เที่ยวสนุกแบบไม่ก่อมลพิษ ค่านิยมใหม่เที่ยวคุณภาพ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สุขภาวะชุมชน
ปัจจุบันการท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติกำลังเป็นที่นิยมของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ในช่วงวันหยุดยาวหรือช่วงเทศกาลหลายแห่งจึงคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาดื่มด่ำธรรมชาติอากาศที่บริสุทธิ์ "พักกายคลายใจ" ชาร์จพลังก่อนกลับไปสู้กับการทำงานในวันใหม่
แหล่งท่องเที่ยว สถานที่ประกอบกิจกรรม บ้านพัก ลานกางเต็นท์ ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่ค่อนข้างครบครัน คือเหตุผลที่ว่าทำไมภายในอุทยานแห่งชาติจึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว และเริ่มมีหน่วยงานหรือองค์กรให้ความสนใจและหันมาใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติจัดงานเลี้ยง สันทนาการ หรือกิจกรรมอื่นมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อคนจำนวนมากมากินอยู่และเที่ยวร่วมกัน สิ่งที่ตามมา คือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งจากปริมาณขยะที่เยอะขึ้น รวมไปถึงการสิ้นเปลืองทรัพยากรต่าง ๆ และยังอาจรวมไปถึงสภาพแวดล้อมอาจได้รับความเสียหายไปบ้าง ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีทั้งด้านคนและการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างเช่น เวทีสานสัมพันธ์เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ของสำนักสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจัดขึ้น ภายในอุทยานแห่งชาติ (อช.) ภูหินร่องกล้า ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 1,000 คน
กล่องข้าว ช้อน และกระติกน้ำ ถือเป็นภาชนะประจำตัวของทุกคน โดยอาหารทั้งสามมื้อที่แม่ครัวทำใส่หม้อมาวางไว้ตามจุดต่าง ๆ ทุกคนก็จะต้องเข้าแถวตักใส่กล่องข้าวของตัวเอง และตักกินแต่พออิ่ม เพราะถ้าตักเยอะเกินแล้วกินไม่หมดต้องทิ้งเป็นเศษอาหาร และคนท้ายก็ไม่พอกิน ดังนั้นจึงต้องแบ่งกันกินกันอยู่ ส่วนน้ำดื่มมีถังน้ำให้กรอกใส่กระติกตามจุดต่าง ๆ ลดใช้น้ำขวด และแก้วน้ำให้มากที่สุด
การมีภาชนะประจำตัว แน่นอนว่าช่วยลดปริมาณขยะได้มากเลย
ทีเดียว คิดง่าย ๆ หากเป็นข้าวกล่องโฟม คนละ 1 กล่อง 3 มื้อ ถ้ามี 1,000 คน เท่ากับว่าจะมีการใช้กล่องโฟมถึง 3,000 กล่องต่อวัน ยังไม่รวมว่าหากมีการใช้แก้วหรือขวดน้ำพลาสติกด้วยก็น่าจะใช้จำนวนไม่น้อยในแต่ละวันเช่นกัน
ขณะเดียวกันก็มีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ โดยทำจุดคัดแยกขยะ แยกเป็นถังขยะแห้ง ขยะเปียก ขยะรีไซเคิล เพื่อให้ง่ายต่อการกำจัด ซึ่งถือว่ามีน้อยมากจากการลดใช้ภาชนะ ขณะเดียวกันมีการแยกเศษอาหารในถังเฉพาะ และมีการใช้น้ำหมักฉีดพ่นลดกลิ่นเหม็นและลดแมลงวันตอม เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
นอกจากนี้ภายในเวทีสานสัมพันธ์เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ยังได้จุดประกายแนวคิดการท่องเที่ยวด้วยคุณภาพควรทำอย่างไร โดยที่บริเวณลานสน และโรงเรียนการเมืองทหาร ทุกคนช่วยกันสานไม้ไผ่ทำเป็น "เสวียน" ล้อมโคนต้นไม้ เพื่อให้เป็นที่เก็บใบไม้ที่ร่วงมาหมักกลายเป็นปุ๋ย ซึ่งต่อไปนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ก็จะได้ช่วยกันเก็บใส่เสวียนที่ทำขึ้นนี้
เช่นเดียวกับที่บริเวณลานหินปุ่มและลานหินแตก มีการทำฝายชะลอน้ำเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าไม้ หรือหลายคนช่วยกันเลื่อย ตะปู ค้อน ไม้ ถังสี ไปซ่อมแซมและทำสะพานทางเชื่อม ป้ายบอกทาง และช่วยกันเก็บขยะทั่วบริเวณ
ขณะที่บางส่วนก็ไปช่วยกันสร้างสนามเด็กเล่นให้กับชุมชนบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง อช.ภูหินร่องกล้า เพื่อให้เป็นสถานที่เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก ๆ
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. บอกว่า จิตอาสาทำดีนั้นเป็นการบ่มเพาะความเป็นพลเมืองด้วยกิจกรรมอาสาทำดี 6 กิจกรรม เช่น การสร้างจุดคัดแยกขยะ สร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ซ่อมฝาย ซ่อมป้าย ซ่อมสะพาน และเก็บขยะในสถานที่ท่องเที่ยวพื้นที่ของอุทยาน เป็นต้น ถือเป็น 1 ใน 3 กิจกรรมหลักของงานสานสัมพันธ์เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับการเรียนรู้ข้ามพื้นที่ด้วยกิจกรรมเหย้า-เยือน และการสรุปบทเรียนและทบทวนวิธีคิด ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดจะเป็นจุดเสริมพลังของสังคมไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป
เวทีสานสัมพันธ์เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ อช. ภูหินร่องกล้า ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ จะเป็นต้นแบบการจัดการขยะและทรัพยากรของคนหมู่มาก ขณะเดียวกันยังช่วยปลุกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมใหม่ให้นักท่องเที่ยวหันมาทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวคุณภาพอย่างแท้จริง