เทคนิคดูแลผู้ป่วยติดเตียงไม่ยาก

ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์


เทคนิคดูแลผู้ป่วยติดเตียงไม่ยาก thaihealth


แฟ้มภาพ


ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่อเข้าสู่วัยนี้จะเริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพ หลายครอบครัวต้องพบกับปัญหาการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อออกจากโรงพยาบาล ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด หน้าที่เหล่านี้จึงเป็นของคนในครอบครัว บางครั้งอาจไม่เข้าใจวิธีการดูแลผู้ป่วยสูงวัยอย่างถูกวิธี จึงส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและตัวผู้ดูแลเอง


หน่วยบริการพยาบาลผู้ป่วยที่บ้าน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงริเริ่ม "โครงการพยาบาลเยี่ยมบ้าน" ขึ้น เพื่อติดตามให้คำแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วยและญาติที่บ้าน


นางสินีนุช ขำดี หัวหน้าหน่วยบริการพยาบาลผู้ป่วยที่บ้านฯ กล่าวว่า เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเยี่ยมผู้ป่วยที่กลับไปดูแลตนเองต่อที่บ้าน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยก่อนผู้ป่วยกลับบ้าน พยาบาลจะสอนและฝึกทักษะวิธีการดูแลต่างๆ ให้กับบุคคลในครอบครัว เช่น การให้อาหารทางสายยาง การทำแผล การดูดเสมหะ การให้ออกซิเจนที่บ้าน รวมทั้งการดูแลสุขอนามัยระบบขับถ่าย เป็นต้น


สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงเน้นทักษะการดูแลเรื่องความสะอาด ถูกต้องตามแผนการรักษา โดยเฉพาะการดูแลด้านสุขอนามัย เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ครอบครัวควรฝึกสังเกตพฤติกรรมผู้ป่วยว่าต้องการสิ่งใด เช่น รู้สึกเมื่อยต้องการพลิกตัว หิวน้ำหรือคันที่ผิวหนัง ต้องการทำความสะอาดแต่ทำเองไม่ได้ เป็นต้น


อย่างไรก็ดี "การใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่" กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงวัย โดยเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เนื่องจากสะดวก ลดภาระหรือความยุ่งยากในการทำความสะอาดสิ่งสกปรกจากการขับถ่าย แต่หากคนในครอบครัวใส่ไม่ถูกวิธี อาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สบายตัว และปัสสาวะรั่วซึม


ดังนั้น ครอบครัวจึงควรเลือกใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้เหมาะสมกับขนาดและกิจกรรมของผู้ป่วย เช่น อ่านฉลากขนาดผ้าอ้อมให้เหมาะกับรอบเอวของผู้ป่วย เลือกใช้ผ้าอ้อมแบบสวมให้กับผู้ป่วยเพื่อทำกิจกรรมฟื้นฟูร่างกาย หรือใช้แผ่นรองซับเสริมสำหรับปูเตียงในผู้ป่วยติดเตียง ปรับระดับการใส่ผ้าอ้อมให้กระชับ เพื่อความสบายตัว ไม่รั่วซึม


ที่สำคัญควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมทุก 4 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่ขับถ่าย ทำความสะอาดผิวหนังพร้อมซับผิวให้แห้ง เพื่อป้องกันการเกิดแผลบริเวณผิวหนังและไม่โรยแป้งเพื่อป้องกันการสะสมเชื้อโรคในบริเวณที่อับชื้นและจุดซ่อนเร้น หากมีผื่นหรือแผล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป เพื่อสุขอนามัยและสุขภาพจิตใจที่ดี

Shares:
QR Code :
QR Code