เนรมิตเมืองอุบลฯ ต้นแบบการเรียนรู้

เนื่องจากปัจจุบันปัญหาเด็กและเยาวชนไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งมีเหตุการณ์ชี้วัดอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นข่าวผ่านทางสื่อมวลชนหรือจากผลการวิจัยจำนวนมากว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ กำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน หากไม่ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นรากของปัญหา ก็อาจจะส่งผลในการเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าที่ไม่มีความพร้อม หรืออาจจะเสียอนาคตจนยากเกินเยียวยา

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุบลราชธานี สำนักส่งเสริมและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ จ.อุบลราชธานี มรภ.อุบลราชธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมวันเยาวชนแห่งชาติ จ.อุบลราชธานี “เรียนรู้ แบ่งปัน สร้างสรรค์ สู่อาเซียน” และพิธีเปิดโครงการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการระดับ จ.อุบลราชธานี

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ มรภ.อุบลราชธานี และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการ โดยมีเป้าหมายให้ จ.อุบลราชธานี กลายเป็นเมืองต้นแบบส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนภายในปี 2557

โดยได้ร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูล แหล่งเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชน อาทิ จิตอาสา อนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญา อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักนวลสงวนตัว ฝึกทักษะอาชีพ ซึ่งจะถอดบทเรียน การดำเนินงานใน จ.อุบลฯ เป็นแห่งแรก เพื่อสร้างองค์ความรู้และขยายผลสู่ระดับภูมิภาค อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และระดับอาเซียน เพื่อสร้างความพร้อมแก่เด็กและเยาวชนในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (aec) ในปี 2558

“การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องเตรียมความพร้อม ที่กังวลคือการไหลผ่านทางวัฒนธรรม อาจกระทบเด็กและเยาวชนบางกลุ่ม หากไม่ให้ความสำคัญเรื่องภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมอย่างจริงจังวัฒนธรรมของเราก็อาจสูญหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดรับวัฒนธรรมต่างๆ หากไม่รู้เท่าทันก็อาจไม่สามารถรักษาสิ่งดีๆ ที่มีไว้ได้” นางเพ็ญพรรณ กล่าว

ด้าน ผศ.อานนท์ สุริยา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงานต่อเนื่อง3 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2557 ภายใต้ความร่วมมือของ 5 ภาคีเครือข่ายที่สำคัญ ได้แก่ 1.หน่วยงานภาครัฐ ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเด็กและเยาวชน 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน 3.เครือข่ายด้านวิชาการ ผลิตบัณฑิตให้กับชุมชนท้องถิ่น และให้บริการวิชาการแก่ชุมชน 4.องค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งมีทั้งสิ้น 9 เครือข่าย ทำหน้าที่ร่วมคิด ร่วมดำเนินงาน และ 5.สภาเด็กและเยาวชน เป็นองค์กรกลางการทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์กรและแกนนำด้านเด็กและเยาวชนที่เข้มแข็ง เกิดศูนย์ประสานงาน ศูนย์การเรียนรู้ หลักสูตรและฐานข้อมูลทางวิชาการ สามารถขยายผลสู่เครือข่ายระดับท้องถิ่นของจังหวัดใน 60 พื้นที่

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการวิจัยการดำเนินโครงการสร้างสำนึกพลเมืองเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ที่ สสส.สนับสนุนองค์การบริหารส่วนตำบล 40 แห่ง ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน อุบลราชธานี ยโสธร สงขลา ตรัง นนทบุรี สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา  ดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ 1.คัดเลือกเด็กและเยาวชน แกนนำในท้องถิ่น แล้วดึงเพื่อนๆที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเข้าร่วม 2.ร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ 3.มีผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษา และ 4.ทำกิจกรรมที่ เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น เช่น ขุดลอกคูคลองป้องกันน้ำท่วม แก้ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น

ซึ่งพบว่าโครงการดังกล่าวสามารถลดปัญหาด้านเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น เช่น ติดเกม ท้องก่อนวัย ได้ถึง 50% และคาดว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้จะกลายเป็นพลเมืองดี รักท้องถิ่น หากเติบโตเป็นนักการเมืองก็จะเป็นนักการเมืองที่ดี

“นี่คือคำตอบของประเทศ เนื่องจากแก้ปัญหาตรงจุดตั้งแต่ฐานรากของต้นเหตุ สร้างให้เด็กและเยาวชนมีสำนึกพลเมืองดี ซึ่งปัญหาการเมืองระดับประเทศที่มีการแบ่งแยกทางความคิดรุนแรงขั้นวิกฤติ ขณะนี้เกิดจากความอ่อนแอเรื่องการสร้างพลเมืองจึงควรขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพราะทำให้สังคมเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นดีขึ้นมาก หลุดจากวงจรชีวิตสีเทาที่อยู่รอบตัวกลายเป็นสีขาวสะอาด” รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

นายองอาจ อภิญโญพิมนตร์ (เอ็ม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เยาวชนจิตอาสาที่เสนอตัวมาเข้าร่วมโครงการ “เรียนรู้ แบ่งปัน สร้างสรรค์ สู่อาเซียน” และพิธีเปิดโครงการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการระดับ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า เยาวชนที่ร่วมโครงการเป็นเครือข่ายจิตอาสาทำกิจกรรมและความดีไม่จำกัดรูปแบบ เช่น ทำห้องสมุด การจัดกิจกรรมค่ายอาสาให้กับเยาวชนและการจัดอบรมให้กับนักเรียน เยาวชน เกี่ยวกับเรื่องจิตอาสาคุณธรรม จริยธรรม กิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่เกิดความสนุกสนาน สร้างสรรค์

“สิ่งที่คาดหวังจากเยาวชนที่จะเข้าร่วมโครงการนั้น คาดหวังว่าจะได้รับฟังกิจกรรมและนำเอาไปปรับใช้ในชีวิตของเขา ให้มีการพัฒนาทางด้านจิตใจ จิตวิญญาณของคนด้วย ช่วยเหลือสังคมด้วยจิตอาสาอย่างแท้จริง เพราะยิ่งทำก็จะยิ่งได้ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น” น้องเอ็ม ระบุ

นางสาวลัดดาวัลย์ ยืนยาว (กระแต) คณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า ทราบข่าวจากอาจารย์ว่าจะมีการจัดโครงการนี้ขึ้น จึงมาเข้าร่วม และภายในงานก็มีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย แยกเป็นห้องย่อยต่างๆ ให้เข้าฟังตามความสนใจ

ตัวเองมีความสนใจด้านจิตอาสา เพราะเคยทำโครงงานด้านดังกล่าวเป็นโครงงานเล็กๆ ตอนมัธยม เลยเข้ามาร่วมฟังห้องย่อยนี้ เพราะอยากจะทำประโยชน์เพื่อคนอื่นบ้างมางานในวันนี้ได้ทั้งความรู้มากมาย มีกิจกรรมที่หลากหลาย และสามารถเปลี่ยนมุมมองวิธีคิดของตนเองได้ เป็นงานที่จัดทำเพื่อเด็กเยาวชนจริงๆให้เด็กๆ จากหลายๆ โรงเรียนเข้ามาศึกษาเรียนรู้โครงงานต่างๆ และมีกิจกรรมให้เข้าร่วมตลอดทั้งวัน

นางสาววิรัญญา บุญจอง (เปียโน) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกเข้ากิจกรรม เพราะเป็นคนอีสานแท้ๆ ไม่อยากจะมองข้าม อยากซึมซับวัฒนธรรม ความรู้ ได้เทคนิคพวกการสานต่างๆ การทำบายศรี และได้ความรู้จากวิทยากรในการนำภูมิปัญญาเหล่านี้ปรับใช้ในการก้าวเข้าสู่อาเซียนนอกจากนี้ยังได้ความรู้ไปใช้ได้ เช่น การสานปลาจากใบมะพร้าว นำไปประดิษฐ์เป็นของเล่นให้กับน้องๆ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อของเล่นแพงๆ และยังได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆได้ความรู้มากมายจากบูธของโรงเรียนต่างๆ ที่มาจัดแสดง อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้จัดขึ้นอีก หากใครไม่ได้เข้าร่วมคงต้องรู้สึกเสียดายอย่างมาก

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

Shares:
QR Code :
QR Code