‘เท่าเทียม ทั่วถึง ชุมชนเกื้อกูล’ สร้างชุมชนน่าอยู่

 ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'เท่าเทียม ทั่วถึง ชุมชนเกื้อกูล' สร้างชุมชนน่าอยู่ thaihealth


เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปฏิรูประบบปฏิบัติการ ห้องเท่าเทียมทั่วถึง ชุมชนเกื้อกูล เวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 2 ประจำปี 2561


รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขยายความตามรายงานสถานการณ์ปัญหา ความต้องการ และแนวทาง "การขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ตามกลุ่มประชากรของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่" ว่ามีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1) การบริการการดูแลต่อเนื่อง และการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือดูแล ควรส่งเสริมการพัฒนาเด็กและป้องกันการเจ็บป่วยให้ได้ ส่วนการดูแลผู้สูงอายุจะต้องผลักดันให้สามารถดูแลตนเอง และมีความรู้ในการช่วยเหลือดูแลผู้อื่น เพราะในอนาคตผู้สูงอายุจะเป็นประชากรกลุ่มหลักที่จะถ่ายทอดบทเรียนและสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้อื่น


2) การจัดสวัสดิการ การจัดการอาหารและการจัดการน้ำดื่มน้ำใช้ ควรมีการจัดการเป็นระบบเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็งเพราะบางพื้นที่ยังมีปัญหาในเรื่องนี้ และ 3) การลดปัจจัยเสี่ยง และการสร้างปัจจัยเสริมสถานการณ์ลดปัจจัยเสี่ยงคืออัตราของการดื่มสุราที่ลดลง และการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติซึ่งค่อนข้างจะเป็นปัญหา ซึ่งในพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติจะมีกระบวนการในการจัดการที่ชัดเจน


"ทั้งนี้ภาพรวมของเครือข่ายฯที่ดำเนินการด้านดูแลประชากรจะมีกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร ฯลฯ โดยแบ่งการดูแลให้เป็นสัดส่วน ซึ่งเป็นการทำงานที่ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง"


'เท่าเทียม ทั่วถึง ชุมชนเกื้อกูล' สร้างชุมชนน่าอยู่ thaihealth


รศ.ดร.ขนิษฐา นัทนบุตร ให้ข้อมูลด้วยว่า หลักการสำคัญในการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ยึดหลัก 2 ข้อ คือ 1 ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area-Based Development) และ 2 คำนึงถึงสุขภาพในทุกนโยบาย (Health in all Policies) มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองได้ในประชาชนทุกกลุ่มวัย ซึ่งจากประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมาของพื้นที่ที่เครือข่ายฯ รับผิดชอบ ได้มีการพัฒนาขีดความสามารถของพื้นที่ก่อให้เกิดพื้นที่ที่มีปฏิบัติการได้ผลจริง เกิดองค์ความรู้นวัตกรรมการต่อยอด ขยายงาน มีศักยภาพในการจัดการแก้ปัญหา มีการจัดการที่ทำให้คนในชุมชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสร้างความเท่าเทียม ทั่วถึง ชุมชนเกื้อกูลกันให้เกิดขึ้นในพื้นที่


ดร.ศุทธา แพรสี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ ได้เล่าถึงแนวคิดการจัดการระบบสุขภาพในตำบลดอนแก้วว่า โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้วไม่ได้ดูแลแค่เรื่องของการให้บริการที่โรงพยาบาลแต่ยังเชื่อมโยงไปยังชุมชน โดยสร้างอาสาสมัครที่สามารถวินิจฉัยชุมชน วินิจฉัยผู้ป่วยได้ และกลายเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่มีความสามารถและสร้างรายได้ให้กับตนเอง ซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการจัดบริการสุขภาพชุมชน


"การจัดการพื้นที่ของตนเองจะทำให้ชุมชนมีศักยภาพ ที่จะพัฒนาประชาชนในท้องถิ่น เกิดการเรียนรู้และร่วมพัฒนา โดยร่วมกันผลักดันหน่วยงานอาสาสมัครผู้นำท้องถิ่น ให้เกิดการบริการสุขภาวะที่ดีในสังคม" เป็นความเห็นเสริมของนายมูฮัมหมัดไฟซอล เจ๊ะโซ๊ะ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ประจำเทศบาลตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และกล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนรู้ของผู้คนในชุมชนอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีกว่าหน่วยงาน แต่การที่ชุมชนหันมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้ชุมชนที่อยู่พัฒนาไปในทางที่ดีการนำข้อเสนอจากเครือข่ายมาปรับปรุง แลกเปลี่ยนจะสามารถช่วยให้ชุมชนดำเนินการได้ดีต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code