เทศกาลแห่งความสุข ไม่ควรต้องเสียใจเพราะอุบัติเหตุ!!

“ความประมาท” สาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุในช่วงหลายปีที่ผ่าน ซึ่งมีการเก็บสถิติอย่างเป็นระบบ ทำให้ทราบว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ แม้ว่าในช่วงเทศกาล จะมีปริมาณรถมากกว่าปกติก็ตาม

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.)

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้วิเคราะห์และนำสถิติมากางดู เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบและตระหนักในการนำไปใช้ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในอนาคตต่อไป ซึ่งควรจะตั้งใจใส่ใจรับฟัง เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดความสูญเสียในช่วงหลายปีนี้ ยังเป็นเหตุซ้ำๆ เดิมๆ คือ “เมาแล้วขับ” และ “ใช้ความเร็วสูง” จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่(ศปถ.) พบว่า พฤติกรรม “เมาแล้วขับ”และ”ใช้ความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด”เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก พบว่าเมาแล้วขับ เป็นสาเหตุ อุบัติเหตุจำนวน 41.24% รองลงมาคือ ใช้ความเร็วเกินกำหนด 20.42%เมื่อนำข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มาเปรียบเทียบ พบว่า จากจำนวนผู้เสียชีวิต 419 คน พบว่า 51% หรือครึ่งหนึ่งเกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิต พบว่า เป็นกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ 68.3%  ในจำนวนนี้ 86.2%ไม่สวมหมวกกันน็อค

สาเหตุเหล่านี้ หากไม่ดื่มแล้วขับ ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนดหรือ สวมหมวกกันน็อค ก็จะลดปริมาณความสูญเสียได้มหาศาล หลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกิดขึ้น พบว่ามาตรการการป้องกันด้วยการตั้งด่านตรวจ สามารถทำได้มากขึ้น โดยมีการเรียกตรวจรถ 5,077,256 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่เรียกตรวจ 489,924 คัน จับดำเนินคดีได้ 591,286 ราย เพิ่มขึ้น 31.49%

ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนได้มีข้อเสนอเพิ่มเติม จากมาตรการปัจจุบันที่เริ่มได้ผลดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดการเสียชีวิตในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะสาเหตุจาก “เมาแล้วขับ”และ”การไม่หมวกนิรภัย”และ “การใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด” ข้อเสนอดังกล่าว คือ เพิ่มความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน โดยทำควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์  ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย จำเป็นต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่นการตั้งจุดตรวจเพิ่มขึ้น เพราะพบว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำให้การเมาแล้วขับ การไม่สวมหมวกนิรภัยและ การใช้ความเร็วเกินกำหนด ลดลงได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก ซึ่งพบว่าเกือบสองในสามหรือ 64% ของอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต เกิดในช่วงกลางคืน ระหว่าง18.00 น. – 6.00 น.ทำให้ในช่วงดังกล่าวจำเป็นต้องเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายมากกว่าปกติ เช่น การตั้งจุดตรวจเมา การตรวจหมวกนิรภัย ซึ่งจะมีผลต่อการลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้

นอกจากนี้ ยังคงพบอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถบรรทุก และ รถการเกษตร ในหลายพื้นที่ แม้จะมีมาตรการขอความร่วมมือหยุดการเดินทาง หรือใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงเทศกาล ซึ่งมีปริมาณการใช้รถมากกว่าปกติ อาจจำเป็นต้องขอความร่วมมือในส่วนเหล่านี้ด้วย

ที่ผ่านมาหลายคนอาจคิดว่า อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ได้ สุดแต่บุญแต่กรรมแต่ความจริงแล้ว หากไม่เมา ไม่ซิ่ง สวมหมวกกันน็อค ก็จะลดความเสี่ยงที่จะทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตลงได้อย่างแน่นอน และหากทำได้ก็ไม่ต้องมีใครมานั่งนับคนเจ็บ คนตาย

เทศกาลแห่งความสุข ก็จะเป็นสุขอย่างแท้จริง…

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

update : 13-01-54
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code