เทศกาล “ลดเมา เพิ่มสุข” โมเดลลดเจ็บ ลดตาย

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ


ภาพโดย สสส. และเว็บไซต์ไทยรัฐ


เทศกาล


ที่ผ่านมา…ต้องยอมรับกันว่า ความสูญเสียที่เกิดจาก “อุบัติเหตุ” และ “เมาแล้วขับ” สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี และสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเมาแล้วขับนั่นเอง


แผนสุขภาวะชุมชน สสส. จึงร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ทำการรณรงค์ “ลดเมา เพิ่มสุข” มาตั้งแต่ปี 2561 ประกอบด้วยกิจกรรม 4 สร้าง 1 พัฒนา คือ สร้างคนต้นแบบ สร้างเส้นทางปลอดภัย สร้างนวัตกรรมช่วยเลิกโดยชุมชน และการกำหนดมาตรการทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนอีก 1 พัฒนานั้น คือ การพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนเพื่อเป้าหมายการลดการดื่มสุราและเมาไม่ขับ


เป้าหมายสำคัญ “การลดเมา เพิ่มสุข” คือสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุจราจรจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยชุมชนท้องถิ่น และสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ เทศกาลสงกรานต์ปลอดเหล้าและปลอดภัย ผ่านการขับเคลื่อนจัดกิจกรรมใหญ่ปลุกกระแสในพื้นที่ในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ได้แก่ วันเข้าพรรษาและวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ช่วงเทศกาลปีใหม่…ช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงเวลาปกติ ดำเนินงานโดยมีองค์กรท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เป็นแกนนำหลัก ชักชวน…ผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน องค์กรชุมชน ประสานการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ 


พุ่งเป้าไปที่…เทศบาลตำบลกลางหมื่น อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์


หนึ่งในตัวอย่างการรณรงค์ภายใต้หัวข้อ “ลดเมา เพิ่มสุข คนห้าพันสืบสานประเพณีสงกรานต์ปลอดภัย” ที่ผ่านมา เริ่มจากการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นของทุก ๆ ฝ่าย มีการทำประชาคมกับชาวบ้านเพื่อกำหนดกฎกติกา การบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนนให้ประชาชนถือปฏิบัติ


ก่อนทำบันทึกความร่วมมือของ 4 องค์กรหลักในการลดอุบัติเหตุทางถนน แล้วจัดกิจกรรมรณรงค์ ก่อนหน้านั้นทางเทศบาลตำบลกลางหมื่น ได้ดำเนินการตามแนวทาง “ลดเมา เพิ่มสุข” มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างบุคคลต้นแบบให้ความรู้ถึงพิษภัยของแอลกอฮอล์และการเกิดอุบัติเหตุทางถนน แล้วการสร้างแรงจูงใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้บุคคลต้นแบบร่วมรณรงค์ มีการสร้าง ปรับปรุงจุดเสี่ยงให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น


ส่วนช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมานั้น ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงไร้สายของเทศบาล และหอกระจายข่าวทั้ง 12 หมู่บ้าน เพื่อกระตุ้นเตือนในช่วงสงกรานต์ ใช้กลไกครอบครัวในการควบคุมปัจจัยเสี่ยง สกัดกั้นคนเมาไม่ให้ออกจากบ้านหรือขับขี่ยานพาหนะ ส่งผลให้ตลอดช่วงสงกรานต์ 2562 ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2562 ไม่มีอุบัติเหตุในพื้นที่ และประชาชนชาวกลางหมื่น ไม่ประสบอุบัติเหตุนอกพื้นที่เลย


เทศกาล


ย้ายมาที่ ต.ดวนใหญ่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลดวนใหญ่ ได้หาวิธีการควบคุมอุบัติเหตุในพื้นที่ได้ร่วมกันทำความสะอาด ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณข้างถนนสายหลักในตำบล เพื่อไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง…บดบังภูมิทัศน์ในการสัญจร ปรับปรุงไฟส่องสว่าง ติดตั้งกระจกโค้ง สัญลักษณ์บริเวณจุดเสี่ยง จุดอันตราย ที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้


ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา อบต.ดวนใหญ่ ได้ประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนขับขี่ปลอดภัยสวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง เมาไม่ขับหลับนอนที่บ้าน การมีน้ำใจในการสัญจร พร้อมกับตั้งจุดบริการประชาชนจำนวน 1 จุด โดยจากสถานการณ์ 7 วันอันตราย ในพื้นที่ตำบลดวนใหญ่ ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ


อีกแห่งที่เทศบาลตำบลปัว อ.ปัว จ.น่าน เขตพื้นที่ของเทศบาลแห่งนี้มีถนนหมายเลข 1080 มาจากอำเภอเมืองไปยังแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และเขตการค้าเสรีด่านชายแดนห้วยโก๋น ทำให้มีผู้สัญจรไปมาจำนวนมาก และจะมากขึ้นเมื่อถึงเทศกาลสำคัญ


เทศบาลตำบลปัวได้ดำเนินการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2562 เป็น 3 ช่วง โดยช่วงก่อน 7 วันอันตราย ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายในการตรวจตราร้านค้า สถานประกอบการในเขตเทศบาล เพื่อขอความร่วมมือ ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เมื่อถึงช่วงเวลา 7 วันอันตราย 11-17 เมษายน ได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการฉุกเฉินด้านกู้ชีพ กู้ภัย ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในอำเภอ ส่วนช่วงที่ 3 เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง รณรงค์เพื่อสร้างความตื่นตัว และกระตุ้นจิตสำนึก ในเรื่องอุบัติเหตุและงดดื่มแอลกอฮอล์


วงวรรณ เทพอาจ หัวหน้าฝ่ายบริการสาธารณสุข กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลปัว บอกว่า มีการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการกวดขันการตรวจจับเรื่องเมาแล้วขับให้มากขึ้น ไม่ว่าในเทศกาลหรือนอกเทศกาล และเข้มงวดกับการดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง รวมทั้งการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง จะเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการเพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรอันเนื่องมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในที่สุด


สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างไม่เป็นทางการในพื้นที่อำเภอปัวในช่วง 7 วันอันตรายระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2562 พบว่า เกิดอุบัติเหตุจำนวน 13 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 15 ราย และเสียชีวิตจำนวน 2 ราย


การปฏิบัติอีกแห่งที่น่าสนใจ เทศบาลตำบลนาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี มีรูปธรรมที่ชุมชนนำมาใช้คือ “ด่านครอบครัว” โดยใช้ความรักของคนใกล้ชิดเป็นด่านสกัดด่านแรกในการป้องกันอุบัติเหตุโดยหัวหน้าครอบครัว หรือคนในครอบครัวจะต้องช่วยกันดูแลคนที่ดื่มให้อยู่กับบ้าน เสมือนเป็นด่านชั้นแรก เพราะถ้าดื่มกินอยู่กับบ้านไม่ออกไปไหน อุบัติเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น


สุพรรณ ชัยมี นายกเทศมนตรีตำบลนาข่า ย้ำว่า หากขัดขืนและไม่เชื่อฟัง แน่นอนว่าชุมชนก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการควบคุมการดื่มเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ


เฉกเช่นเดียวกับองค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ที่ตลอด 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่มีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตในตำบลมะเกลือใหม่แม้แต่รายเดียว อุบัติเหตุเป็นศูนย์ ทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่ประตูสู่ภาคอีสาน มีถนนสายหลักผ่านถึง 2 สาย


เทศกาล


ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. บอกว่า ธีมการรณรงค์ “ลดเมา เพิ่มสุข” ที่ทางเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกันขับเคลื่อนกันมา ต่างต้องการทำให้เกิดการเฝ้าระวังในพื้นที่ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็จะมีการสื่อสารตามวาระ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ให้แต่ละท้องถิ่นดำเนินการตามแนวทางที่ร่วมกันกำหนดขึ้น ซึ่งทุก ๆ แห่งจะวางเป้าหมายไว้ที่ “ลดเจ็บ ไม่ตาย”


“บทบาทของ สสส.อย่างมากที่สุด คือการส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ ว่าประเด็นสำคัญที่ควรจะชูขึ้นมาขับเคลื่อนควรจะเป็นเรื่องใด เช่น ครอบครัว ควรจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นด่านแรกที่คอยสกัดไม่ให้คนเมาออกจากบ้าน”


งานที่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้ทำอยู่นี้ ถ้าทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มจำนวนคนเลิกเหล้าในชุมชน ช่วยลดอุบัติเหตุบนถนน ชุมชนท้องถิ่นมีนวัตกรรมที่เป็นวิธีการช่วยผู้ที่ต้องการเลิกเหล้า และเกิดหมู่บ้านต้นแบบที่มีการกำหนดมาตรการทางสังคม


แต่…ถึงกระนั้น การทำงานของ “ชุมชน” จะประสบความสำเร็จได้ ต้องประสานความร่วมมือกันในทุกๆส่วน ทั้งองค์กรท้องถิ่น ภาคประชาชน และหน่วยงานรัฐ ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อทำชุมชนให้เกิด “สุขภาวะ” อย่างแท้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code