เท่นอกกรอบขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
เป็นที่ยอมรับว่า การผลักดันระบบเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำจะเกิดผลดีกับเกษตรกรและผู้บริโภคในหลายมิติ ในบ้านเรา 'สามพราน โมเดล' จ.นครปฐม เป็นอีกโครงการที่โดดเด่นและขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ให้เติบโตขึ้นทุกปี มีงานสังคมสุขใจจัดขึ้นเป็นประจำ ระดมความรู้ เครือข่าย สินค้า รวมถึงนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์อันน่าทึ่งมากมายมาไว้ในงานเดียว
สำหรับงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 5 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "เท่นอกกรอบ ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล" ที่สวนสามพราน จ.นครปฐม จากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สามพรานโมเดล และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดงานสังคมสุขใจ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม หลักการที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรคงทิ้งหลักเกษตรกรรมยั่งยืนไม่ได้ การตั้งสามพรานโมเดลขึ้นเพื่อให้เป็นสถานที่เรียนรู้ที่ครบวงจรในด้านการทำเกษตรอินทรีย์และเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดต่างๆ มาศึกษาเรียนรู้ สอดรับนโยบายสนับสนุนด้านเกษตรกรรมตามกรอบการพัฒนาประเทศ ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนทางด้านเกษตรกรรม ทั้งพืชผักผลไม้ ปุ๋ยอินทรีย์ ที่นำมาผสมผสานกับแนวคิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านนวัตกรรมของเกษตรกรและน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ ให้เข้ากับความต้องการของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่การบริโภค มีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมทั้งการนำทรัพยากรที่เป็นธรรมชาติมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สุดต่อไป
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนโครงการสามพรานโมเดลอย่างต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับเกษตรกรให้มีพื้นที่ตลาดเกิดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ตั้งแต่กระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์ จนถึงการจำหน่ายอาหารปลอดสารเคมีให้ผู้บริโภคได้มาเลือกซื้อ ที่สำคัญปัจจุบันการบริโภคอาหารเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs หรือ non-communicable diseases ดังนั้น การจะทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ลดปัญหาการเกิดโรค NCDs หนึ่งในนั้นคือ การกินอาหารที่เป็นเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารเคมี จึงเป็นเหตุผลของการสนับสนุนสามพรานโมเดล ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
"นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2562 สามพรานโมเดลมีแผนจะขยายงานเผยแพร่ความรู้จากการขับเคลื่อน โดยจะเปิดสามพรานโมเดล อะคาเดมี เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวม เผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคมที่ได้พัฒนาขึ้นระหว่างการขับเคลื่อนระบบอาหารสมดุลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และสอดคล้องตามหัวข้อ "เท่นอกกรอบ ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล" โดยหมายความว่า ความเท่ไม่ใช่แค่การแต่งตัวให้ทันสมัยใช้ของสวยงาม แต่เท่ในที่นี้หมายถึง การมีสุขภาพที่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ นำความรู้ความสามารถมาปรับใช้กับเรื่องเกษตรกรรมให้เกิดการรวมตัวสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้มีความสมดุลกับภูมินิเวศ และวัฒนธรรม เหมาะสมกับชุมชนพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สสส. เชื่อมั่นว่า การผลักดันระบบเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริงผลประโยชน์จะเกิดกับเกษตรกรและผู้บริโภคทุกคนมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป"ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
นายอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ผู้ริเริ่มการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล กล่าวว่า สามพรานโมเดล เป็นระบบการทำงานที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความเป็นธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้การขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สสส. เกษตรกรส่วนใหญ่ขายผลผลิตผ่านพ่อค้าคนกลางที่เป็นผู้กำหนดราคา ทำให้เกษตรกรไม่สามารถควบคุมต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาสารเคมีได้ ส่งผลให้มีปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้น สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมก็เสื่อมโทรมลง เกษตรกรส่วนใหญ่ติดอยู่ในวงจรแบบนี้มาทั้งชีวิต
"ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาการผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์ หรือสามพรานโมเดล เป็นการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการคิดค้นนวัตกรรม และเปลี่ยนเรียนรู้ทดลองแก้ไขการทำการเกษตร รวมถึงการสร้าง รายได้จากการขายสินค้าปลอดสารพิษไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง มีการพัฒนาต่อยอดเรื่อยมาจนเกิดเป็น 'สามพรานโมเดล อะคาเดมี' ที่ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ยั่งยืน สร้างเครือข่าย ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียน ชุมชน เกษตรกร เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ถ่ายทอดประสบการณ์ ปลุกกระแสการบริโภคอาหารอินทรีย์ การท่องเที่ยวนอกกรอบ และส่งต่อคุณค่าของสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตสมดุลสืบต่อไป" นายอรุษกล่าว
ส่วนเสียงจากเกษตรกรที่ร่วมโครงการสามพรานโมเดล เท่นอกกรอบ จ.ส.อ.อุดม จันทร์ทึก เล่าว่า ตนทำเกษตรกรรม ทั้งปลูกผัก เลี้ยงไก่ ขายไข่ไก่ ที่ชื่อว่า ไข่ไก่อารมณ์ดี ปราศจากสารเคมี ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ 100% แยกโรงเรือนอย่างสะอาด กินแล้วปลอดภัย อารมณ์ดีไม่มีสารเคมีตกค้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในความเท่ของการทำเกษตรกร ทั้งเท่แบบไร้สารเคมี เท่แบบหมุนเวียน เช่น ใครเลี้ยงไก่ก็นำมูลไก่ไปใส่ดินบำรุงผัก ที่สำคัญตนคิดว่า การทำเกษตรอินทรีย์มีส่วนเปลี่ยนแปลงชีวิตหลายอย่าง คือ เรื่องสุขภาพตนและคนในครอบครัว มีสุขภาพดีขึ้น จากเมื่อก่อนใช้สารเคมีฉีดพ่นพืชผักหายใจไม่สะดวก ปัจจุบันระบบทางเดินหายใจดีขึ้น รวมทั้งมีกิจกรรมทำ เมื่อก่อนกินเหล้าตอนเย็น ปัจจุบันต้องกลับบ้านมารดน้ำผัก แถมมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าเกษตร สิ่งเหล่านี้ทำให้ตนมีความสุขกับครอบครัว มีสุขภาพที่ดี ได้กินอาหารที่ปลอดสารพิษอีกด้วย
การจะขับเคลื่อนเรื่องเกษตรให้เป็นทั้งพื้นที่อาหารและพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีคุณค่า มีความหมายต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภคนั้น ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหลายด้านร่วมกันทำงาน จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีต่อกระบวนการพัฒนาประเทศในด้านเกษตกรรมและสุขภาพของคนไทย.