เทศกาลปีใหม่ไร้แอลกอฮอล์ ช่วยลดอุบัติเหตุ
เทศกาลปีใหม่เป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงมากในรอบปี เป็นสาเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งๆ ที่หน่วยงานทุกจังหวัดต่างจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี แต่ก็ยังคงมีสถิติการเสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตรายอยู่
ทั้งนี้สาเหตุหลักยังคงมาจากการเมาแล้วขับ ถึงแม้ตัวเราไม่เมาก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะเราอาจเป็นหนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตก็เป็นได้ ถ้าทุกคนไม่เริ่มป้องกันที่ตัวเองก่อน นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับกล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์เป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตและพิการมาก ซึ่งจะสูญเสียมากน้อยเพียงใดดูได้จากสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่ความสูญเสียจะเพิ่มเป็นสองเท่าจากช่วงปกติ
“ช่วงปกติในแต่ละวันเฉลี่ยจะมีคนเสียชีวิตประมาณ 30 กว่าคนอยู่แล้ว และในช่วงเทศกาลปีใหม่จะเพิ่มเป็น 50-60 คนต่อวัน ฉะนั้นถ้าคูณ 7 วันซึ่งเป็น 7 วันอันตราย รวมแล้วประมาณ 300 คน และในจำนวนผู้เสียชีวิต 300 คน ณ ปัจจุบันเทียบกับสมัยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วที่เราเริ่มรณรงค์ลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตแรก ๆ ในแต่ละวันเฉลี่ย 7 วันอันตรายจะมีผู้เสียชีวิตวันละ 100 คน รวม 7 วันก็ประมาณ 700 คน”
จากจำนวนการเสียชีวิตที่มากถึง 700 คนจึงมีการจัดตั้งศูนย์บริการความปลอดภัยและมีการกำหนดให้รณรงค์ 7 วันอันตราย หลังจากนั้นในระยะเวลา 10 ปีมีการรณรงค์มาเรื่อย ๆ ทำให้สถิติการเสียชีวิตจาก 700 คน เหลือ 300 คนในปัจจุบัน ถ้าถามว่าดีขึ้นหรือไม่ต้องตอบว่าดีขึ้นเพราะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ครึ่งหนึ่ง แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งจะพบว่าแค่ 7 วันมีคนไทยต้องสังเวยชีวิตถึง 300 คน ขนาดเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีให้เห็นทุกวัน 7 วันยังตายไม่ถึง 300 คนเลย แต่คนไทยไม่กลัวการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
อย่างไรก็ตามเรากลับมองว่าอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่รู้จะทำอย่างไรโดย 1.โทษดวงไม่ดี 2.โทษโชคชะตาว่าพรหมลิขิตมาแล้ว และ 3.โทษเวรกรรม เหมือนเป็นสิ่งที่เราทำอะไรไม่ได้มันจะเกิดก็ต้องเกิด แต่ความจริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมีที่มาที่ไปและมีสาเหตุของมันเอง ได้แก่ เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว เหนื่อยล้าง่วงนอนไม่อยู่ในสภาพที่ขับขี่ได้ แต่สาเหตุหลัก ๆ มากกว่าครึ่งของการเสียชีวิตคือ เมาแล้วขับ รองลงมาคือ ขับรถเร็วและไม่อยู่ในสภาพที่จะขับขี่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสาเหตุหลัก ๆ ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์เกิดจากคนทั้งนั้น ที่เหลืออีก 10-20 เปอร์เซ็นต์เกิดจากตัวรถ เช่น ยางระเบิด และสภาพแวดล้อมไม่ดี เช่น ฝนตก หมอกลง
ฉะนั้นทุกอย่างมีสาเหตุของมันอยู่แล้ว แม้กระทั่งเรื่องของสภาพรถถ้ามองดี ๆ อยู่ดี ๆ ยางจะระเบิดหรือเบรกแตกได้อย่างไรถ้าเราไม่รู้จักบำรุงรักษา จึงเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ แต่ทุกเหตุผลเรากลับไม่ยอมรับมันเอง กลับไปโทษดวงชะตาจึงทำให้การมองเรื่องอุบัติเหตุในบ้านเราไม่น่ากลัว แต่หากถามว่าทำไมช่วงเทศกาลสถิติการเสียชีวิตลดลงได้ก็เพราะมีการระดมทุกหน่วยงานมาช่วยกัน แต่หลังจากหมดเทศกาลในช่วงปกติก็ไม่มีการรณรงค์ แล้วถามว่าอุบัติเหตุหยุดไหมมันก็ยังไม่หยุดยังมีข่าวให้เห็นอยู่ทุกวัน สาเหตุส่วนมากก็มาจากการเมาทั้งสิ้น ดังนั้นอุบัติเหตุมันไม่ได้หยุดเลยถ้าเรายังไม่เริ่มป้องกันที่ตัวเราเอง
นอกจากนี้เรื่องอุบัติเหตุการเสียชีวิตเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ ในจำนวนผู้เสียชีวิต 300 คนที่เสียชีวิตทุกปีจะมีสิทธิเป็นเราก็ได้ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เมา ไม่ได้ขับรถเร็ว ขับรถถูกกฎทุกอย่าง แต่โอกาสตายก็เท่ากันหมด เพราะคนที่ออกไปท่องเที่ยวในช่วง 7 วันอันตรายต้องกลายเป็น 1 ในจำนวนผู้เสียชีวิต 300 คน แต่คนทั่วไปไม่เคยคิดถึงตรงนี้เลย ยังคงเชื่อว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับตัวเองก็แปลว่าดวงซวยมาก แต่ความจริงแล้วการเกิดอุบัติเหตุสามารถป้องกันได้ เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่ไม่สามารถป้องกันได้เต็มที่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนเรื่องอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น การสวมถุงยางป้องกันโรคเอดส์ ถ้าเราสวมก็ป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราไม่สวมก็จะติดเชื้อเอดส์ได้ ซึ่งเป็นการกระทำของเราทั้งสิ้น
สำหรับการป้องกันอุบัติเหตุไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าคนอื่นไม่ป้องกันยังคงดื่มเหล้าและขับรถเร็วอยู่ เราก็ยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ถ้าอยากรอดชีวิตได้ต้องขึ้นอยู่กับการเริ่มจากตัวเอง อย่างที่บอกว่าสามารถป้องกันได้ระดับหนึ่ง อีกส่วนที่เหลือคือหน่วยงานของรัฐหรือผู้มีอำนาจต้องออกมาปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดฝีมือ เพราะคนเรามักชอบฝ่าฝืนกฎเสมอ เชื่อว่าไม่มีใครอยากขับรถเร็ว แต่คิดว่าถ้าทำแล้วไม่มีใครมาว่าหรือจับกุมก็ทำแน่นอน เช่น คนที่ต้องรีบไปสนุกสนานหรือคนที่อยากจะเมา แต่ถ้ารู้ว่าเมาหรือขับรถเร็วแล้วถูกจับแน่ ๆ ก็จะไม่กล้าทำ
สุดท้ายการที่จะปลอดภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ขึ้นอยู่กับตัวเราครึ่งหนึ่งและอยู่ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอีกครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเราทุกคนปฏิบัติเหมือนกันหมดคือ เมาไม่ขับ ไม่ขับรถเร็ว ไม่ประมาท หรือเทศกาลปีใหม่นี้ไร้แอลกอฮอล์ก็จะยิ่งดี เพราะจะทำให้เราไม่ต้องสูญเสียคนที่เรารักและกลายเป็นเทศกาลแห่งความทุกข์
ข้อคิดเตือนใจจากผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน
นันทวัฒน์ โรจน์วรกุลนิธิ หรือ “จุ๊บ” วัย 32 ปี เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วในช่วงที่กำลังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ วิทยาเขตนนทบุรี คณะเครื่องกล เอกเทคโนโลยีเครื่องกล ว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เปิดเรียนใหม่ ๆ ด้วยความที่ไม่ได้พบปะเพื่อนฝูงนานจึงนัดกันไปเลี้ยงฉลองและพูดคุยเรื่องการทำจัดกิจกรรมรับน้องที่หอพักเพื่อนใกล้มหาวิทยาลัย ระหว่างพูดคุยซื้อเบียร์มาดื่มด้วย เมื่อเริ่มเมาก็ชักชวนกันออกไปเที่ยวต่อข้างนอก โดยผมซ้อนท้ายจักรยานยนต์เพื่อนออกไป
ระหว่างทางมีการพูดคุยหยอกล้อ คึกคะนองกันไปตามประสาคนเมา จู่ ๆ มีรถยนต์คันหนึ่งเปลี่ยนเลนเพื่อกลับรถแบบกะทันหัน ทำให้เพื่อนที่ขับมาด้วยความเร็วชนเข้าอย่างแรงจนผมหมดสติไป แต่เพื่อนที่ขับรถจักรยานยนต์ตามมาอีกคันเห็นว่าร่างของผมลอยข้ามเกาะกลางถนนไปตกอีกฝั่งหนึ่ง จากนั้นมีพลเมืองดีนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งผมไม่รู้สึกตัวเลยสลบไปนานถึง 1 เดือน โดยมีการปั๊มหัวใจช่วยชีวิต 2 ครั้ง เมื่อฟื้นขึ้นมาก็พบว่าขาด้านซ้ายตั้งแต่ใต้หัวเข่าลงมาขาด แขนซ้ายเป็นอัมพาต และทราบข่าวว่าเพื่อนที่เป็นคนขับรถเสียชีวิต ทำให้รู้สึกเสียใจและคิดว่าทำไมเหตุการณ์เลวร้ายจึงต้องมาเกิดที่เรา เหมือนกับโทษโชคชะตาตัวเองซึ่งโทษใครก็ไม่ได้ เพราะว่าเราเมาเองจะพูดกล่าวโทษใครก็ไม่ได้
หลังจากออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้าน ตลอดระยะเวลา 2 ปี มีคุณพ่อและคุณแม่คอยดูแลห่วงใย แต่ด้วยความที่เราเครียดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้คิดสั้นอยากฆ่าตัวตายถึง 2 ครั้ง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็มาพบและห้ามปราม พร้อมกับพูดจาให้กำลังใจและส่งไปอยู่ที่มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาคนพิการ เพื่อให้ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อน ๆ คนพิการคนอื่น ๆ โดยเฉพาะการได้เข้าไปรู้จักกับมูลนิธิเมาไม่ขับยิ่งทำให้รู้สึกว่ามีคนที่เขาแย่กว่าเราอีกตั้งมากมาย เรายังมีชีวิตอยู่ มีความรู้พอที่จะทำมาหากินและช่วยเหลือผู้อื่นได้ ปัจจุบันจึงทำงานเป็นเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ ซับพอร์ตอยู่ที่โรงพยาบาลยันฮี แต่ก็ยังคงมีเรื่องของสุขภาพที่เรื้อรังคอยกวนใจอยู่
ดังนั้นปีใหม่นี้จึงอยากให้ทุกคนเดินทางท่องเที่ยวและกลับบ้านเกิดกันอย่างปลอดภัยแล้วจึงค่อยดื่มเหล้า อย่าดื่มในช่วงที่กำลังเดินทาง และเมื่อดื่มเหล้าแล้วก็อย่าออกเดินทางไปไหน ให้ฉลองอยู่กับครอบครัว ถึงแม้ระยะทางใกล้ ๆ ก็ตามสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเวลา ซึ่งอุบัติเหตุไม่ได้เกิดจากกรรมแต่เกิดขึ้นได้เสมอถ้าหากว่าเราประมาท ยิ่งถ้าปีใหม่นี้ไม่มีแอลกอฮอล์ยิ่งดีแต่คงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเราดื่มแล้วก็ควรรับผิดชอบตัวเองอย่าให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือหากจำเป็นจะต้องเดินทางก็ขอให้คนไม่เมาขับไปส่งเพื่อลดอุบัติเหตุซึ่งเป็นสาเหตุของการคร่าชีวิตของคนที่เรารักไปอย่างไม่มีวันกลับ
“การป้องกันอุบัติเหตุไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าคนอื่นไม่ป้องกันยังคงดื่มเหล้าและขับรถเร็วอยู่ เราก็ยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ถ้าอยากรอดชีวิตได้ต้องขึ้นอยู่กับการเริ่มจากตัวเอง”
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์