“หมอแท้จริง” ท้อแท้ใจรณรงค์เมาไม่ขับเพื่อตายเป็นศูนย์ล้มเหลว เผยรัฐใช้มาตรการเดิมๆซ้ำซาก จนทำให้ปีนี้มียอดตายสูงกว่าปีที่แล้ว โดยช่วง 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุ 3,176 ครั้งมีผู้เสียชีวิต 365 ศพ เจ็บ 3,329 คน แนะรัฐควรใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เข้มงวดสูงสุด ยกย่องจังหวัดตราดเข้มแข็งเอาจริง จนไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งปีใหม่และสงกรานต์ ทั้งที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ด้าน ศปถ.สรุปผลปีใหม่ 56 เตรียมเสนอแนวทางแก้อุบัติเหตุมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนแบบยั่งยืน
หลังพยายามรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับเพื่อลดสถิติการตายของประชาชนในการเดินทางช่วงเทศกาลหรือเดินทางทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค. นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวถึงสถิติอุบัติเหตุ และยอดผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ 2556 ที่พุ่งแซงหน้าปี 2555 ว่า คาดการณ์ไว้แล้วว่ายอดตายต้องเกิน 300 เพราะภาครัฐยังใช้มาตรการเดิมๆ ในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน อาทิ ตั้งเป้า 7 วันอันตราย ลดยอดเจ็บตายลง 5% ตั้งด่านตรวจ เปิดศูนย์ แถลงข่าวรายวัน ล้วนของเดิมทั้งนั้น ใช้กันมานานเป็น 10 ปี ยอดเจ็บตายจึงยังอยู่ในระดับเดิม
“อุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์ มาเป็นอันดับ 1 จำนวน 80% เมาเล้วขับ 40% เจ็บตายมากในเวลาเดิมๆ หลังเที่ยงคืน พฤติกรรมเดิมๆ และปีนี้ยอดยังพุ่งแซงหน้าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนมากขึ้น จากจำนวนรถบนท้องถนนมากขึ้น คนมีรถอยากขับรถเที่ยว มีการซื้อขายเหล้ามากขึ้น จึงมีคนเมาแล้วขับมากขึ้น ในขณะที่การทำงานของเจ้าหน้าที่เหมือนลูบหน้าปะจมูก ไม่มีความเข้มงวดในการตรวจจับ”
นพ.แท้จริงกล่าวว่า เมื่อ 10 ปีก่อนมาตรการเดิมๆ ใช้ได้ผล จึงลดยอดตายจาก 700 เหลือกว่า 300 แต่ปัจจุบันแบบเดิมใช้ไม่ได้ผลแล้ว ทั้งในช่วงปีใหม่หรือสงกรานต์ เพราะสถานการณ์ เปลี่ยนไป หากภาครัฐมีความจริงใจในการดูแลชีวิตประชาชน ต้องมีความเข้มงวด เปลี่ยนเป้าลดอุบัติเหตุเจ็บตายลง 5% ที่ทำกันทุกปี ไปเป็นยอดตายเท่ากับศูนย์ คือต้องไม่มีคนตาย เรื่องนี้เคยเสนอแล้วแต่ก็ถูกรัฐบาลมองว่าเฟ้อฝันทำไม่ได้จริง การลดลง 5% ทำได้แน่นอนกว่า แต่ทุกวันนี้ก็เห็นแล้วว่ายอดไม่ได้ลดลงตามที่หวัง ที่ตนบอกว่ายอดตายเท่ากับศูนย์ไม่ใช่เรื่องเฟ้อฝัน สามารถเป็นจริงได้ใน 2-3 ปี แต่ต้องมีมาตรการเข้มงวด เปรียบเหมือนใช้ยาแรงรักษาโรคร้าย อาจมีผลกระทบบ้างแต่จะไม่ตาย ทั้งปีใหม่และสงกรานต์ ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กฎหมายเข้มงวด ประกาศให้ชัดเจนเมาขับจับขังทันที 7 วัน กำหนดพื้นที่กักบริเวณ ปรับขั้นสูงสุด ไม่รอลงอาญา ถ้าทำได้ ยอดตายจะเหลือไม่เกิน 100 และจะลดลงไปเรื่อยๆ ถ้าเข้มงวดจะทำได้จริง เช่นจังหวัดตราด ทั้งที่เป็นเมืองท่องเที่ยว แต่สงกรานต์และปีใหม่ ไม่มีคนตาย
“ผมเป็นเอ็นจีโอทำได้แค่พูดรณรงค์ การปฏิบัติ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล กระทรวงคมนาคมและตำรวจ พฤติกรรมของคนไทยเป็นอย่างไรรู้กันดี เป็นแบบนี้ มาทุกปี ถ้าเปลี่ยนมาใช้ยาแรง ใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เข้มงวดสูงสุด ใช้โทษรุนแรงแบบอเมริกา คนจะกลัว ยอดตายจะเหลือไม่ถึง 100 แค่ช่วงสั้นๆ รัฐบาลกล้าหรือเปล่า ต้องยอมลงทุนกับชีวิตคนใช้เงินมากแค่ไหนก็ต้องทำ ให้รางวัลไปเลย จังหวัดไหนยอดลดลง 1 ศพ เอาไป 1 ล้าน ยอดตายทั้งประเทศกว่า 300 คน ใช้เงินไม่เกิน 400 ล้าน คุ้มค่ามากกว่าออกมาตรการมากมาย แต่ไม่ได้ผล ผวจ.ไหนทำดีมีผลงาน ถึงเวลาเลื่อนตำแหน่งก็ทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ถึงเวลานั้นทุกจังหวัดจะแข่งขันกันเอง คนไม่ตาย พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ทุกวันนี้โทษมันจิ๊บจ๊อยและกฎหมายไทยยังหน่อมแน้ม ถ้ายังเป็นแบบนี้ ปีหน้าจะยังตายเท่าเดิม” นพ.แท้จริงกล่าว
วันเดียวกัน พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 แถลงถึงสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 2 ม.ค.2556 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ก้าวสู่ปีใหม่อย่างปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ” ว่า เกิดอุบัติเหตุ 293 ครั้ง เพิ่มจากปี 2555 รวม 56 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 34 ศพ เพิ่มจากปี 2555 13 ศพ ผู้บาดเจ็บ 293 คน เพิ่มจากปี 2555 รวม 34 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 4 ศพ จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 19 คน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ตามด้วยขับรถเร็ว ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน (วันที่ 27 ธ.ค.55-2 ม.ค.56) รวม 3,176 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2555 รวม 83 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 365 ศพ เพิ่มจากปี 2555 รวม 29 ศพ ผู้บาดเจ็บรวม 3,329 คน ลดลงจากปี 2555 รวม 46 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุตลอดช่วง 7 วัน ได้แก่ ตราด จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตตลอดช่วง 7 วัน มี 6 จังหวัด คือ ตราด นครนายก พังงา ระนอง หนองคาย และอุตรดิตถ์ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 144 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครปฐม 18 ศพ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนที่ร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ศปถ.มุ่งมั่นที่จะลดอุบัติเหตุทางถนนและมีเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 ศพต่อประชากร 1 แสนคน ภายในปี พ.ศ.2563 เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปีนี้มีผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจ ะนำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุมาวิเคราะห์สาเหตุปัจจัยเสี่ยง กำหนดแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปกติและช่วงเทศกาลให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ผลักดัน การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากขึ้น ให้ความสำคัญ ปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน รณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดความสูญเสียและให้ถนนทุกสายมีความปลอดภัยในทุกพื้นที่
ขณะที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงจำนวนผู้เสียชีวิตช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก ส่วนจำนวนผู้บาดเจ็บน้อยลง ตนไม่อยากให้มีคนตายมาก ต้องนำไปวิเคราะห์และหาทางแก้ไขต่อไป ปีนี้ถือว่ามีประชาชนเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ ปีหน้าต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้นถึงการป้องกันอุบัติเหตุ เมื่อย้อนดูสถิติการเสียชีวิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 700 ศพ ขณะนี้ถือว่าลดลงมาก แต่จะให้เป็นศูนย์คงเป็นเรื่องยาก แต่จะพยายามทำให้น้อยที่สุด ส่วนจังหวัดที่มียอดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จะไม่มีการคาดโทษผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะถือว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานเต็มที่แล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ