เทศกาลไทยกับภัยอุบัติเหตุ
จากสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบกในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ช่วง 7 วันอันตรายนับตั้งแต่ปี 2549 – 2555 พบว่า มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลนี้เป็นจำนวนมาก โดยในช่วงปีใหม่จะมากกว่าวันสงกรานต์ ซึ่งอาจเป็นเพราะวันขึ้นปีใหม่เป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว (High Season) ด้วยจึงทำให้คนนิยมเดินทางท่องเที่ยวกันมากที่สุด
เทศกาลไทย” ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลตามประเพณีไทยหรือสากล อย่างเช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันตรุษจีน หรือวันวาเลนไทน์ เป็นต้น ซึ่งเทศกาลเหล่านี้เป็นเทศกาลแห่งความสุข ความรื่นเริงและเป็นช่วงเวลาที่ได้เดินทางไปพบปะสังสรรค์กันระหว่างคนในครอบครัว/ญาติ หรือเพื่อน โดยเฉพาะในเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน อย่างไรก็ตามในการเฉลิมฉลองของเทศกาลแห่งความสุขเหล่านี้ยังคงมีความเชื่อที่ผิดๆ ที่ต้องสังสรรค์กันด้วยสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการเดินทางที่ส่งผลให้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุจากการจราจรทางบก
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากที่สุด แม้หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจะร่วมมือร่วมใจกันรณรงค์ “เมาไม่ขับ” เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุก็ตามแต่ก็ยังคงเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดอุบัติเหตุ แม้จะมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 25.6 ในปี 2552 เหลือร้อยละ19.8 ในปี 2553 ก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การขับรถเร็ว/ขับรถตัดหน้า/ขับรถตามกระชั้นชิด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งพฤติกรรมการขับรถแบบนี้มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ทั้งสิ้น
สำนักงานสถิติแห่งชาติพบข้อมูลที่น่ากังวลเกี่ยวกับการดื่มสุราของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งพบว่าผู้ชายกว่าร้อยละ 50 ดื่มสุราแม้จะมีแนวโน้มลดลง ก็ตามแต่ยังถือว่ามีอัตราการดื่มสุราที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ผู้หญิงไทยประมาณ 1 ใน 10 ก็เป็นนักดื่มเช่นเดียวกันและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
กลุ่มวัยทำงาน (อายุ 25-59 ปี) มีการดื่มสุราที่สูงกว่ากลุ่มอื่น รองลงมาเป็นกลุ่มวัยรุ่น (อายุ 15-24 ปี) และกลุ่มวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งพฤติกรรมการดื่มสุราของคนไทยเช่นนี้นับเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดการสูญเสียต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย
บทเรียนจากการดื่มแล้วเมา เมาแล้วขับมีให้เห็นมากมาย แต่จะมีใครตระหนักและนำไปใช้ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตคนไทยบนท้องถนนในช่วงเทศกาล หรือไม่ใช่ช่วงเทศกาลก็ตาม ทุกมาตรการในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบก จะเป็นจริงได้เมื่อทุกฝ่ายดำเนินอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และมาลองดูกันว่าสงกรานต์ปีนี้สถิติจะเป็นเช่นไร คงต้องรอลุ้นกัน
..
ผู้ที่สนใจร่วมงานสวดมนต์ข้ามปี เริ่มต้นดี ชีวิตดี ณ ท้องสนามหลวง ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ www.thaihealth.or.th/newyearprayer และเชิญร่วมโพสต์ข้อความ/ภาพ ผ่าน Twitter หรือ Instagram โดยใส่ #NewYearPrayer แล้วนำมาแสดงที่จุดลงทะเบียนหน้างานเพื่อรับชุดของขวัญ (ของมีจำนวนจำกัด)
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ