด ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการชักให้เร็วที่สุดและให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น หากอาการชักเกิดจากคลื่นสมองผิดปกติทั่วไป จะให้การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการชัก โดยปรับกระแสไฟฟ้าในสมองให้กลับมาทำงานเป็นปกติ ป้องกันเซลล์สมองถูกทำลาย หากเกิดจากเนื้องอกในสมองก็อาจใช้วิธีการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก เป็นต้น หากได้รับการรักษาเร็ว โดยเฉพาะหลังจากมีอาการครั้งแรก จะมีโอกาสหายขาดได้สูง สามารถเรียนหนังสือ หรือทำงานที่เหมาะสมได้ แต่หากไม่รักษาก็จะมีอาการชักปรากฏบ่อย บางรายอาจเกิดเป็นชุดๆ หรือเกิดตลอดวันก็ได้ จะมีผลเสียที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะการชักแบบลมบ้าหมู อาจทำให้เซลล์สมองตาย และทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดโรคทางจิตเวชตามมาได้ประมาณร้อยละ 30


นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า การรักษาโรคลมชักต้องกินยาต่อเนื่อง อย่าหยุดยาเองและไม่ลดจำนวนยาเอง ต้องใช้เวลารักษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงจะควบคุมอาการชักได้ผลดี โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปรับลดหรือหยุดยาเอง ผู้ป่วยประมาณกว่าร้อยละ 70 จะมีโอกาสหายขาด อีกร้อยละ 30 มีอาการดีขึ้น แม้ไม่หายชักทั้งหมดก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ป่วยมักจะไม่กินยาตามแผนการรักษาของแพทย์ เพราะเข้าใจผิดว่ายาจะไปกดการทำงานของสมอง ทำให้โง่ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นยาที่รักษาไม่ได้ทำให้โง่ เพียงแต่ยาบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยคิดช้า หรือมีอาการเซื่องซึมในระยะต้นๆ เมื่อเริ่มกินยาเท่านั้น การกินยาต่อเนื่องจะทำให้การรักษาได้ผล และสามารถป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนทางจิตเวชได้ด้วย


นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคลมชักจะมีความเสี่ยงเสียชีวิตได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป 2-3 เท่าตัว โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชัก ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากการจมน้ำ แม้จะเป็นน้ำตื้น จึงควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ และการออกไปหาปลา สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่กำลังมีอาการชัก ผู้ที่พบเห็นขอให้ตั้งสติให้ดี ระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายจากการชัก ไม่สำลักน้ำลายหรืออาหาร โดยให้จับศีรษะและลำตัวตะแคงไปด้านข้าง และดูแลไม่ให้มีสิ่งของที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น กาน้ำร้อน หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นของแข็ง เพื่อไม่ให้แขนขาของผู้ป่วยมากระแทก หากเป็นไปได้ ให้บันทึกภาพเคลื่อนไหวของอาการชักที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปให้แพทย์วินิจฉัยแยกอาการชักจากโรคลมชักกับโรคอื่นๆ ด้วย จะช่วยให้การรักษาแม่นยำ

Shares:
QR Code :
QR Code