เที่ยวเมืองไทย ใครใครก็อยากมา
การท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญสาขาหนึ่ง ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล ติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ จาก 323.5 พันล้านบาท ในปี 2545 เป็น 547.8 พันล้านบาท และ 592.8 พันล้านบาท ในปี 2550 และ 2553 ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังส่งผลให้ธุรกิจการผลิตสินค้า และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องขยายตัว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม การผลิตและค้าขายของที่ระลึก บริการรถเช่า สถานที่จอดรถ เป็นต้น ธุรกิจต่างๆ ดังกล่าวยังคงได้รับความนิยม และมีการแข่งขันสูง ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานและยังเป็นกลไกที่สำคัญ ในการกระจายรายได้และความเจริญสู่ภูมิภาคอีกด้วย
นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา (2545–2554) จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 10.8 ล้านคน ในปี 2545 เป็น 14.6 ล้านคน ในปี 2551 และลดลงเหลือ 14.1 ล้านคน ในปี 2552 น่าจะเป็นผลมาจากหลายๆ ปัจจัย เช่น การแข็งค่าของเงินบาท ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น มาตรการปรับขึ้นภาษีการบิน การเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และการเกิดภัยธรรมชาติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 ประเทศไทยก็ยังได้รับการโหวตจากคนทั่วโลกกว่า 16,000 คน ให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก “ World ,s Best City ” ที่จัดโดยนิตยสารที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา ชื่อ Travel & Leisure
และในปีต่อๆมาจำนวนนักท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 15.9 ล้านคน ในปี 2553 และ18.7 ล้านคน ในปี 2554 และคาดว่าน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีถัดไป
จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ที่เดินทางมายังประเทศไทยในแต่ละปี ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติเป็นจำนวนไม่น้อย โดยในปี 2553 ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 592,794.09 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.9 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังพบอีกว่า ในปี 2553 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีระยะเวลาพำนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9.12 วัน มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน อยู่ที่ 37,279 บาท หรือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวัน ประมาณ 4,079 บาท
แหล่งท่องเที่ยวของไทยที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ จากผลการสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2554 ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูล จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 69 ประเทศ พบว่า แหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาตินิยม 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล อันดับที่ 1 คือ หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ อันดับที่ 2 เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันดับที่ 3 หาดพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นต้น
ตาราง แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในเมืองไทย 10 อันดับแรก ปี 2554
ตารางจำนวนวันเฉลี่ยที่ใช้ท่องเที่ยว และค่าใช้จ่าย เฉลี่ยต่อคนต่อครั้งของนักท่องเที่ยว พ.ศ. 2554นักท่องเที่ยวชาวไทย
นอกจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่นิยมเที่ยวในบ้านของตนเอง เป็นการท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์หลากหลาย เช่น เพื่อการพักผ่อนทั่วไป ไปเยี่ยมญาติ ไปประชุมสัมมนา เล่นหรือดูกีฬา หรือประกอบภารกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่การทำงานประจำหรือเพื่อการศึกษา ไม่ว่าจะเที่ยวด้วยวัตถุประสงค์ใด ล้วนเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น
ผลจากการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทย ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2554 พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของคนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป มีการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งที่พักค้างคืนและไม่พักค้างคืน ในสัดส่วนร้อยละ 45.7 และร้อยละ 34.3 ตามลำดับ
แหล่งที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมากที่สุด คือแหล่งท่องเที่ยว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 33.3 รองลงมา คือ ภาคกลาง ร้อยละ 31.3 และร้อยละ 27.8 ในภาคเหนือ เป็นต้น
สำหรับค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทย ก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะการท่องเที่ยว แบบพักค้างคืน จะมีวันเฉลี่ยที่พักค้างคืน ประมาณครั้งละ 3.9 วัน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3,410 บาทต่อคนต่อครั้ง แต่ถ้าท่องเที่ยวแบบไม่พักค้างคืน ก็จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1,392 บาทต่อคนต่อครั้ง เป็นต้นจากการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2555 จากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ไตรมาส 4/2554 พบว่า ในปี 2555 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย มากขึ้นกว่า ปี 2554 โดยในไตรมาสแรกประมาณ 5.18 ล้านคน ไตรมาสที่ 2 และ 3 อยู่ที่ 4.5 ล้านคน และ 4.85 ล้านคน และไตรมาสุดท้าย 5.26 ล้านคน โดยคาดว่าในปี 2555 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวม 19.79 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีเพียง 18.71 ล้านคน
ด้วยเหตุที่ ระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสม รัฐสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน ฉะนั้นการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ ที่ต้องการความร่วมมือ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยให้เจริญก้าวหน้า
รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายการท่องเที่ยวโดยส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยวและเร่งรัดการปรับปรุงมาตรฐานในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และสุขอนามัย เพื่อเป็นการเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ
ในขณะที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ต้องมีการพัฒนาคุณภาพการบริการ คุณภาพแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งการจัดการเดินทางขนส่ง ให้เกิดความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวด้วย
นอกจากนี้คนไทยในฐานะเจ้าบ้านที่ดีควรมีจิตสำนึก และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงความปลดอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในการท่องเที่ยวในประเทศไทย และควรมีส่วนร่วมในการเป็นหูเป็นตารักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและยั่งยืนสืบต่อไป
ทีึ่มา : สำนักสถิติแห่งชาติ