เทคโนโลยีสร้างสุข ผู้สูงอายุ-คนพิการ
ในอดีตอาจเป็นเรื่องยาก ในการนำเทคโนโลยี มาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ เพราะติดขัดในเรื่องของทัศนคติที่ไม่ยอมรับ หรือยังขาดความรู้ความเข้าใจ และอาจรวมไปถึงไม่มีความรู้ความสามารถในการใช้งานอย่างแท้จริง
สำหรับวันนี้ไม่เหมือนในอดีตอีกแล้ว เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา และเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกภาคตะวันออก” เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาในชุมชน ซึ่งบริหารจัดการโดยชุมชน และได้มีการจัดตั้งศูนย์ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกด้วย
ดร.ภาณุพงษ์ วันจันทึก ผู้จัดการโครงการฯ เล่าว่า ทางศูนย์จะร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างน้อย 3 ฝ่าย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา สมาคมผู้พิการในส่วนต่างๆ ของจังหวัด รวมไปถึงกลุ่มคนที่ทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนแตกต่างกันออกไป แต่ทุกคนจะร่วมลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนจริงๆ
“กระบวนการทำงานจะมี 2 ส่วน คือ เริ่มต้นจากการสำรวจปัญหาของชุมชนและวางแผนร่วมกันถึงแนวทางในการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือชุมชน ตัวอย่างที่ภาคเหนือ ชุมชนวัดร่องขุน มีผู้สูงอายุ 17 % เป็นประเภทติดเตียง อยู่บ้านคนเดียว และมีความลำบากในการช่วยเหลือตัวเอง รวมถึงในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน ทางโครงการฯ จึงนำอุปกรณ์จากการคิดค้นของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) คือ รีโมทเปิดปิดสวิตซ์ไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าไปติดตั้งให้ ขั้นต่อมาคือ การพัฒนาเครือข่ายของช่างในชุมชน สอนช่างชุมชนตั้งแต่ขั้นวงจร การบัดกรี ซ่อม ติดตั้ง ตลอดจนการดูแลรักษา จนช่างในชุมชนสามารถดูแลระบบที่เรานำไปติดตั้งได้และเข้าใจในอุปกรณ์ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและได้ และเน้นการประสานเชื่อมโยงคนที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาในชุมชนให้มาทำงานร่วมกันได้”
ผู้จัดการโครงการฯ เล่าต่อว่า ทางศูนย์ใช้วิธีลงพื้นที่ให้ความรู้ การอธิบาย สาธิต เพื่อชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีจะสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก เมื่อโครงการนำอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเข้ามาให้พวกเขาได้ทดลองใช้ ก็พบว่าคนในชุมชนมีจินตนาการในการต่อยอดสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้เอง พวกเขารู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่าชุมชนจะสามารถพัฒนาและรักษามันต่อไป
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เน้นถึง กลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มหลัก คือ ผู้สูงอายุและผู้พิการโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากประชากรในกลุ่มนี้เมื่อมีอายุมากขึ้นจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และมักจะมีโรคภัยไข้เจ็บตามมา จึงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ส่วนกลุ่มคนพิการนั้นส่วนใหญ่พบว่า พวกเขามีศักยภาพสูงมาก เพียงแต่ขาดเครื่องไม้เครื่องมือบางอย่าง
“ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้นนี้เพื่อชดเชยจุดขาดตรงนั้น โดยมองว่า ถ้าผู้สูงอายุต้องอยู่บ้านคนเดียว ทำอย่างไรจึงจะอยู่อย่างปลอดภัย และผู้พิการจะมีอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ ฝึกอาชีพได้อย่างไรบ้างนั่นเอง” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนฯ ย้ำให้ฟังชัดๆ
อย่างไรก็ตามแนวโน้ม ผู้สูงอายุในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นมานั้น ถือว่ามีความพร้อมมากขึ้น เพราะเจเนเรชั่นนี้โตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก เพราะฉะนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้จึงไม่ใช้แค่การคิดค้นขึ้นใหม่ แต่สำคัญที่การทำสิ่งที่มีอยู่ให้ใช้งานง่ายขึ้น จนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันนั่นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า